โรงพยาบาลเอกชนปี 2550 : เร่งเสริมศักยภาพ…รองรับการแข่งขัน

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2550 คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มเติบโตทางด้านรายได้ทั้งในส่วนของคนไข้ในประเทศซึ่งได้รับผลดีจากกำลังซื้อของภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโต รวมทั้งการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพกับภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยในปีงบประมาณ 2550 ในขณะเดียวกัน ไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่คนไข้ชาวต่างชาติเลือกมารักษาพยาบาลด้วยปัจจัยหนุนทั้งจากราคาค่าบริการเมื่อเทียบกับคุณภาพที่สามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์ ส่งผลให้คาดว่าจำนวนคนไข้ต่างประเทศในปี 2550 จะมีทั้งสิ้นประมาณ 1.54 ล้านคนสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 41,000 ล้านบาทจำนวนคนไข้และรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งคาดว่าจะมีคนไข้ต่างประเทศเข้ามารักษาประมาณ 1.4 ล้านคนสร้างรายได้ประมาณ 36,400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 โรงพยาบาลเอกชนยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญซึ่งผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษได้แก่การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นระหว่างโรงพยาบาลเอกชนของไทยด้วยกันเอง และการแข่งขันกับโรงพยาบาลจากประเทศคู่แข่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งต่างเร่งพัฒนาปรับปรุงศักยภาพเพื่อแข่งขันและแย่งชิงคนไข้ต่างชาติเช่นเดียวกับไทย

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอันเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการได้พัฒนาอาคารสถานที่ตรวจรักษา อาคารที่พักผู้ป่วยเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับคนไข้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยส่งผลให้เกิดการขยายตัวของจำนวนคนไข้ทั้งในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ผลจากอัตราค่าใช้จ่ายของคนไข้เฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามประเภทของการรักษาพยาบาลที่คนไข้เข้ามาใช้มีความซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยรวมทั้งแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ การผ่าตัดหัวใจ ศัลยกรรมตกแต่ง การรักษาสายตาด้วยLASIK ประการสำคัญโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต่างเร่งขยายเครือข่ายสาขาทั้งในรูปของการซื้อกิจการหรือสร้างใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 14 แห่ง พบว่ารายได้จากค่ารักษาพยาบาลในช่วง 9 เดือนแรกปี 2549 อยู่ที่ประมาณ 30,934.6 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับทิศทางโรงพยาบาลเอกชนในปี 2550 มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ตลาดคนไข้ในประเทศ ถือเป็นฐานลูกค้าหลักของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงจะนิยมเข้าใช้บริการเนื่องจากคุณภาพมาตรฐานทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถรวมทั้งการมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยในปี 2550 คาดว่าจะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคประชาชนในระดับปานกลาง-สูง อาทิภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวส่งผลให้ประชาชนมีรายได้สูง ภาวะราคาน้ำมันที่เริ่มปรับลดลงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2550 นอกจากนี้ จากการที่ภาครัฐโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 เพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยจากเดิม 1,510.50 บาทต่อคนในปีงบประมาณ 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 1,899.69 บาทต่อคนในปีงบประมาณ 2550 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ(ในปีงบประมาณ 2549 มีโรงพยาบาลเอกชนร่วมโครงการ 60 แห่ง)

