บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี’50 : สินค้าใหม่ไม่หมู…มุ่งทำตลาดรสชาติยอดนิยม

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2550 คาดว่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 5-7 จากมูลค่าตลาดปี 2549 ที่ระดับ 11,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 8-10 เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับปัจจัยหนุนจากการแข่งขันฟุตบอลโลกรวมทั้งภาวะน้ำท่วมส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามบ้านเรือนเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน รวมทั้งใช้เป็นของบริจาคให้ผู้ประสบภัยมีเพิ่มขึ้น สำหรับกิจกรรมการรตลาดในปี 2550 นั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเน้นส่งเสริมการตลาดสำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมอาทิ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ และลดบทบาทจำนวนผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ๆที่แต่เดิมต้องพัฒนาออกมาหลายรสชาติในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพต่อการกระตุ้นยอดจำหน่ายสูงสุด ในขณะเดียวกัน ในปี 2550 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผู้ประกอบการพึงระวังคือปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะแป้งสาลีที่ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ราคามีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากปริมาณผลผลิตข้าวสาลีของโลกลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับแหล่งผลิตสำคัญทั้งในสหรัฐฯและออสเตรเลีย

กำลังซื้อของประชาชนในปี 2550 แม้ว่าจะได้รับผลดีจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยก็มีทิศทางปรับลดลงเช่นกัน ส่งผลดีต่อภาระค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าผ่อนบ้านและผ่อนรถที่ลดลง แต่ผลจากการที่กำลังซื้อของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วมที่รุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตลอดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มนี้ยังไม่ฟื้นตัวดีนักและจะยังต่อเนื่องไปสู่ช่วงไตรมาสแรกปี 2550 เพราะจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน ทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมที่เสียหายไป ในขณะเดียวกัน จากภาวะปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เริ่มมีความเสี่ยงจากปัญหาความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายหลังจากเหตุวินาศกรรมในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการดำเนินการของทางการในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่มีความเกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความเชื่อมั่นทางด้านการท่องเที่ยว การลงทุน ตลอดจนถึงการจ้างแรงงาน ส่งผลให้ประชาชนเริ่มหันมาประหยัดและเก็บเงิน รวมทั้งลดการรับประทานอาหารนอกบ้านลงเพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ ส่งผลให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นทางเลือกหนึ่งของการบริโภคที่มีต้นทุนต่ำซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2550 คาดว่าจะมีประมาณ 128,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2549 ซึ่งมีประมาณ 120,000 ตัน

ในส่วนของกลยุทธ์ทางการตลาดในปี 2550 นั้นมีข้อแตกต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบการมีความพยายามปรับปรุงและพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติใหม่ๆเพิ่มขึ้นเพื่อให้สินค้ามีความหลากหลายและใกล้เคียงกับรสชาติอาหารที่ประชาชนบริโภคในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้มีความหลากหลายและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน แต่สำหรับในปี 2550 นั้นคาดว่าการพัฒนารสชาติใหม่ๆจะถูกลดบทบาทลงเหลือเพียงการออกรสชาติใหม่ๆเท่าที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นตลาดและสร้างกระแสการรับรู้ของผู้บริโภค ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจำเป็นต้องใช้งบประมาณการตลาดอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้การหันไปทุ่มงบส่งเสริมการตลาดให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนอยู่แล้วอาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนไม่สูงมากนักเนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดมาอย่างต่อเนื่องทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ในขณะที่การพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติใหม่ๆออกมาจำเป็นต้องใช้งบประมาณทางการตลาดที่ค่อนข้างสูงเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและยอมรับสินค้าในช่วงแรกๆ ประการสำคัญคือการนำสินค้าใหม่ๆเข้าไปจำหน่ายยังช่องทางค้าปลีกต่างๆทำให้ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ในส่วนของทางผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ค้าส่งเองก็มีความจำเป็นต้องบริหารสต็อกสินค้าเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งมีจำกัด รวมทั้งคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนในปัจจุบัน ดังนั้นสินค้าที่ได้รับความนิยมซึ่งผู้บริโภคซื้อเป็นประจำจะถูกพิจารณานำเข้าไปจำหน่ายก่อน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีเพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกใหม่บางรสชาติที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่นิยมของตลาดในระยะยาว และมีอีกหลายรสชาติที่ต้องออกจากตลาดไปภายหลังจากที่ผู้ประกอบการลดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดลง

ในขณะที่ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชะลอการพัฒนารสชาติสินค้าใหม่ เพื่อนำงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านส่งเสริมการตลาดไปใช้ในส่วนที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ในส่วนของกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญคือการลด แลก แจก แถมสินค้า คาดว่าจะถูกเพิ่มบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดรายการชิงโชคของรางวัลซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและสามารถกระตุ้นยอดจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการแต่ละรายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนมีจำกัด ซึ่งที่ผ่านมาการจัดรายการชิงโชคในแต่ละปีจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันงบโฆษณาที่เคยใช้กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกับสินค้ารสชาติใหม่ๆจะถูกจัดสรรมาใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติที่เป็นที่นิยมในสัดส่วนที่สูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่เดิมและขยายส่วนแบ่งตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2550 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อตลาดและผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแรงงาน บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบคือแป้งสาลี ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญคิดเป็นร้อยละ 20-25 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ราคาตลาดโลกมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 อันเป็นผลจากภาวะความแล้งแล้งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีที่สำคัญของโลกอาทิ สหรัฐและออสเตรเลีย ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวสาลีของโลกปรับลดลงจากประมาณ 624.5 ล้านตันในปีการผลิต 2548/49 ลงมาเหลือเพียงประมาณ 591.8 ล้านตันในปีการผลิต 2549/50(FAO เดือนธันวาคม 2549) ประกอบกับการเติบโตของปริมาณความต้องการบริโภคแป้งสาลีของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีน ซึ่งเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างร้อนแรงทำให้ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลีมีเพิ่มขึ้นอาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง เบเกอรี่ เป็นต้น ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาจำหน่ายแป้งสาลีในปี 2550 ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยทางด้านของราคาแป้งสาลีที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนดำเนินการของผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีการแข่งขันทางด้านราคาที่ค่อนข้างรุนแรงทำให้การปรับขึ้นราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตทำได้ลำบาก ดังนั้นผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงจำเป็นต้องพยายามหากลยุทธ์อื่นๆเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของแต่ละบริษัท ซึ่งมีดังนี้

ลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีการปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมันที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและรวมกับต้นทุนวัตถุดิบคือแป้งสาลีที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาวิธีลดต้นทุนด้านอื่นๆชดเชย ทั้งนี้นอกจากจะต้องปรับปรุงเครื่องจักรและขั้นตอนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดการสูญเสียของสินค้าและวัตถุดิบระหว่างกระบวนการผลิตแล้ว ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปควรวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบและการสต็อกวัตถุดิบให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตรวมทั้งสอดคล้องกับราคาวัตถุดิบที่เคลื่อนไหวในแต่ละช่วง ประการสำคัญควรหันมานำเอาศักยภาพทางการตลาดที่มีไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะช่องทางการกระจายสินค้าผ่านร้านค้าต่างๆที่มีการพัฒนาจนแข็งแกร่งสามารถนำมาใช้เป็นช่องทางรับจัดส่งและจัดจำหน่ายให้กับสินค้าประเภทอื่นๆ ซึ่งวิธีการดังที่กล่าวจะช่วยให้แต่ละบริษัทสามารถตรึงราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ให้ปรับขึ้นในช่วงที่ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นได้

การสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าใหม่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองมีการแข่งขันที่รุนแรงจนส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจะปรับขึ้นราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตได้ อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเป็นผู้มีรายได้ในระดับล่างถึงปานกลางดังนั้นการปรับราคาสินค้าจึงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ฉะนั้นการขยายตลาดไปสู่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชามและแบบถ้วยที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจึงช่วยให้ผู้ผลิตมีรายได้มาชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองได้ ทั้งนี้แม้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชามและแบบถ้วยจะมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากรูปแบบสินค้าที่สอดคลองกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกด้านการบริโภค ส่งผลให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชามและแบบถ้วยมีอัตราการขยายตัวสูงมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี

กระจายตลาดส่งออก จากการที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการของไทยหันไปขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการใช้กำลังผลิตที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ลดลง ประกอบกับในปัจจุบัน ประชาชนทั่วโลกเริ่มให้ความนิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากเป็นอาหารที่ปรุงสะดวกมีราคาไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ ทั้งนี้ตลาดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยกระจายไปทั้งในตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศในเอเชียอาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญกับตลาดประเทศในเอเชียซึ่งมีการขยายตัวทางด้านจำนวนประชากรและเศรษฐกิจทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การที่เงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าคู่แข่งทั้งจีน อินโดนีเซียและเวียดนาม ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย แต่จากการที่ผู้ประกอบการของไทยได้เน้นพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตที่ทันสมัยเพื่อให้ลูกค้าต่างประเทศมั่นใจคุณภาพสินค้า ส่งผลให้ลูกค้ามีการยอมรับและสั่งซื้อสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 25,000 ตันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกในปี 2549 ที่มีประมาณ 23,000 ตัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2550 ยังคงเติบโตท่ามกลางกำลังซื้อของภาคประชาชนที่มีการชะลอการใช้จ่ายเนื่องจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจที่เริ่มมีปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆเข้ามา อย่างไรก็ตาม จากภาวะการแข่งขันของตลาดที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะแป้งสาลีที่เป็นวัตถุดิบสำคัญราคามีการปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากแต่ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการปรับราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการหาหนทางลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ตลอดรวมทั้งการพัฒนาสินค้าทั้งทางด้านคุณภาพและรสชาติของสินค้าเพื่อสร้างความแตกต่างของสินค้าระหว่างคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการยังคงฐานะผลการดำเนินงานที่ดี รวมทั้งสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมที่มีและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดใหม่ๆมากขึ้น