ในปี 2549 ที่ผ่านมามีแรงงานไทยเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศเป็นจำนวนถึง 160,846 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 15.2 โดยจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่จะมุ่งไปยังประเทศที่มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงและประเทศขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก
ประเทศสิงคโปร์ ถือได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งของแรงงานไทยที่น่าจับตามอง เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2540-2549) มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์มากกว่าปีละ 1 หมื่นคน
นอกจากนั้นในปี 2549 ยังมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์เป็นจำนวนมากถึง 15,115 คน ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางออกไปทำงานทั่วโลก รองจากประเทศเกาหลีใต้ ที่แรงงานไทยเดินทางไปมากเป็นอันดับที่ 2 และไต้หวันที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากเป็นอันดับที่ 1 ตามลำดับ
สำหรับสาเหตุที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์เป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีประชากรน้อย แต่เศรษฐกิจขยายตัวสูง ขณะเดียวกันประเทศสิงคโปร์ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น การก่อสร้างสถานกาสิโนหรู การก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ และการก่อสร้างคอนโดมิเนียม เป็นต้น ส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานภายในประเทศเป็นอย่างมาก จนรัฐบาลสิงคโปร์ต้องมีนโยบายนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
โดยช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ. 2540-2549) จำนวนแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศสิงคโปร์คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 30.3 ของการจ้างงาน(Employment) ทั้งหมด ขณะที่แรงงานชาวสิงคโปร์มีสัดส่วนในการทำงานประมาณร้อยละ 69.7 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ผลจากการที่แรงงานต่างด้าวเข้าไปมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์อย่างมาก รัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องมีการแถลงนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวต่อรัฐสภาเป็นประจำเกือบทุกปี เช่นเดียวกับการแถลงงบประมาณประจำปี 2550 (Budget Statement 2007) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้ประกาศนโยบายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าวใหม่ โดยจะมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ (Unskilled Workers) ขณะเดียวกันก็จะลดค่าธรรมเนียมสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานภายในบ้าน (Foreign Domestic Workers) เนื่องจากชาวสิงคโปร์ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวประเภทนี้เป็นจำนวนมาก
แรงงานไทย : ทำทั้งไร้ฝีมือและมีฝีมือ
เฉพาะในปี 2549 ที่ผ่านมา แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์มีจำนวน 15,115 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 28.3 ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในประเทศสิงคโปร์ ที่มีจำนวนมากถึง 756,300 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 12.6
ปัจจุบันจะพบได้ว่าแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ไม่ได้มีเฉพาะกรรมกรก่อสร้างหรือแรงงานที่ไม่มีฝีมือ (Unskilled Workers) เท่านั้น แต่ก็มีแรงงานไทยประเภทที่มีฝีมือ (Skilled Workers) เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจบริการด้านต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์มีความต้องการแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้น เช่น แพทย์ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก วิศวกร นักกฎหมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ และนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับแรงงานไทยที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์นับจนถึงล่าสุดจากข้อมูลเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2550 พบว่ามีจำนวนประมาณ 47,300 คน โดยแรงงานไทยส่วนใหญ่จะทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง มีจำนวนถึง 42,570 คน หรือร้อยละ 90 ของแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ทั้งหมด
– จำนวน 2,360 คน หรือร้อยละ 5 ทำงานในธุรกิจอู่ต่อเรือ และซ่อมเรือ
– จำนวน 1,420 คน หรือร้อยละ 3 ทำงานในร้านอาหารเป็นพ่อครัว-แม่ครัว
– จำนวน 500 คน หรือร้อยละ 1.1 ทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน (Maids)
ส่วนที่เหลือประมาณ 450 คน หรือร้อยละ 1 ทำงานเป็นพนักงานนวด และธุรกิจสปา รวมไปถึงแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled Workers) จำนวนหนึ่งที่ถือใบอนุญาตทำงานประเภทผู้เชี่ยวชาญ (Employment Pass) ซึ่งมีหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักกฎหมาย เป็นต้น
เจาะตลาดแรงงานสิงคโปร์
เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมาโดยตลอดนับตั้งแต่การแยกตัวจากประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2502 โดยในระยะแรกๆ รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วยการนำเข้าแรงงานจากประเทศมาเลเซีย โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการรับแรงงานจากประเทศมาเลเซียขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ต่อมาประเทศมาเลเซียก็เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานเหมือนกัน ส่งผลทำให้ประเทศสิงคโปร์ต้องหันไปนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นแทน เช่น การนำเข้าจากประเทศจีน เกาหลีใต้ มาเก๊า ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น
สำหรับในปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเกือบทุกระดับชั้น ทั้งแรงงานที่มีฝีมือและไม่มีฝีมือ รวมไปถึงแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจการเงินและการธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร และธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ เป็นต้น โดยแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือจะได้รับสิทธิพิเศษกว่าแรงงานทั่วไป โดยจะสามารถพาครอบครัวเข้าไปพำนักระหว่างทำงานในประเทศสิงคโปร์ได้ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศสิงคโปร์ต้องประสบกับปัญหาการว่างงานเหมือนกับประเทศอื่นๆทั่วโลก และแม้ว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 1-2 แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหาการว่างงานอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงจะพบได้ว่าในบางปีรัฐบาลสิงคโปร์ก็มีนโยบายจำกัดจำนวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยใช้วิธีการเพิ่มค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงมากสำหรับแรงงานต่างด้าวประเภทที่ต้องการจะลดจำนวนลง ซึ่งจะมีผลทำให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการชาวสิงคโปร์ไม่นำเข้าแรงงานต่างด้าวเหล่านั้น เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก
เมื่อพิจารณาถึงประเภทของงานที่แรงงานต่างด้าวทำในประเทศสิงคโปร์ พบว่าในปี 2549 แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะทำงานในภาคบริการ(Services) จำนวน 364,540 คน หรือร้อยละ 48.2 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด
– ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม (Manufacturing) จำนวน 217,810 คน หรือร้อยละ 28.8
– ทำงานในภาคการก่อสร้าง (Construction) จำนวน 164,870 คน หรือร้อยละ 21.1
– ทำงานอื่นๆ ทั่วไป จำนวน 9,080 คน หรือร้อยละ 1.2
สำหรับนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวของรัฐบาลสิงคโปร์ ทางรัฐบาลสิงคโปร์มักจะพิจารณานำเข้าแรงงานต่างด้าวตามความต้องการของผู้ประกอบการ(Demand-oriented) และภาคการผลิตต่างๆ ดังนั้นผู้ประกอบการและนายจ้างชาวสิงคโปร์จึงมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก
โดยในปี 2549 ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวในระดับที่ค่อนข้างดี ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 7.9 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ นอกจากนั้นภาคการก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ส่งผลทำให้มีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 173,300 ตำแหน่ง โดยมีการจ้างแรงงานชาวสิงคโปร์จำนวน 88,200 ตำแหน่ง และมีการจ้างแรงงานต่างด้าวจำนวน 85,100 ตำแหน่ง
สำหรับในปี 2550 รัฐบาลสิงคโปร์ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5-6.5 ทั้งนี้เนื่องจากยังมีปัจจัยสำคัญหลายปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2549 ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
นอกจากนั้น ในภาคธุรกิจก่อสร้างคาดว่าจะยังมีการขยายตัวต่อไป เนื่องจากมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างสำหรับปี 2550 ไว้แล้วเป็นมูลค่าถึง 19 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งจะสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของธุรกิจการก่อสร้างในประเทศสิงคโปร์เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์ขยายตัวในระดับร้อยละ 4.5-6.5 ตามที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประมาณไว้ คาดว่าตำแหน่งงานสำหรับแรงงานต่างด้าวในปี 2550 น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 830,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้คาดว่าตำแหน่งงานจะเพิ่มในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ(Health Care) การก่อสร้างที่พักอาศัยระดับหรู การก่อสร้างสถานกาสิโนหรู 2 แห่ง การก่อสร้างทางด่วน (Marina Coastal Expressway) การก่อสร้างศูนย์กีฬา การต่อเรือและซ่อมเรือ รวมไปถึงการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจสปาที่ยังต้องการแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับแนวโน้มของตลาดแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ในปี 2550 คาดว่าแรงงานไทยน่าจะมีโอกาสเข้าไปทำงานได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 16,000 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่าธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจอู่ต่อเรือของสิงคโปร์ยังคงขยายตัวต่อไปในระดับที่ใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา
การแข่งขันของแรงงานไทย
เมื่อหันมาพิจารณาเรื่องการแข่งขันของแรงงานต่างด้าวจากประเทศอื่นๆกับแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ พบได้ว่าคู่แข่งที่สำคัญของแรงงานไทย ได้แก่ แรงงานจากประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน และพม่า ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างและคนงานอู่ต่อเรือเหมือนกับแรงงานไทย
โดยในปัจจุบันมีแรงงานจากประเทศอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน และพม่า ทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ประมาณ 120,000 คน โดยทำงานในภาคการก่อสร้างและอู่ต่อเรือ
