การเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง : ผลตอบแทนสูง…แต่พึงระวังปัจจัยเสี่ยง

ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2550 เป็นต้นมาข่าวความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงปลาในกระชังตามริมแม่น้ำเจ้าพระยานับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจและติดตามอย่างกว้างขวาง ส่วนความเสียหายของภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายสำคัญลดลงก็สร้างความเสียหายให้กับบรรดาเกษตรกรที่เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังด้วยเช่นกัน ประเด็นที่น่าสนใจนอกจากการหาสาเหตุของน้ำที่เน่าเสียแล้วก็คือ ธุรกิจการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังในปัจจุบันนั้นมีเกษตรกรสนใจเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากจำนวนกระชังที่เกษตรกรแต่ละรายลงทุน และปริมาณปลาน้ำจืดที่เลี้ยงของเกษตรกรแต่ละราย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าปัญหาน้ำเน่า-เสียและภัยแล้งนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของธุรกิจการเลี้ยงปลาในกระชัง ในขณะที่ความต้องการบริโภคปลาน้ำจืดทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน อันเป็นผลมาจากกระแสความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเนื้อปลานั้นจัดเป็นอาหารประเภทโปรตีนที่ย่อยง่าย ทำให้ในปัจจุบันคนหันมาบริโภคปลากันมากขึ้น รวมทั้งยังมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตความต้องการเนื้อปลาจะยังคงขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง…แนวโน้มเติบโตสูง
เกษตรกรสนใจเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดกันเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพและการเพาะเลี้ยงเพื่อรับประทานกันในครัวเรือน เนื่องจากปริมาณปลาน้ำจืดตามธรรมชาตินั้นไม่เพียงพอกับความต้องการ เกษตรกรหันมาสนใจทำการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด เพราะในเวลานี้ตลาดที่จะรองรับปลาน้ำจืดนับวันมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปลาน้ำจืดที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างมากในปัจจุบันมี 4 ชนิด คือ ปลานิล ปลาสลิด ปลาตะเพียนขาว และปลาดุก โดยปลาน้ำจืดทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวมาแล้วนั้นส่วนใหญ่จะนิยมเพาะเลี้ยงในบ่อดินและบ่อปูน แต่ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้ความนิยมในการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงปลาทับทิม และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีการส่งเสริมให้เลี้ยงปลาเผาะหรือปลาโมง ซึ่งปลาน้ำจืดทั้งสองชนิดนี้กลายเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน และทำให้ธุรกิจการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากสถิติกรมประมงล่าสุด ปลาน้ำจืดที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณ 688,300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 26,750 ล้านบาท ซึ่งทั้งปริมาณและมูลค่าของปลาน้ำจืดนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณปลาน้ำจืดที่ผลิตได้นี้แยกออกเป็นปลาน้ำจืดที่ได้จากการเพาะเลี้ยง 486,400 ตัน หรือร้อยละ 70.7 ของปริมาณปลาน้ำจืดทั้งหมด และปลาน้ำจืดที่จับจากธรรมชาติ 201,900 ตันหรือร้อยละ 29.3 ซึ่งปลาน้ำจืดที่ได้จากการเพาะเลี้ยงนั้นแยกออกเป็น ปลานิล 160,200 ตัน หรือร้อยละ 32.9 ปลาดุก 159,300 ตัน หรือร้อยละ 32.8 ปลาตะเพียน 66,800 ตัน หรือร้อยละ 13.7 ปลาสลิด 35,300 ตัน หรือร้อยละ 7.3 และที่เหลืออีกร้อยละ 13.3 เป็นการเพาะเลี้ยงปลาอื่นๆ

ประเภทของการเลี้ยงปลาน้ำจืดประมาณร้อยละ 87.0 เป็นการเลี้ยงในบ่อ รองลงมาเป็นการเลี้ยงในนาร้อยละ 6.7 การเลี้ยงในกระชังร้อยละ 5.2 และที่เหลือร้อยละ 1.1 เป็นการเลี้ยงในร่องสวน อย่างไรก็ตามในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนการเลี้ยงในนาและในร่องสวนมีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ ในช่วงปี 2543 นั้นผลผลิตจากการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.3 ของปริมาณการเลี้ยงปลาน้ำจืดทั้งหมด แต่ปัจจุบันสัดส่วนปริมาณปลาน้ำจืดในกระชังเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2547 จำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังทั่วประเทศมี 3,310 ราย เนื้อที่ 370 ไร่

ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คือ ผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาทับทิมหรือปลานิลแดง และปลาเผาะ กล่าวคือ ในการเลี้ยงปลาทับทิมหรือปลานิลแดงในกระชัง มีระยะเวลาในการเลี้ยง 4 เดือนต่อรุ่น ต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 29.74 บาท เกษตรกรมีกำไรสุทธิกิโลกรัมละประมาณ 10.26 บาท อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนนี้จะเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลาที่ผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดหรือไม่และคุณภาพของปลาที่ผลิตได้ สำหรับปลาเผาะนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนครทดลองผลผลิตปลาเผาะเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำโขง เมื่อวิเคราะห์ด้านต้นทุนและผลตอบแทนพบว่าปลาเผาะที่เลี้ยงในกระชังจากแปลงทดลองที่อัตราความหนาแน่น 100 ตัวต่อตารางเมตร มีต้นทุนการผลิตต่ำสุด 26.18 บาทต่อกิโลกรัม และมีกำไรสุทธิ 53.82 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เนื่องจากปลาเผาะนั้นมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ โดยมีราคาจำหน่ายเฉลี่ย 80-100 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิในการเลี้ยงปลาเผาะเมื่อมีการนำไปเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์จะแตกต่างออกไปขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการบริหารจัดการในการเลี้ยง ซึ่งส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของปลาที่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงปลาน้ำจืดประเภทอื่นๆแล้วกำไรสุทธิที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังได้รับนั้นอยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามาก กล่าวคือ กำไรสุทธิของการเลี้ยงปลาน้ำจืดโดยทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6.00-8.00 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้กำไรสุทธิของเกษตรกรแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับประเภทปลาที่เลี้ยง ประเภทของการเลี้ยง และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเลี้ยงของเกษตรกรแต่ละราย เช่น กำไรสุทธิที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกได้รับประมาณ 2.30-2.87 บาทต่อกิโลกรัม(ในบางครั้งอาจสูงถึง 10 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเลี้ยงของเกษตรกรแต่ละราย) ปลานิลกำไรสุทธิประมาณ 8.00 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยง : น้ำเน่าเสีย-ภัยแล้ง… 2 ปัญหาใหญ่
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนับเป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจการเลี้ยงปลาในกระชังนั้นมีปัจจัยเสี่ยงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดต้องพึงระวัง ดังนี้

-ปัญหาน้ำเน่า-เสีย เหตุการณ์น้ำเน่า-เสียในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง โดยเฉพาะในจังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่ได้รับผลกระทบไปด้วยคือผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี โดยปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในระหว่างหาสาเหตุของน้ำเน่า-เสียในครั้งนี้ว่าเกิดจากเรือบรรทุกน้ำตาล 650 ตัน ที่ล่มบริเวณหน้าวัดโพทูล อ.เมือง จังหวัดอ่างทอง หรือเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ เมื่อทราบผลแล้วให้ดำเนินการกับผู้ก่อมลพิษตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดและการฟื้นฟูแม่น้ำด้วย โดยความเสียหายในครั้งนี้กรมประมงประเมินว่ามีปลาธรรมชาติและปลาในกระชังตายแล้วกว่า 1 ล้านตัว หรือมีน้ำหนักประมาณ 100 ตัน และกุ้งก้ามกรามอีกหลายสิบตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 140 ล้านบาท กรมประมงเร่งหาพันธุ์ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติและจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรตารางเมตรละ 257 บาท แต่จะไม่เกิน 80 ตารางเมตรต่อราย

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทางอ้อมให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในการบริโภคปลาน้ำจืด ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปตรวจสอบปลาที่ตายแล้วพบว่าปลอดภัย สามารถบริโภคได้ ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปลาน้ำจืดกลับคืนมา

-ปัญหาภัยแล้ง คาดว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง ทั้งนี้เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าสภาวะเอลนินโญ่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของไทยให้ร้อนและแห้งผิดปกติ โดยเกษตรกรที่เลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งคือ เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับว่าเป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดในกระชังที่มีความสำคัญมากที่สุดของประเทศ กล่าวคือ ผลผลิตปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในกระชังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่ากับ 12,246 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 45.2 ของผลผลิตปลาน้ำจืดที่เลี้ยงในกระชังทั้งประเทศ

ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำมูล ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ตื้นเขินมากที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง บ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก กว่า 40 ราย ได้รับความเดือดร้อน ปลาเริ่มทยอยตาย เนื่องจากน้ำไม่ไหลเวียน เป็นกรดแก๊ส เน่าเสียขาดออกซิเจน เกษตรกรต้องเร่งจับปลาส่งขายในราคาเพียง 100 บาทต่อ 3-4 กิโลกรัม จากปกติราคาจำหน่ายสูงถึงกิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งหากฝนไม่ตกภายใน 15-20 วัน คาดว่าน้ำในลำน้ำมูลบริเวณที่เกษตรกรเลี้ยงปลาในกระชังก็จะเน่าเสียถึงขั้นวิกฤติ นอกจากนั้นเกษตรกรยังประสบปัญหาปลากินอาหารน้อยลง โตช้า จากที่เคยเลี้ยงรุ่นละ 3 เดือน แต่ในระยะนี้ต้องใช้เวลาเลี้ยง 4-5 เดือน จึงจะมีน้ำหนักตามความต้องการของกลุ่มพ่อค้าที่มารับซื้อ ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนเลี้ยงสูงขึ้น นอกจากนี้จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ขณะนี้เกษตรกรได้หยุดหรือชะลอการเลี้ยงปลาในกระชัง เนื่องจากเกรงว่าน้ำในลำน้ำมูลจะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง จนทำให้ประสบปัญหาขาดทุน

บทสรุป
จากเหตุการณ์น้ำเน่า-เสียที่ส่งผลทำให้ปลาน้ำจืดที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำเจ้าพระยาตายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดอ่างทอง และยังส่งผลต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการหาสาเหตุของน้ำเน่า-เสียว่าเกิดจากเรือน้ำตาลล่มหรือการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือสาเหตุอื่นๆ นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลทำให้แม่น้ำมูลลดระดับลงจนส่งผลต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด โดยปัญหาน้ำเน่า-เสียและปัญหาภัยแล้งหรือปัญหาการขาดแคลนน้ำนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง

ปัจจุบันความต้องการบริโภคปลาน้ำจืดทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน อันเป็นผลมาจากกระแสความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเนื้อปลานั้นจัดเป็นอาหารประเภทโปรตีนที่ย่อยง่าย และราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ รวมทั้งปลาน้ำจืดยังมีราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายกว่าปลาทะเลอีกด้วย ทำให้ในปัจจุบันคนหันมาบริโภคปลากันมากขึ้น รวมทั้งยังมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตความต้องการเนื้อปลาจะยังคงขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณปลาน้ำจืดจากธรรมชาติมีไม่เพียงพอกับความต้องการดังนั้นธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด โดยเฉพาะธุรกิจการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชัง ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีเกษตรกรสนใจเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากจำนวนกระชังที่เกษตรกรแต่ละรายลงทุน และปริมาณปลาน้ำจืดที่เลี้ยงของเกษตรกรแต่ละราย ปัจจัยหนุนสำคัญคือ ผลตอบแทนในการลงทุนเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาทับทิมและปลาเผาะ ทำให้เกษตรกรหันมาให้ความสนใจลงทุนในการเลี้ยงปลาน้ำจืดในกระชังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง