การแข่งขันธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา นับได้ว่ามีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคให้มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ที่ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการวางแผนมากขึ้น เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อที่มีภาระการผ่อนชำระที่นานกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ทำให้สถาบันการเงินต่างเร่งทำการทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อ โดยมีการปรับกลยุทธ์การตลาดไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจการเงิน และภาวะทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยสถาบันการเงินต่างมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างออกมาเพื่อกระตุ้นและจูงใจลูกค้ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งการแข่งขันด้านราคา และด้านบริการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามท่ามกลางการทำการตลาดที่รุนแรงของสถาบันการเงินเพื่อที่จะกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นกับระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้สถาบันการเงินต่างเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วย สำหรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง โดยยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2549 มีประมาณ 1,342,604 ล้านบาท ขยายตัว 10.73% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 15.69% ในปี 2548
แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล ปี 2550: ปัจจัยบวก…ปัจจัยลบ
แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งระบบในปี 2550 น่าจะขยายตัวที่ประมาณ 8-10% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,450,700 – 1,477,000 ล้านบาท จาก 1,342,604 ล้านบาท ในปี 2549 โดยกรณีขั้นสูงอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ทิศทางเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น และปัจจัยด้านการเมืองมีทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับกรณีขั้นต่ำ เป็นสถานการณ์ที่ปัจจัยลบทางการเมืองส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตของประชาชน ตลาดที่อยู่อาศัยถูกกระทบจากการที่ผู้ที่ต้องการทีอยู่อาศัยชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยเช่นกัน
ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่มีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2550 ได้แก่
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งเริ่มมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% เพื่อเป็นการกระตุ้นธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งที่อาจจะชะลอตัดการสินใจเพื่อรอดูทิศทางการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้มีการตัดสินใจเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) น่าจะมีการปรับลดลงอีกประมาณ 0.25-0.5% จากระดับปัจจุบัน โดยคาดว่าธนาคารพาณิชย์น่าจะเริ่มมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกในไตรมาส 2 ของปี 2550 หลังจากการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายนปีนี้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 1% ส่งผลให้วงเงินที่ขอกู้ได้หายไปประมาณ 8% เช่นเดียวกับการผ่อนชำระค่างวดที่เพิ่มขึ้น 8% เช่นกัน (ถ้าคำนวณให้ผันแปรตามอัตราดอกเบี้ย) ภายใต้สมมติฐาน ที่ว่า ผ่อนชำระค่างวดเดือนละ 10,000 บาท (1 ใน 3 ของรายได้) ระยะเวลาในการผ่อนชำระ 20 ปี ซึ่งหากคำนวณในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 7.5% ในปัจจุบัน วงเงินสินเชื่อที่สามารถกู้ได้อยู่ที่ประมาณ 1,241,300 บาท หากมีการปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 7.25% ตามที่คาดการณ์นั้น วงเงินการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1,265,200 บาท การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มความสามารถในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจ และต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อน่าจะมีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1.5-2.5 ในปี 2550 จากร้อยละ 4.7 ในปี 2549
ทิศทางของราคาน้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์น่าจะอยู่ที่ระดับ 53-57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2549 เนื่องจากความต้องการน้ำมันชะลอลง อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลต่อการแกว่งตัวของราคาน้ำมันในปีนี้
การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟฟ้า แม้ว่าการก่อสร้างส่วนใหญ่อาจยังเริ่มต้นไม่ทันภายในปี 2550 นี้ แต่ความชัดเจนของเส้นทางและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการน่าจะส่งผลดีต่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตามปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจถดถอย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2550 ได้แก่
ปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยนอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของหอการค้าไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 อยู่ที่ 79.0 ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ 43.9 ทั้งนี้เสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ยังคงต้องจับตามอง ทั้งการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มีส่วนส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัย และการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่อยู่อาศัย
มาตรการภาครัฐที่อาจส่งผลกระทบในทางลบ ได้แก่ มาตรการ 30% และการแก้ไขพ.ร.บ. ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งหากนักลงทุนชะลอการเข้ามาลงทุนอาจส่งผลต่อภาวะการจ้างงานในอนาคต
ปัญหาการก่อการร้ายภาคใต้ ปัญหาความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจในพื้นที่ 4 จังหวัด หากสถานะการณ์ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลง ส่งผลต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้การชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจ ยังอาจสะท้อนถึงรายได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2550 ร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2549 จากรายงานเศรษฐกิจและการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงให้เห็นว่าเดือนมกราคม 2550 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอลง โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนปรับตัวลดลง ซึ่งที่อยู่อาศัยก็น่าจะเผชิญผลกระทบในทิศทางเดียวกัน
ปัจจัยลบที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากจะกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ยังส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มียอดการถูกปฏิเสธยังคงมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ของผู้ขอสินเชื่อ การที่สถาบันการเงินมีมาตรการที่เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสินเชื่อของตน และป้องกันหนี้ที่อาจจะไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
สถาบันการเงินปรับทัพการตลาดรับการแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัย
สำหรับทิศทางการแข่งขันของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันด้านธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีความเข้มข้นมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบที่สำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยก็ตาม ซึ่งกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจอื่นๆที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การทำการตลาดของธุรกิจสินเชื่อจึงต้องปรับเข้าหาผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กลยุทธ์การตลาดของสถาบันการเงินในปี 2550 น่าจะประกอบไปด้วย
1.การแข่งขันด้านราคา แม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาแต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงและผู้บริโภคคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลง
2.การเน้นด้านบริการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การบริการในการให้ข่าวสารข้อมูลและคำแนะนำในเรื่องของการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งการให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภคก่อนที่จะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกปฏิเสธในการขอสินเชื่อ หรือไม่ได้รับวงเงินสินเชื่อตามที่ต้องการ
3.การร่วมมือกับผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการต่างต้องการระบายสินค้า โดยเฉพาะโครงการที่สร้างเสร็จก่อนขาย ในส่วนของสถาบันการเงินมีความต้องการที่จะขยายฐานสินเชื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด การร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้นให้การสนับสนุน จึงเป็นอีกกลยุทธ์ที่ยังคงนำมาใช้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในภาวะที่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
การแข่งขันด้านราคา ประกอบด้วย การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การลดค่าธรรมเนียม อาทิ ค่าธรรมเนียมการยื่นขอกู้ ค่าประเมินหลักประกัน และค่าธรรมเนียมในการไถ่ถอนก่อนกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังคงเน้นการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยเป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการผ่อนชำระสินเชื่อ (ระยะเวลาการกู้มีผลต่อวงเงินในการขอสินเชื่อ สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ 30,000 บาท หากผ่อนชำระ 10,000 บาทต่อเดือน คิดในอัตราดอกเบี้ย 7.75% ต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี จำนวนเงินที่สามารถขอสินเชื่อ1,218,100 บาท หากขยายระยะเวลาเป็น 30 ปี จำนวนเงินที่สามารถขอสินเชื่อ1,395,800 บาท) หรือรูปแบบการผ่อนชำระ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อและระดับรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ จากการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มปรับลดลง ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงน่าที่จะชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป เนื่องจากต้องการรอดูทิศทางการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยจนถึงระดับต่ำสุดก่อนทำการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) น่าจะมีการปรับลดลงอีกประมาณ 0.25-0.5% จากระดับปัจจุบัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถาบันการเงินน่าจะมีการออกผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยคงที่ แบบระยะสั้น (ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนี้) เป็นระยะเวลาประมาณ 1- 3 ปีมากขึ้น เพื่อเป็นการเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภค หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะยังคงเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวเป็นส่วนใหญ่ของอายุสัญญาของสินเชื่อ
