บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวแก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อาร์ ซี เอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL ขึ้นมาที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ จากระดับ ‘BBB(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ RCL มีปัจจัยสนับสนุนจาก ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าระดับที่ได้คาดการณ์ไว้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แผนการขยายกองเรือและแผนการลงทุนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในปี 2549 ถึง 2551 รวมถึงแนวโน้มอัตราการรับชำระหนี้คืน (Recovery Prospect) ของหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ดีขึ้น ความต้องการขนส่งสินค้าทางเรือที่แข็งแกร่ง และวัฏจักรของธุรกิจเดินเรือที่อยู่ในช่วงขาขึ้นในปี 2547 ถึง 2548 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ย้อนหลัง 12 เดือน (Net Debt/ LTM EBITDAR) ของ RCL ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากโดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.4 เท่า ในปี 2548 จาก 3.9 เท่า ในปี 2546 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.8 เท่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rates) ที่อ่อนตัวลง และเมื่อพิจารณารวมถึงต้นทุนค่าเช่าเรือ (Charter Expenses) อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (Adjusted Net Debt/ LTM EBITDAR) ของบริษัท ลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ระดับ 3.3 เท่า ในปี 2548 จากระดับ 5.6 เท่า ในปี 2546 และปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.6 เท่า ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2549 นอกจากนี้ แผนการลงทุนที่คาดว่าจะปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท ในช่วงสามปีข้างหน้า น่าจะทำให้อัตราส่วน Net Debt/ EBITDA ของบริษัทคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่า ในขณะที่อัตราส่วน Adjusted Net Debt/ EBITDAR น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 เท่า ถึง 4.0 เท่า ในปี 2550
ฟิทช์กล่าวว่าถึงแม้ RCL จะมีสัดส่วนหนี้สินที่มีหลักประกันต่อหนี้สินรวม อยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 75% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 แต่แนวโน้มอัตราการรับชำระหนี้คืนของหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยอัตราส่วนหนี้ที่มีหลักประกันต่อสินทรัพย์รวม (Secured Debt/ Total Capitalisation) ได้ทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 27% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 จาก 55% ณ สิ้นปี 2544 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินที่มีหลักประกันต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ย้อนหลัง 12 เดือน (Secured Debt/ LTM EBITDA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.4 เท่า ในปี 2548 และ 1.5 เท่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 จาก 4.2 เท่า ในปี 2544 และด้วยแผนการขยายกองเรือและแผนการลงทุนที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในอีกสามปีข้างหน้า ทำให้อัตราส่วน Secured Debt/ Total Capitalisation ของ RCL น่าจะอยู่ที่ประมาณ 25% ณ สิ้นปี 2549 และทยอยปรับลดลงหลังจากนั้น นอกจากนั้น อัตราส่วนมูลค่าตามบัญชีสุทธิของสินทรัพย์ถาวรต่อหนี้สินที่มีหลักประกัน (Net Book Value of Fixed Assets/ Secured Debt) ของ RCL ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.0 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 จาก 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2544 และเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่ห้ามนำเรือเดินทะเลบางส่วนไปก่อภาระผูกพันใหม่น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันได้ในระดับหนึ่ง
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริการขนส่งตู้สินค้าทางเรือในภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวางในภูมิภาคเอเชีย กองเรือขนาดใหญ่ที่มีอายุค่อนข้างน้อย และความถี่ของตารางการเดินเรือ RCL เป็นผู้นำตลาดในธุรกิจเดินเรือ Shipper Owned Container (SOC) ซึ่งเป็นบริการขนถ่ายสินค้าระหว่างเมืองท่าหลักและเมืองท่าย่อยให้กับสายเดินเรือสมุทร (Common Feeder Services) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่มากที่สุดในท่าเรือหลักของประเทศออสเตรเลีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามที่จะขยายธุรกิจโดยการเพิ่มเส้นทางเดินเรือสายใหม่ๆ ในปี 2548 RCL ได้เพิ่มสายการเดินเรือใหม่ 3 สาย ได้แก่ สายเชนไน-สิงคโปร์ สายกรุงเทพฯ-ญี่ปุ่น และสายเอเชีย-ภูมิภาคตะวันออกกลาง ถึงแม้ว่าปริมาณการขนส่งสินค้าและอัตราส่วนกำไรของธุรกิจ SOC จะผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก แต่การผสมผสานระหว่างธุรกิจ SOC และ Carrier Owned Container (COC) น่าจะช่วยลดทอนความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าทางเรือทั่วโลกได้บ้าง เนื่องจากธุรกิจ COC เป็นบริการขนส่งตู้สินค้าแบบประจำเส้นทางให้กับลูกค้าโดยตรงไปยังเมืองท่าสำคัญในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวม
ปัจจัยที่ลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของ RCL ได้แก่ ลักษณะที่เป็นวัฏจักรของธุรกิจเดินเรือ และความผันผวนของอัตราค่าระวางเรือ ฟิทช์คาดว่าอัตราค่าระวางเรือมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอีกในปี 2550 โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ เนื่องจากปริมาณเรือขนส่งตู้สินค้าใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ RCL ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากราคาน้ำมันและค่าเช่าเรือที่ยังคงสูงอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรจากการดำเนินงาน การควบรวมกิจการของผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจขนส่งตู้สินค้าทางทะเลที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ยังอาจนำไปสู่การตัดราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเองไว้ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการขนส่งตู้สินค้าทางเรือรายย่อย เช่น RCL อีกด้านหนึ่ง
ติดต่อ
โสมสิริ ชฎาวัฒน์ +662 655 4753, เลิศชัย กอเจริญรัตรกุล +662 655 4760, Vincent Milton +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน บริษัท อาร์ ซี เอล จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ให้ความร่วมมือในกระบวนการจัดอันดับเครดิตนอกเหนือไปจากการให้ข้อมูลที่เป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไป