ท่องเที่ยวเชียงใหม่ปี ’50…ซบ : หลังสิ้นสุดงานมหกรรมพืชสวนโลก

การท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วง 3 เดือนที่มีการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550) มีแนวโน้มซบเซาลงอย่างรวดเร็วหลังสิ้นสุดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯลง แม้ว่าจะยังไม่เริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวสู่ภาวะปกติของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย ประกอบกับเกิดเหตุการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กปกคลุมภาคเหนือรวมทั้งเชียงใหม่ในปริมาณมากกว่าปกติในช่วงเดือนมีนาคม ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยในกลุ่มครอบครัว ที่นิยมพาบุตรหลานไปพักผ่อนตามต่างจังหวัดในช่วงเปิดเทอม

งานพืชสวนโลก : กระตุ้นท่องเที่ยวเชียงใหม่ปี’49….เติบโตแบบก้าวกระโดด
การจัดกิจกรรมระดับโลกในช่วงปลายปี 2549 คือ งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 นับเป็นแม่เหล็กสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางเข้าไปยังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ส่งผลให้โดยรวมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในปี 2549 มีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด

จากการสำรวจการท่องเที่ยวในประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า ในปี 2549 มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้าไปยังเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 5.59 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 โดยส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 63 เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3.54 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากปี 2548 และร้อยละ 37 เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2.05 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปี 2548

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปยังเชียงใหม่ในปี 2549 ก่อให้เกิดรายได้สะพัดสู่ธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 39,785 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากปี 2548 ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 52 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 20,699 ล้านบาทเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2548 ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 48 คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 19,086 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 57 จากปี 2548
เป็นที่น่าสังเกตว่า งานมหกรรมพืชสวนโลกฯเป็นกิจกรรมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยให้เดินทางเข้าไปเที่ยวเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในปี 2549 ส่งผลให้สัดส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63 ในปี 2549 เทียบกับร้อยละ 54 ปี 2548

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปยังเชียงใหม่กับบริษัทนำเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ยังมีจำนวนลดลงร้อยละ 3 เทียบกับปี 2548 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ส่งผลให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่กับบริษัทนำเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ลดลงจากร้อยละ 31 ในปี 2548 เหลือเพียงร้อยละ 21 ในปี 2549 ทั้งนี้เนื่องจากนักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่ คือ กว่าร้อยละ 80 นิยมเดินทางเข้าไปเที่ยวเชียงใหม่ในลักษณะเดินทางไปกันเอง

ปี’50 ตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย…ปรับตัว : คาดคนเที่ยวเชียงใหม่ 4.8 ล้านคน
ในปี 2550 การท่องเที่ยวเชียงใหม่มีแนวโน้มชะลอการเติบโตลงจากปี 2549 ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับตัวสู่ภาวะปกติของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย รวมทั้งยังมีนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนมากเลือกที่จะเดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงที่มีงานมหกรรมพืชสวนโลกฯแทนการเดินทางไปในช่วงอื่นๆของปี 2550
นอกจากนี้ เหตุการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือรวมทั้งเชียงใหม่ในปริมาณที่มากกว่าปกติในช่วงเดือนมีนาคม 2550 ซ้ำเติมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ซบเซาอยู่แล้วให้กลับทรุดหนักลงไปอีก และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แม้ว่ามาตรการต่างๆของภาครัฐรวมทั้งปฏิบัติการณ์ฝนหลวงจะสามารถลดปริมาณหมอกควันและฝุ่นละอองลงได้มาก ทำให้คาดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเชียงใหม่ในปี 2550 ยังมีปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนอยู่หลายประการ ดังนี้

– การขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวระดับบนซึ่งมีกำลังซื้อสูง อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของโรงแรมและรีสอร์ตระดับหรูในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง และการขยายเครือข่ายเข้ามาในเชียงใหม่ของเชนบริหารโรงแรมชั้นนำจากต่างประเทศ ซึ่งมีความได้เปรียบด้านการตลาด เพราะมีกลุ่มลูกค้าในมือและมีความสามารถด้านการบริหารจัดการ

– ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการขยายตลาดท่องเที่ยวใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลางเข้ามาชดเชยนักท่องเที่ยวยุโรปและเอเชียในช่วงโลว์ซีซั่น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและเป็นช่วงฤดูฝนของเชียงใหม่

– การขยายเที่ยวบินตรงของหลายสายการบินจากตลาดท่องเที่ยวสำคัญเข้ามายังเชียงใหม่ อาทิ สายการบินแอร์เอเชียที่เปิดเส้นทางบินตรงจากมาเลเซียมายังเชียงใหม่ ส่งผลดีต่อการขยายตลาดนักท่องเที่ยวมาเลเซียในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

– ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมีกีฬากอล์ฟ บริการด้านสุขภาพ รวมทั้งสปา และการนวดแผนโบราณเป็นจุดขายสำคัญ

– การพัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ๆเพิ่มความหลากหลายดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ (เช่น โครงการหลวงอ่างขาง โครงการหลวงดอยอินทนนท์ เป็นต้น) ผนวกเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆในจังหวัดใกล้เคียง เป็นกิจกรรมสำคัญในปี 2550 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงให้ได้ตามเป้าหมายจำนวน 5 แสนคน

ดังนั้นแม้จะขาดแรงดึงดูดสำคัญจากงานมหกรรมพืชสวนโลกฯและมีปัจจัยลบจากภัยธรรมชาติมากระทบ แต่ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ก็คาดการณ์ว่า โดยรวมตลอดทั้งปี 2550 การท่องเที่ยวเชียงใหม่ยังเติบโตกว่าปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวเชียงใหม่อยู่ในภาวะปกติ โดยคาดว่า ในปี 2550 จะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่รวมทั้งสิ้นประมาณ 4.8 ล้านคนลดลงร้อยละ 14 จากปี 2549

หากพิจารณาโครงสร้างตลาดท่องเที่ยวเชียงใหม่ในปี 2550 พบว่า ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยมีแนวโน้มถดถอยลงหลังสิ้นสุดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนมากเดินทางเข้าไปยังเชียงใหม่นั้น ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มพูนรายได้ด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่มากขึ้นในปี 2550 โดยคาดว่าในปี 2550 จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.7 ล้านคนลดลงร้อยละ 24 จากปี 2549 และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังเชียงใหม่รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.1 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากปี 2549

ปี’50 เม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยว : สะพัดทั่วเชียงใหม่ 38,000 ล้านบาท
การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปยังเชียงใหม่นั้นมีแนวโน้มก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดในเชียงใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 42 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาทลดลงร้อยละ 16 จากปี 2549 และร้อยละ 58 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นมูลค่าประมาณ 22,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากปี 2549
เม็ดเงินรายได้ด้านการท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาทที่คาดว่าจะสะพัดในเชียงใหม่ในปี 2550 นั้นมีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจสำคัญๆที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยว ดังนี้

ร้อยละ 32 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท สะพัดไปสู่ธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วย สินค้าโอทอปประเภทงานหัตถกรรม ที่มีจำหน่ายในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ และตามหมู่บ้านโอทอป (ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักที่บ้านถวาย อำเภอหางดง ที่มีผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 600 ร้าน และผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง เป็นต้น) รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองและผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวคนไทย

ร้อยละ 21 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจโรงแรม ในเชียงใหม่ ที่มีอยู่ประมาณ 350 แห่งและมีจำนวนห้องรวมกันประมาณกว่า 19,000 ห้อง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวในช่วงงานมหกรรมพืชสวนโลกฯและการเติบโตของนักท่องเที่ยวในตลาดระดับบน ส่งผลให้จำนวนโรงแรมในเชียงใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 21 ต่อปีจาก 195 แห่งในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 341 แห่งในปี 2549 ขณะที่จำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11 ต่อปีจาก 13,625 ห้องในปี 2546 เป็น 18,820 ห้องในปี 2549 โรงแรมที่เปิดให้บริการส่วนใหญ่เป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวและโรงแรมสไตล์บูติค ซึ่งมีจำนวนห้องไม่มากแต่อัตราค่าห้องพักค่อนข้างสูง

ร้อยละ 16 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาทสะพัดสู่ ภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่

ร้อยละ 12 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาทสะพัดสู่ ธุรกิจด้านบันเทิง รวมทั้งบริการในด้านกีฬาซึ่งมีกอล์ฟเป็นจุดดึงดูดสำคัญด้วยการจัดโปรโมชั่นพิเศษ และบริการด้านสปาซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นในสไตล์ล้านนา

ร้อยละ 8 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาทสะพัดสู่ ธุรกิจด้านการคมนาคม ภายในเชียงใหม่

ร้อยละ 7 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,600 ล้านบาทสะพัดสู่ ธุรกิจบริการนำเที่ยว ในเชียงใหม่

ปัญหาสิ่งแวดล้อม: อุปสรรคพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบครบวงจร เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ด้วยความพร้อมด้านบริการรองรับ โดยเฉพาะโรงแรมระดับหรู ร้านอาหาร และบริการต่างๆที่ปรับตัวยกระดับคุณภาพด้านบริการจับตลาดนักท่องเที่ยวระดับบนที่มีลู่ทางเติบโตได้อีกมาก รวมทั้งโรงพยาบาล และบริการด้านสุขภาพ อาทิ สนามกอล์ฟ การนวดแผนไทย และสปา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศจากสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองที่ทวีความรุนแรงขึ้นมากในปี 2550 รวมทั้งปัญหาการจราจรที่ติดขัด และปัญหาน้ำท่วมรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเชียงใหม่ นับเป็นปัญหาที่ตามมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองเชียงใหม่ และเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชียงใหม่ไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพครบวงจร เนื่องจากนักท่องเที่ยวในตลาดระดับบนมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่มากระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินสูงมาก จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งหามาตรการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมของเชียงใหม่ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว และเร่งดำเนินการสานต่อในการพัฒนาพื้นที่ 470 ไร่ ซึ่งเคยจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงใหม่ กระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทำให้สามารถเพิ่มพูนรายได้จำนวนมากสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ได้อย่างทั่วถึง