ตลาดคนไข้ต่างประเทศยังคงเติบโตต่อเนื่องด้วยปัจจัยหนุนหลักคืออัตราค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลคู่แข่งของต่างประเทศแต่คุณภาพการรักษาใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่นอัตราค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนในสิงคโปร์ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ค่ารักษาสายตาด้วยLASIK 1 ข้างอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ในขณะที่ค่าผ่าตัดคลอดอยู่ที่ประมาณ 190,000 บาทซึ่งเทียบกับอัตราค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงของไทยการรักษาสายตาโดยวิธีLASIK อยู่ที่ประมาณ 30,000-35,000 บาท ส่วนค่าผ่าตัดคลอดแบบเหมาจ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท และนอกจากอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าคู่แข่งแล้ว โรงพยาบาลเอกชนของไทยยังมีความได้เปรียบจากศักยภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องซึ่งช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนต่อธุรกิจอาทิ ธุรกิจทางด้านสปาและการแพทย์แผนไทยซึ่งสามารถนำมาใช้เสริมการรักษาคนไข้ควบคู่กันเพื่อให้คนไข้ได้รับความพึงพอใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันจากการที่ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยมของต่างชาติทำให้การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวร่วมไปกับการรักษาพยาบาลให้กับคนไข้และผู้ติดตามมีศักยภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้คาดว่าผลจากการเปิดใช้สนามบินแห่งใหม่ที่สามารถรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ด้านการเมืองที่คลี่คลายลงจะสนับสนุนให้ชาวต่างประเทศตัดสินใจเข้ารักษาพยาบาลควบคู่กับการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ประการสำคัญการที่ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนของไทยหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจคนไข้ต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้เสริมกับรายได้จากคนไข้ในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดการตื่นตัวในด้านการจัดกิจกรรมตลาดเพื่อเข้าถึงคนไข้ต่างชาติมากขึ้น อาทิ การรุกเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศต่างๆ หรือการออกไปจัดกิจกรรมงานเผยแพร่ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับบริการของโรงพยาบาลเอกชนไทยที่มีศักยภาพในประเทศเป้าหมาย ส่งผลให้รายได้ค่ารักษาพยาบาลจากคนไข้ชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายได้ 33,000 ล้านบาทในปี 2548 เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 36,400 ล้านบาทในปี 2549 และคาดว่าในปี 2550 จะมีคนไข้ต่างประเทศจะมีจำนวนประมาณ 1.54 ล้านคนสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 41,000 ล้านบาท

สำหรับตลาดคนไข้ต่างประเทศในปี 2550 ที่น่าสนใจนอกเหนือจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนร้อยละ 14.9 ร้อยละ 10.6 และร้อยละ 7.9 ของจำนวนคนไข้ต่างประเทศของไทย ที่สำคัญได้แก่ตลาดประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเนื่องจากมีกำลังซื้อสูง ในขณะเดียวกันการที่คนไข้จากตะวันออกกลางไม่ได้รับความสะดวกจากการเดินทางไปรักษายังประเทศในยุโรปและสหรัฐฯเพราะมาตรการเข้มงวดทางด้านการรักษาความปลอดภัย ส่งผลให้คนไข้กลุ่มนี้หันมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สูง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนของไทยหลายแห่งมีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้าใจภาษาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไข้จากตะวันออกกลางมากขึ้น ทำให้คนไข้จากตะวันออกกลางที่เข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยมีอัตราการขยายตัวที่สูงต่อเนื่อง ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนไข้จากตะวันออกกลางในปี 2546 อยู่ที่ 34,856 คนขยายตัวร้อยละ 73.5 มาในปี 2547 คนไข้จากตะวันออกกลางเพิ่มเป็น 71,051 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 104.7 และปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 98,451 คนขยายตัวร้อยละ 38.6

และนอกเหนือจากคนไข้ตะวันออกกลางแล้วคนไข้จากประเทศในกลุ่มอาเซียนก็นับเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับโรงพยาบาลเอกชนของไทยโดยเฉพาะการรองรับกลู่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงรวมทั้งชาวต่างชาติที่พักอาศัยและทำงานในประเทศเพื่อนบ้านของไทยในอินโดจีนทั้งพม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม เนื่องจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพการรักษาโรคซึ่งต้องอาศัยทักษะและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยของประเทศเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ฉะนั้นโรงพยาบาลเอกชนของไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบทางด้านค่ารักษาที่ไม่สูงรวมทั้งการเดินทางที่สะดวกจึงเข้ามารองรับคนไข้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากสถิติคนไข้ต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเอกชนของไทยในปี 2546 อยู่ที่ 36,708 คนก่อนที่จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 93,516 คนในปี 2547 ส่วนปี 2548 คนไข้จากอเซียนอยู่ที่ 74,178 คน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โรงพยาบาลเอกชนยังคงมีทิศทางเติบโตทั้งทางด้านจำนวนคนไข้ในประเทศและคนไข้ชาวต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อรายได้และผลการดำเนินงานที่เติบโตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญซึ่งผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ค่ารักษาพยาบาลปรับเพิ่มขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2550 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอันเกิดจากปัจจัยดังนี้

-ปัจจัยจากการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีการเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปรับปรุงด้านอาคารสถานที่และเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ให้มีความทันสมัยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและจูงใจให้คนไข้มาใช้บริการ โดยเฉพาะการปรับปรุงเพื่อรองรับคนไข้ชาวต่างชาติซึ่งโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต่างให้ความสนใจเนื่องจากมีกำลังซื้อรวมทั้งมีรายการค่ารักษาเฉลี่ยต่อคนสูงกว่าคนไข้ในประเทศ ในขณะเดียวกัน เพื่อสร้างการยอมรับทางด้านคุณภาพการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนยังได้มีการลงทุนทางด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลของคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบว่าในช่วงปี 2545-2547 อาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ 12 แห่งย้ายไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชนแล้วถึง 320 คนโดยให้ผลตอบแทนขั้นต่ำ 1-6 แสนบาท จากเดิมเงินเดือน 2-4 หมื่นบาท ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อต้นทุนดำเนินการของโรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนการบริหารและต้นทุนด้านการรักษาปรับเพิ่มขึ้น

-ปัจจัยจากเงินบาทแข็งค่า ผลจากการที่เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับจากค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 และคาดว่าจะมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 36.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550 ส่งผลให้ค่าบริการทางการแพทย์ของไทยคิดในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯสูงขึ้นในสายตาคนไข้ต่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของค่าเงินบาทดังกล่าวอยู่ในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะสิงคโปร์

การแข่งขันรุนแรง โรงพยาบาลเอกชนของไทยมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างโรงพยาบาลเอกชนในประเทศ รวมทั้งแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศที่สนใจคนไข้ต่างชาติเช่นเดียวกัน โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจะแข่งขันกันทั้งทางด้านอาคารสถานที่ เครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง การเพิ่มบริการให้กับญาติหรือผู้ติดตามคนไข้ต่างประเทศทางด้านที่พัก รวมทั้งการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวร่วมกับบริษัททัวร์ ร้านอาหาร ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่มีเครือข่ายสาขาหลายแห่งจะมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดกลางหรือผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายน้อยกว่า โดยเฉพาะความได้เปรียบจากการดึงบุคลากรทางการแพทย์ให้มาประจำโดยให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า รวมทั้งยังได้เปรียบทางด้านการสั่งซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์รวมทั้งยาและเวชภัณฑ์ภายใต้ต้นทุนที่ลดลง ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศคู่แข่งคือประเทศสิงคโปร์ได้หันมาเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทย อาทิ การปรับลดราคาค่ารักษาพยาบาลให้ต่ำลงมา การสนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสิงคโปร์มีมาตรฐานการรักษาและการให้บริการที่เป็นสากล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนของสิงคโปร์ได้รับความสนใจจากคนไข้ชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากข้อได้เปรียบทางด้านความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมทั้งทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศที่ดีของบุคลากรทางการแพทย์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยทางด้านต้นทุนดำเนินการที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถปรับขึ้นอัตราค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตในระดับที่คนไข้ในและต่างประเทศสามารถรับได้ ในขณะเดียวกันอัตราค่าบริการที่ปรับขึ้นก็ยังต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งอาทิ สิงคโปร์ นอกจากนี้ผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ต้นทุนการนำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ในรูปเงินบาทปรับลดลงและช่วยชดเชยต้นทุนด้านอื่นๆที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตคือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างสูงได้แก่ ปัญหาการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนไทยด้วยกันเองและการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนของประเทศคู่แข่ง ดังนั้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนของไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อื่นๆเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สูงขึ้นซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.เจาะตลาดลูกค้าที่มีศักยภาพปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนนอกจากจะมีการรักษาโรคทั่วไปแล้ว ยังเริ่มหันมาเน้นการรักษาโรคเฉพาะด้านเพื่อจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนที่น่าสนใจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงได้แก่ กลุ่มคนไข้ผู้สูงอายุซึ่งมีกำลังซื้อจากเงินเก็บสะสมรวมทั้งเงินสวัสดิการที่ภาครัฐจ่ายให้ ทั้งนี้จากรายงานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติหรือ UNFPA ระบุว่าประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปของไทยจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจากปัจจุบัน 6 ล้านคนเป็น 11.6 ล้านคน ซึ่งประชากรในกลุ่มนี้บางส่วนมีความสามารถที่จะเข้าไปใช้บริการด้านสุขภาพกับโรงพยาบาลเอกชนได้ ในขณะเดียวกันตลาดผู้สูงอายุชาวต่างชาติก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีทิศทางที่ดีเช่นกัน ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกพบว่าปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2547 จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปมีสูงถึง 24 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 19.5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และภายในปี 2557 ญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ความต้องการทางด้านบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับคนสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักสำหรับภาครัฐของญี่ปุ่นที่จะต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับคนหนุ่มสาวรวมทั้งคนสูงอายุ ดังนั้นที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นจึงนิยมเดินทางไปรักษาพยาบาลยังต่างประเทศโดยการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งไทยเองมีความพร้อมที่จะรองรับคนไข้ในกลุ่มนี้ได้ทั้งในด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญการรักษาโรคเฉพาะด้าน การดูแลเอาใจใส่ที่ดีเป็นต้น

