ความนิยมในการสะสมพระเครื่องในปี 2550 ยังคงเฟื่องฟูต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2549 คือ พระเก่ายังคงหายากมากขึ้น โดยกระแสความนิยมในพระเครื่องที่สร้างใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยผู้สร้างและแผงพระต่างๆพุ่งไปที่พระชุด “จตุคาม-รามเทพ” เป็นส่วนใหญ่ ทำให้แผงพระต่างๆปรับกลยุทธ์หันมาวางโชว์พระชุด “จตุคาม-รามเทพ” ส่วนพระสร้างใหม่อื่นๆก็แผ่วลงไปตาม โดยในปัจจุบันความนิยมพระชุด “จตุคาม-รามเทพ”มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์
ในปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 กระแสความนิยมพระเครื่องชุด “จตุคาม-รามเทพ” พุ่งแรงแซงหน้าพระเครื่องอื่นๆอย่างมาก โดยได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้ค้าเกือบทุกแผงต้องมีการปรับตัวโดยการนำพระชุด“จตุคาม-รามเทพ”มาวางแผงกันมากกว่าแต่ก่อน รวมทั้งเกิดแผงรับจอง-รับเช่าพระชุด“จตุคาม-รามเทพ”ขึ้นอย่างมากมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชและพระนครศรีอยุธยา จากกระแสความนิยมพระเครื่องชุด “จตุคาม-รามเทพ”อย่างกว้างขวางนี้ทำให้ธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาทในปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าเม็ดเงินในธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในปี 2550 นี้สูงกว่า 22,000 ล้านบาท และธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากที่อัตราการขยายตัวของธุรกิจนี้จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะยังมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ10-20 ต่อปี และคาดว่าผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิยมพระเก่าหรือพระใหม่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน
ธุรกิจพระเครื่องนั้นมีเม็ดเงินหมุนเวียนในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล โดยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสร้างพระ ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่อง ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจรับจำนำพระเครื่อง และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจหนังสือพระ ธุรกิจรับจ้างอัดกรอบพระหรือเลี่ยมพระ เป็นต้น อย่างไรก็ตามความนิยมในพระเครื่องชุด“จตุคาม-รามเทพ” ในปัจจุบัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ทำให้มีนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพระเครื่องมีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามธุรกิจเหล่านี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1.การจัดสร้างพระเครื่อง ในกระบวนการสร้างพระเครื่องนั้นต้นทุนการผลิตแตกต่างกันขึ้นอยู่วัสดุมวลสาร ปริมาณการสร้างแต่ละครั้ง วิธีการสร้าง ขนาดของพระเครื่องที่จะสร้าง การประกอบพิธีพุทธาภิเษก และการโฆษณาประชาสัมพันธ์การสร้างพระเครื่องในแต่ละรุ่น กล่าวคือ การสร้างพระเครื่องนั้นจะแยกเป็นเนื้อผง และเนื้อโลหะ อย่างไรก็ตามจะสังเกตเห็นได้ว่าต้นทุนในการสร้างพระนั้นไม่ได้สูง แต่เมื่อเทียบกับราคาพระเครื่องในท้องตลาดแล้วแตกต่างกันอย่างมากกล่าวคือ พระเครื่องเนื้อทองแดงสำหรับปรกใบมะขามราคาสูงถึง 20-30 บาทต่อองค์ เนื้อนวโลหะราคาสูงกว่า 100 บาทต่อองค์ เนื้อเงิน 200-300 บาทต่อองค์ เนื้อทองคำราคา 3,000-3,500 บาทต่อองค์(น้ำหนักทองคำประมาณ 2 กรัมต่อองค์ ซึ่งคิดราคาทองที่บาทละ 7,900 บาท โดยทองคำ 1 บาท น้ำหนัก 15.2 กรัม) พระเครื่องที่เป็นเหรียญราคา 50 บาทขึ้นไป พระเครื่องที่หล่อเทคนิคเก่าราคา 2,000-3,000 บาทขึ้นไป ส่วนที่หล่อแบบเทคนิคใหม่ราคา 1,500-2,000 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาดังกล่าวนี้เป็นราคาทั่วๆไป ยังไม่ได้คิดว่าถ้าพระเครื่องรุ่นนั้นเกิดเป็นที่นิยมราคาจะถีบตัวขึ้นอีกหลายเท่าตัว ดังนั้นธุรกิจรับสร้างพระนั้นนับว่าเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล
อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายของธุรกิจสร้างพระนั้นต้นทุนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนค่าสร้างพระเท่านั้น ค่าใช้จ่ายส่วนที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบพิธีที่จัด ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้นับเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หรือกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งโดยปกติในการสร้างพระเครื่องแต่ละครั้งจะมีการตั้งงบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ประมาณ 300,000-400,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีวิธีการจ่ายใน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ จ่ายเป็นเงิน หรือจ่ายเป็นพระเครื่อง ซึ่งในกรณีที่จ่ายเป็นพระเครื่องนั้นจะมีการคิดราคาพระเครื่องครึ่งราคาของราคาที่ให้เช่า วิธีนี้เป็นที่นิยมมากเนื่องจากผู้ที่ให้เนื้อที่โฆษณานั้นได้กำไรมากกว่า
ในการจัดสร้างพระชุด “จตุคาม-รามเทพ”ผู้จัดสร้างจะต้องทำพิธีบวงสรวงองค์พระจตุคาม-รามเทพ ณ ที่ท่านสถิตย์อยู่ ซึ่งได้แก่ ภายในเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในวัดพระมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช และบริเวณศาลหลักเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหลัก (จะก่อนหรือหลังพุทธาภิเษกก็ได้) รวมทั้งต้องมีการทำพิธีพุทธาภิเษก ณ บริเวณที่จัดสร้างอีกครั้งหนึ่งด้วย ดังนั้น วัดต่างๆที่อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงมีการจัดสร้างพระชุด“จตุคาม-รามเทพ” ออกมาอย่างมากมาย และจองคิวในการบวงสรวงองค์“จตุคาม-รามเทพ”ทั้ง 2 แห่งยาวจนถึงกลางปี 2550 (การสร้างประมาณ 50 รุ่น)
2.ธุรกิจแผงพระ ปัจจุบันแผงพระและศูนย์พระเครื่องในประเทศมีอยู่ถึงกว่า 5,000 แผงทั่วประเทศ โดยอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 3,000 แผง ทั้งนี้เป็นแหล่งที่เป็นที่รู้จักได้แก่ ศูนย์พระเครื่องที่ท่าพระจันทร์ วัดราชนัดดา สวนจตุจักร ศูนย์พระเครื่องที่เดอะมอลล์ท่าพระ ศูนย์พระเครื่องที่เดอะมอลล์บางกะปิ ห้างน้อมจิตต์ สาขาบางกะปิ ห้างบางลำภูสรรพสินค้าสาขางามวงศ์วาน เป็นต้น ในอนาคตคาดว่าแผงพระมีแนวโน้มจะลดลง โดยจะมีการเข้าไปให้เช่าพระเครื่องกันในอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนากล้องดิจิตอลให้มีความคมชัดได้เกือบเท่ากับกล้องฟิล์ม วงการพระเครื่องก็คงจะมีการพัฒนากันมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ธุรกิจการตั้งศูนย์พระเครื่องหรือแผงพระในต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น รวมไปถึงประเทศทั้งในเอเชียเอง โดยเฉพาะไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ในยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในแหล่งที่เป็นชุมชนของคนเอเชียที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ ปัจจุบันธุรกิจศูนย์พระเครื่องหรือแผงพระยังกระจายตัวไปยังตลาดประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ที่มีแผงพระอยู่กว่า 300 แผง มาเลเซียมีแผงพระอยู่เกือบทุกรัฐ โดยแต่ละรัฐจะมีแผงพระ 2-3 แผงเป็นอย่างน้อย เป็นต้น ธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการรับจองพระและให้เช่าบูชาพระเครื่องและวัตถุมงคลของเกจิอาจารย์ต่างๆในเมืองไทย รวมทั้งอุปกรณ์การสะสมพระเครื่องต่างๆ โดยมาเช่าบูชาหรือซื้อหาอุปกรณ์เหล่านี้ไปจากเมืองไทย ส่วนมากมักจะรวบรวมใบสั่งจำนวนหนึ่งแล้วจะเดินทางมาทำการซื้อหาในเมืองไทย และส่วนมากในการเดินทางมามักจะมีการติดต่อผ่านล่ามในเมืองไทยมาก่อนล่วงหน้า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการศูนย์แต่ละแห่งจะเดินทางมาประเทศไทยประมาณเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย ในแต่ละครั้งมักจะเข้ามาพักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2-3 วัน ซึ่งก็นับส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยด้วย
3.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ การจัดพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ
โปสเตอร์และแผ่นพับ ในสมัยก่อนที่พระเครื่องชุด“จตุคาม-รามเทพ”จะเป็นที่นิยมเช่นในปัจจุบันคณะผู้จัดสร้างจะต้องจัดพิมพ์โปสเตอร์และแผ่นพับแจกจ่ายไปตามศูนย์รับจองพระต่างๆเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่นิยมสะสมพระเครื่องได้รับทราบว่าในการจัดสร้างพระเครื่องชุดนี้ มีชื่อรุ่นว่ารุ่นอะไร มีการสร้างกี่เนื้อ จำนวนการสร้างเท่าใด ราคาค่าบูชาเท่าใด มีวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเป็นอย่างไร แต่ในปัจจุบันพระเครื่องชุด“จตุคาม-รามเทพ”ได้รับความนิยมอย่างมาก กอปรกับความเจริญในด้านสื่อสาร คณะผู้จัดสร้างบางกลุ่มจึงมีการตัดรายจ่ายทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ลงบางส่วน โดยนำไปลงโฆษณาในเว็บไซด์แทน
หนังสือพระและเว็บไซด์พระเครื่อง หนังสือพระที่มีจำหน่ายในปัจจุบันประมาณ 40 ฉบับ โดยหนังสือพระเหล่านี้อยู่ได้ด้วยโฆษณาต่างๆเกี่ยวกับพระเครื่อง ซึ่งจากการสอบถามบรรดาผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องแล้วปรากฏว่าหนังสือพระนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังสือพระที่จะมีการนำเสนอราคากลางหรือราคาตลาดของพระเครื่องแต่ละรุ่น ซึ่งนิยมเรียกกันในหมู่นักเลงพระว่า หั่งเช้งพระเครื่อง โดยยอดจำหน่ายหนังสือพระเครื่องประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ธุรกิจรับจำนำพระเครื่องเฟื่องฟู หนังสือพระอีกประเภทหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับวิชาการด้านพระเครื่องโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของผู้นิยมอ่านหนังสือพระเครื่องในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเริ่มที่จะหันไปซื้อหนังสือพระมือสอง หรือหนังสือพระเล่มเก่าๆ เนื่องจากยังสามารถอ่านไว้ประดับความรู้ได้โดยข้อมูลยังไม่ล้าสมัย นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่องทางเว็บไซด์ต่างๆ(ซึ่งบางเว็บไซด์นำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ) อีกทางหนึ่งด้วย การที่มีเว็บไซด์เกี่ยวกับพระเครื่องนี้ทำให้ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวของพระเครื่อง/วัตถุมงคล รวมทั้งชีวประวัติของบรรดาเกจิอาจารย์ดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นฐานข้อมูลในการค้นคว้าอ้างอิงเป็นอย่างดีของผู้ที่สนใจทางด้านนี้
ปัจจุบันมีการพิมพ์รวมเล่มพระเครื่องในชุด“จตุคาม-รามเทพ” แบบหนังสือเฉพาะกิจออกมาหลายเล่มเพื่อเป็นการสนองตอบกับผู้ที่ต้องการศึกษาพระเครื่องชุดนี้ออกมาหลายสำนักพิมพ์ หลายฉบับด้วยกัน รวมทั้งหนังสือพระเครื่องต่างๆก็หันมาเขียนเรื่องราวขององค์จตุคาม-รามเทพกันมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจหนังสือพระเพิ่มขึ้นได้แก่ ธุรกิจทำกรอบพระ(ราคาจำหน่ายกรอบละ 50-200 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำกรอบและขนาดของพระเครื่อง) เลี่ยมพระ(ราคาประมาณองค์ละ 100-150 บาท)
ในช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ธุรกิจรับถ่ายภาพพระเครื่องเริ่มเฟื่องฟู มีผู้รับถ่ายภาพพระเครื่องกระจายอยู่ตามศูนย์พระเครื่องต่างๆทั่วประเทศ ค่าบริการขึ้นกับชื่อเสียงของช่างภาพและสถานที่เป็นหลัก (ราคาอยู่ในระหว่าง 40-50 บาทต่อภาพ) ภาพถ่ายพระเครื่องนั้นมีการนำไปใช้งานหลายด้านคือ ใช้ในการนำเสนอ โดยใช้เป็นภาพประกอบบทความ ใช้ประกอบในการเสนอให้เช่า(ขาย)พระเครื่อง ใช้ประกอบการขอรับใบรับรองว่าพระเครื่ององค์นั้นแท้หรือไม่ ใช้ประกอบใบประกาศของงานประกวดพระเครื่อง-พระบูชา และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในกรณีที่พระเครื่ององค์นั้นถูกโจรกรรม เนื่องจากพระเครื่อง-พระบูชาแต่ละองค์นั้นมักจะมีตำหนิที่แตกต่างกันพอที่ให้ผู้ชำนาญแยกแยะได้
ธุรกิจการจัดประกวดพระนับว่าเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการจัดประกวดพระเครื่องนั้นมีการจัดเพียงเดือนละครั้ง แต่ในปัจจุบันมีการจัดกันแทบทุกอาทิตย์ และมีการพัฒนาโดยมีธุรกิจต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง จำนวนรายการพระเครื่องที่เข้าประกวดก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักพัน จากที่เคยมีการส่งเข้าประกวดเพียง 20-30 รายการเท่านั้น
นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่องและอยู่ควบคู่กับวงการพระเครื่องมานานแล้ว คือ อุปกรณ์การสะสม เช่น ตลับใส่พระ สร้อยคอ แหนบแขวนพระ กล่องใส่พระ รวมทั้งร้านทองรูปพรรณต่างๆที่รับเลี่ยมพระ ทั้งพลาสติกกันน้ำและกรอบทองคำ และจำหน่ายกรอบพระ ตลอดจนร้านจำหน่ายเครื่องเงินที่รับทำกรอบพระและตลับใส่พระเครื่อง แม้แต่ช่างไม้ที่รับทำฐานรองพระบูชา ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่อง และมีแนวโน้มเติบโตควบคู่กับไปธุรกิจพระเครื่องด้วยเช่นกัน อาชีพที่คาดว่าจะยังคงเฟื่องฟูในวงการพระเครื่องขึ้นอย่างมากคือ“คนเดินพระ” ซึ่งเป็นผู้ติดต่อหรือตัวกลางระหว่างวัด หรือผู้สร้างกับแผงพระ โดยจะเป็นคนนำเอกสารต่างๆไปฝากให้ศูนย์พระต่างๆรับจองพระเครื่องรุ่นนั้นเมื่อถึงเวลาปิดยอดจองก็จะเดินเก็บยอดสั่งจองพระพร้อมกับเงินค่าจองพระไปส่งวัดหรือผู้จัดสร้าง (หักค่าใช้จ่ายให้แผงพระประมาณร้อยละ 5-15 ของยอดจอง) เมื่อถึงเวลาที่พระสร้างเสร็จก็นำส่งให้กับศูนย์พระ คนเดินพระจะได้ค่าเดินหรือค่าติดต่อจากผู้สร้างเป็นสัดส่วนกับยอดจองที่รับมา โดยสัดส่วนนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างคนเดินพระกับผู้วัดหรือผู้จัดสร้าง(ไม่เกินร้อยละ 3 ของยอดจอง)
การเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองของการสร้างองค์“จตุคาม-รามเทพ” ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อวงการพระเครื่องในประเทศไทย คือ แนวคิดการจำกัดจำนวนการสร้าง ในปี 2549 มีการจัดสร้างพระเครื่องชุด “จตุคาม-รามเทพ”เป็นจำนวนมาก และในปี 2550 คาดว่าจะมีการจัดสร้างอีกประมาณ 100 รายการ โดยเกือบทุกรุ่นมีผู้สนใจสั่งจองจำนวนมาก เรียกได้ว่าใบจองถูกขายหมดตั้งแต่ยังไม่เททองหล่อพระด้วยซ้ำไป โดยกลุ่มที่เล่นมีทั้งนักเลงพระหน้าใหม่และกลุ่มที่ต้องการเก็งกำไรในอนาคต ดังนั้นคณะกรรมการวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารและศาลหลักเมือง จังหวัดนครราชสีมา มองว่าการจัดสร้างพระชุด“จตุคาม-รามเทพ”ในปัจจุบันเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น จึงมีแนวคิดว่าในปี 2551 คงจะอนุญาตให้มีการจัดพิธีบวงสรวงองค์“จตุคาม-รามเทพ”ให้น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดจำนวนการสร้างพระเครื่องชุด“จตุคาม-รามเทพ”
ธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนับว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามอง โดยคาดว่าในปี 2550 วงการพระเครื่องยังคงมีแนวโน้มคึกคักอย่างต่อเนื่องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ปัจจัยหนุนสำคัญคือ ความนิยมในพระเครื่องชุด“จตุคาม-รามเทพ”ที่ทำให้มีการสร้างพระเครื่องชุดนี้มากมายหลายรุ่นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน บรรดาแผงพระต่างปรับกลยุทธ์หันมาวางโชว์พระ“จตุคาม-รามเทพ” รวมทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่มีนักลงทุนชาวต่างประเทศหันมาสนใจเช่าพระเครื่องและวัตถุมงคลจากไทยเพื่อนำไปให้เช่าต่อสำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่องและวัตถุมงคลของไทยในต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจพระเครื่องและหลากธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีเม็ดเงินหมุนเวียนคล่องตัวมากขึ้นบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าเม็ดเงินในธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในปี 2550 นี้สูงถึงกว่า 22,000 ล้านบาท และธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องสวนกับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดว่าจะยังมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 10-20 ต่อปี
ประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากคือ การสร้างพระเครื่องชุด“จตุคาม-รามเทพ”อย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการพระเครื่องในประเทศไทย โดยเฉพาะแนวคิดการจำกัดจำนวนการสร้างพระเครื่อง จากการควบคุมการอนุญาตจัดพิธีบวงสรวง และจำกัดจำนวนการสร้างพระเครื่องในแต่ละครั้ง ซึ่งถ้ามีการปฏิบัติจริงก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตพระเครื่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาเช่าบูชาในตลาดพระเครื่องปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย