ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ เผยแผนปี 50 เดินหน้าปรับกลยุทธ์การตลาดครบวงจร พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากลูกค้า ล่าสุดเปิดตัวหนังสือ “ บ้านคู่บารมี ” รวมสุดยอดผลงานมีมูลค่ารวมกันกว่าพันล้านบาทเจาะกลุ่มลูกค้าระดับสูง ชี้ภาวะตลาดสร้างบ้านระดับหรูยังสดใส ขณะที่ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปีนี้มีแนวโน้มอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7% คิดเป็นมูลค่ายอดขายรวมกว่า 8,000 ล้านบาท
นายสุรัตน์ชัย กึงฮะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็มเพอเร่อร์ เฮ้าส์ จำกัด ผู้นำตลาดรับสร้างบ้านระดับพรีเมี่ยมหรือบ้านระดับบน เปิดเผยถึง ทิศทางและแผนการดำเนินงานของบริษัทฯในปี 2550 ว่า ได้มีการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ด้านการตลาดเชิงรุกมากขึ้น เพื่อรักษาฐานเดิมของลูกค้า โดยล่าสุดได้หันมารับงานตกแต่งภายในให้กับกลุ่มโรงแรมและคอนโดมีเนียมระดับสูง และยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ต่างประเทศ ตลอดจนมีการวิเคราะห์หาโปรดักส์ใหม่เพื่อให้เข้าหากลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น รวมทั้งยังคงมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยการทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ล่าสุดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเป็นการตอกย้ำแบรนด์ โดยหวังผลเพื่อเจาะให้ถึงตัวผู้บริโภคโดยตรงบริษัทฯได้เปิดตัวหนังสือ “ The House of The Emperor ” หรือ ” บ้านคู่บารมี ” เป็นหนังสือรวบรวมสุดยอดผลงานคุณภาพ ที่ดำเนินการก่อสร้างและตกแต่งภายในโดยบริษัทฯ และมีความงดงามและทรงคุณค่าทั้งงานสถาปัตยกรรมภายนอกและภายในที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเป็นภาพถ่ายจากสถานที่จริงทั้งหมด 13 หลัง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนงานในส่วนของการบริการหลังการขายที่ครบวงจรมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับผลประกอบการในปี 2549 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้รวมมูลค่าประมาณ 227 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากงานออกแบบก่อสร้างบ้าน 135 ล้านบาท รายได้จากงานอินทีเรีย 92 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60 : 40 อย่างไรก็ดีในปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ของงานสร้างบ้านน่าจะสูงขึ้น คือ ประมาณ 180 ล้านบาท
“ ในส่วนของแผนการตลาดหลักๆ ในปีนี้ บริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องของความเชื่อมั่นต่อลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะการนำสุดยอดผลงานของบริษัทฯ ที่ผ่านมานำเสนอต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น ดังนั้นบริษัทฯจึงได้จัดทำหนังสือ “บ้านคู่บารมี” ขึ้นมา ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ในการนำเสนอผลงานการสร้างบ้านที่เหนือคุณภาพมาตรฐาน จำนวน 13 หลัง นำเสนอภาพบรรยากาศอย่างละเอียด มีการจัดทำในลักษณะ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีมาตรฐานการพิมพ์เทียบเท่าหนังสือต่างประเทศบรรจุในกล่องอย่างดี ซึ่งบริษัทฯมั่นใจในความเชี่ยวชาญและความเป็นมือหนึ่งในการสร้างบ้านเหนือระดับของทีมงานของเรา ทำให้เกิดการรวบรวมเป็นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และนอกจากนี้ยังเป็นสื่อเพื่อให้ลูกค้าเห็นถึงผลงานที่ผ่านมาของบริษัท ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีการตัดสินใจที่จะสร้างบ้านกับบริษัทเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ” นายสุรัตน์ชัย กล่าว
นายสุรัตน์ชัย กล่าวต่อถึง สถานการณ์ของตลาดรับสร้างบ้านระดับหรูหรือระดับพรีเมี่ยมนั้น พบว่ายังมีความต้องการในตลาดในระดับที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดรวม ประกอบกับมีปัจจัยบวกที่ส่งผลให้กลุ่มลูกค้ามีการตัดสินใจสร้างบ้านเองเพื่ออยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่มีผลต่อการตัดสินใจการสร้างบ้านระดับสูงของผู้บริโภคมากนัก รวมทั้งแนวโน้มของราคาวัสดุก่อสร้างที่มีราคาสูงขึ้น และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจลงทุนเพื่อสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยมากขึ้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจยังคงเป็นเรื่องของปัจจัยลบต่าง ๆทางด้านธุรกิจและการเมืองทำให้ลูกค้าลังเลไม่ตัดสินใจ รวมถึงลูกค้าในส่วนที่ไม่ได้ใช้เงินตัวเองในการสร้างบ้านอาจจะหายไปจากตลาดเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ
นอกจานี้บริษัทฯ ประเมินสถานการณ์ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2550 ยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 7 % โดยคิดจากมูลค่ายอดขายรวม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,050 ล้านบาท จากยอดขายประมาณการของปี 2549 ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ 7,520 ล้านบาท มูลค่าตลาดรวมที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจในการสร้างบ้านเองกับบริษัทรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้ผู้บริโภคได้ให้การยอมรับในคุณภาพ และการให้บริการของบริษัทรับสร้างบ้าน ความมั่นคงทางด้านการเงิน รวมถึงการเข้ามาสู่ตลาดบ้านสร้างเองของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งในส่วนของบริษัทรับสร้างบ้านเองก็มีการขยายตัวในส่วนของบริษัทในเครือเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น และยังมีการรวมตัวกันเป็นพันธมิตร รวมถึงการสร้างบ้านให้กับโครงการบ้านจัดสรร แต่ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นผู้ประกอบการเองต้องเน้นคุณภาพและการบริการมากขึ้น ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจรับสร้างบ้านโดยรวม ประกอบด้วย ความไม่แน่นอนของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังคงไม่ชัดเจน ธุรกิจการส่งออกชะลอตัว มีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแทน รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะยาวที่ยังไม่ลงตัวอย่างชัดเจนอีกด้วย