สำหรับแรงงานไทยที่ทำงานในภาคการก่อสร้างและอู่ต่อเรือมีจำนวนรวมกันประมาณ 44,930 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 27.2 ของแรงงานในภาคการก่อสร้างและอู่ต่อเรือทั้งหมด ทั้งนี้ธุรกิจต่อเรือเป็นธุรกิจที่แรงงานไทยยังมีโอกาสจะขยายส่วนแบ่งการตลาดได้อีก ถ้าประเทศไทยมีการปรับปรุงระบบการศึกษาด้านพาณิชย์นาวีให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน
ส่วนงานประเภทพ่อครัว-แม่ครัว ในร้านอาหาร ถือว่าแรงงานไทยสามารถที่จะแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่นได้ แต่เนื่องจากงานในร้านอาหารแรงงานจะต้องมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวและต้องทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งแรงงานที่ทำงานประเภทนี้มักจะเกิดความเบื่อหน่ายได้ง่าย และมักจะมีการย้ายสถานที่ทำงานบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นข้อเสียของแรงงานไทยที่มีการย้ายงานบ่อย
ด้านงานผู้ช่วยแม่บ้าน(Maids)พบว่าแรงงานไทยยังสู้แรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดียไม่ได้ เนื่องจากแรงงานจากประเทศเหล่านั้นมีความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมและภาษาดีกว่าแรงงานไทย ประกอบกับแรงงานไทยเองไม่สนใจในการทำงานประเภทผู้ช่วยแม่บ้านมากนัก ทำให้การแข่งขันในด้านนี้มีไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบแรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวจากประเทศคู่แข่งอื่นๆแล้วพบว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่จะมีฝีมือดีกว่า และเรียนรู้การทำงานได้รวดเร็วกว่า นอกจากนั้นแรงงานไทยยังเชื่อฟังนายจ้างมากกว่าแรงงานจากประเทศอื่นๆ ส่งผลทำให้นายจ้างชาวสิงคโปร์เลือกใช้แรงงานไทยมากกว่าแรงงานจากประเทศคู่แข่งในประเภทงานเดียวกัน
ข้อควรระวังสำหรับแรงงานไทย
แม้ว่าตลาดแรงงานในประเทศสิงคโปร์ในปี 2550 จะดูสดใส แต่ถ้าหากจะพิจารณาถึงปัจจัยลบบางปัจจัยที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะนำให้จับตาระมัดระวังปัญหา ดังนี้
1.ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากกรณีที่กระทรวงต่างประเทศของไทยประกาศระงับโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทยกับสิงคโปร์ (Thailand-Singapore Civil Service Exchange Program – CSEP) พร้อมกับยกเลิกการประชุมประจำปี และได้มีการถอนคำเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ที่จะมาเยือนไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมแก่จำนวนแรงงานไทยที่กำลังจะเดินทางไปทำงานในประเทศสิงคโปร์ และแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ขณะนี้ได้ ดังนั้นจึงควรที่จะต้องติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
2.กรณีที่รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามส่งออกทรายและหินไปประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศสั่งห้ามการส่งออกทรายและหินสำหรับการก่อสร้างไปประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2550 เป็นต้นมา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้างที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่มากกว่า 4 หมื่นคน แม้ว่าในปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ยังมีทรายสำรองเพื่อใช้ในการก่อสร้างไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าหากเกิดกรณีการขาดแคลนทรายและหินจริงๆ โดยไม่สามารถหาวัสดุก่อสร้างอื่นมาทดแทนได้ แรงงานไทยที่จะทำงานในภาคก่อสร้างอาจจะต้องถูกเลิกจ้างงาน และอาจจะตกงานได้ในที่สุด
3.ปัญหาค่าแรงถูกในธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่ในประเทศสิงคโปร์จะทำงานในภาคการก่อสร้าง แต่จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาพบว่า แรงงานในภาคการก่อสร้างมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าจ้างแรงงานเสมอ เนื่องจากการรับเหมาก่อสร้างมักจะเป็นการรับเหมาช่วงต่อเป็นทอดๆ ซึ่งแรงงานมักจะถูกกดค่าจ้างได้ง่าย โดยเจ้าของโครงการก่อสร้างจริงๆไม่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องค่าจ้างแรงงานแบบเหมาช่วง ดังนั้นแรงงานไทยจึงควรที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องข้อตกลงค่าจ้างแรงงานให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง
4.ธุรกิจต่อเรือต้องการแรงงานมีฝีมือ เนื่องจากแรงงานไทยที่ทำงานในธุรกิจต่อเรือในประเทศสิงคโปร์ประมาณ 2 พันกว่าคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากการทำงานในภาคการก่อสร้าง ทั้งนี้พบว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานไร้ฝีมือและยังขาดประสบการณ์ในธุรกิจต่อเรือโดยตรง เนื่องจากระบบการศึกษาด้านพาณิชย์นาวีของประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก ส่งผลทำให้มีแรงงานไทยที่จะเข้าไปทำงานในธุรกิจต่อเรือน้อยลงไปด้วย ทั้งๆที่แรงงานไทยน่าจะมีโอกาสทำงานนี้มากกว่าในปัจจุบัน เพราะตำแหน่งงานในธุรกิจต่อเรือของสิงคโปร์มีมากถึงปีละ 1 แสนตำแหน่ง ดังนั้นหากแรงงานไทยต้องการจะขยายส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจต่อเรือและซ่อมเรือ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีการขยายการศึกษาด้านพาณิชย์นาวีเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
5.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในปี 2550 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาน้ำมันราคาแพง และปัญหาการว่างงาน ซึ่งประเทศสิงคโปร์มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกามาก
ดังนั้นหากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลง อาจจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจประเทศสิงคโปร์ชะลอตัวตาม ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้มีการลดการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศสิงคโปร์ลงไปด้วย