2.การขยายตลาดสู่ภูมิภาค ตลาดโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันสูงโดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯซึ่งประชากรมีรายได้สูงกว่าในภูมิภาค รวมทั้งยังมีคนไข้ชาวต่างชาติมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในภูมิภาคหลายแห่งก็มีศักยภาพทางด้านการตลาดที่ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน อาทิพื้นที่จังหวัดที่เป็นชายแดนติดกับเพื่อนบ้านทั้งนี้เพื่อรองรับประชาชนที่มีรายได้สูง รวมทั้งชาวต่างประเทศที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่จะข้ามมารักษายังโรงพยาบาลเอกชนของไทยที่มีมาตรฐานการรักษาเป็นที่ยอมรับ ในขณะเดียวกันพื้นที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยอาทิ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ก็มีโอกาสทางด้านการตลาดไม่แพ้กัน

3.การหันไปลงทุนต่างประเทศ นอกเหนือจากการให้บริการรักษาพยาบาลคนไข้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยแล้ว ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพทางด้านเงินทุนและการบริหารจัดการควรพิจารณาเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนไข้โดยตรง ทั้งนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ด้านผลตอบแทนในประเทศนั้นๆแล้ว ยังสามารถพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องถึงธุรกิจในประเทศไทยได้อีกด้วยอาทิ การส่งต่อคนไข้จากสาขาต่างประเทศมาพักฟื้นควบคู่กับการท่องเที่ยวในไทย

4.การพัฒนาคน ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนนอกจากจะมีการดึงบุคลากรทางการแพทย์จากภาครัฐแล้ว ยังมีการดึงจากโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในขณะเดียวกันก็จะต้องหาหนทางป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ของตนเองถูกคู่แข่งแย่งไปด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนจูงใจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีค่อนข้างจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาลภาคเอกชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นโรงพยาบาลเอกชนเองก็ควรหันมาสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถนอกเหนือจากการดึงมาจากที่อื่นๆ อาทิ การเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายทางด้านการส่งแพทย์ในสังกัดไปอบรมหรือเพิ่มเติมความรู้จากต่างประเทศเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการแย่งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตรงกับความต้องการของคนไข้มากที่สุดซึ่งจะเป็นจุดเด่นที่ทำให้มีคนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว โรงพยาบาลเอกชนในปี 2550 ยังคงเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตทั้งทางด้านจำนวนรวมทั้งรายได้จากคนไข้ในประเทศและคนไข้ชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามผลจากการแข่งขันที่รุนแรง ผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจำเป็นต้องหาหนทางเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตนเองให้สูงขึ้น ซึ่งนอกจากการลงทุนทางด้านอาคารสถานที่ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย รวมทั้งการดึงแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากที่อื่นๆ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้กับผู้มาใช้บริการ ประการสำคัญคือการให้ความสำคัญกับคนไข้กลุ่มคนสูงอายุทั้งในและต่างประเทศซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางด้านกำลังซื้อที่สูง ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2550