การให้บริการปรึกษาด้านการเงิน จากการที่สถาบันการเงินได้เพิ่มมาตราการกลั่นกรองที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย จึงเป็นสาเหตุให้มียอดการปฏิเสธการกู้เพิ่มสูงขึ้น หรือผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจไม่ได้รับอนุมัติตามวงเงินที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาเหล่านี้การให้คำแนะนำด้านการเงินแก่ผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อในเรื่องของการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระและวงเงินในการปล่อยสินเชื่อ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อสถาบันการเงินและผู้ขอสินเชื่อ การนำกลยุทธ์ Customer Relationship Management (CRM) หรือลูกค้าสัมพันธ์ มาใช้ในการนำข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า เพื่อสร้างความเข้าในในตัวลูกค้า เช่น ระดับรายได้ในปัจจุบัน มีภาระสินเชื่อตัวอื่นหรือไม่ มีการลงทุนประเภทใดบ้าง เป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการที่จะให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ลูกค้าได้ง่ายขึ้น และยังเป็นกลยุทธ์ที่นำมาสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า กลยุทธ์ Customer Relationship Management (CRM) หรือลูกค้าสัมพันธ์ จึงถูกนำมาใช้มากขึ้นในธุรกิจการเงินในปัจจุบัน
ทั้งนี้ประเด็นที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึงในการซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการถูกปฏิเสธ หรือผู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจไม่ได้รับอนุมัติตามวงเงินที่ต้องการ ได้แก่
o ราคาที่อยู่อาศัยเกินกว่าราคาที่ประเมิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในอนาคตได้ เช่น ราคาที่ดินแถวสุวรรณภูมมีการปรับลดราคาลง เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับอนาคตของสนามบินสุวรรณภูมิ
o โครงการที่อยู่อาศัยไม่ได้มาตราฐาน ที่อาจส่งผลต่อผู้ขอสินเชื่อที่อาจมีการยกเลิกการผ่อนชำระ เนื่องจากมีปัญหากับโครงการได้
o การเลือกซื้อที่อยู่อาศัยควรคำนึงถึง ทำเล ที่ตั้งของโครงการ ที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัวของพื้นดิน มลภาวะทางเสียงจากสนามบิน ปัญหาน้ำท่วม ที่อาจส่งผลต่อการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อด้วย
o ผู้ขอสินเชื่อมีภาระการผ่อนชำระสินเชื่อประเภทอื่น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อน่าจะมาจากการที่ผู้ขอสินเชื่อมีภาระสินเชื่อประเภทอื่นๆ อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น
การทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สถาบันการเงินยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสะดวกและรวดเร็วแก่ลูกค้าของโครงการ และผู้ประกอบการเองได้เริ่มมีนโยบายการกลั่นกรองลูกค้าของโครงการมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อของลูกค้าจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้กลยุทธ์ที่นำมาใช้ คาดว่า สถาบันการเงินยังคงเน้นการแข่งขันอัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ลูกค้าของโครงการ เช่น ธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีการเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ในปีแรก 3.75% ต่อปี และการให้วงเงินกู้สูงสุด 90-100% ของราคาซื้อขาย
การเพิ่มช่องทางการขยายสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน เว็บไซต์ของตัวแทนสถาบันการเงิน พนักงานขายตรง และการออกงาน Money Expo ไปตามจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้สถาบันการเงินต่างเริ่มหันมาเน้นการทำตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ อาทิ เชียงใหม่ เพชรบุรี ภูเก็ต และนครราชสีมา เป็นต้น เนื่องจากการเติบโตของชุมชนเมืองนำไปสู่การขยายตัวของภาคธุรกิจและบริการ ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมทั้งความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความต้องการสินเชื่อตามมาด้วย
บทสรุปและข้อคิดเห็น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้น่าจะยังคงขยายตัวในอัตราชะลอลง ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีปัจจัยบวก คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คาดว่า น่าจะมีการปรับลดลงอีกประมาณ 0.25-0.5% จากระดับปัจจุบัน แต่ปัจจัยลบที่ยังส่งผลต่อธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทิศทางเศรษฐกิจและมาตราการภาครัฐ เป็นต้น ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งนี้หากปัจจัยทางการเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มจะลดลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปี
สำหรับการแข่งขันด้านการตลาดในปีนี้ แม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาแต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงและผู้บริโภคคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลง แต่สถาบันการเงินบางแห่งยังคงทำแคมเปญการแข่งด้านราคา เพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินบางแห่งมีการเสนอทางเลือกอื่นๆ ในการดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้บริการสินเชื่อของตน เช่น การให้คำปรึกษาด้านการเงิน การใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มข้นในการแข่งขัน และการเสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆควบคู่กับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงินต่างแข่งกันออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ พร้อมกับรายการส่งเสริมการขาย และเน้นคุณภาพการบริการมากขึ้น เพื่อต้องการเร่งการตัดสินใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยและกระตุ้นยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดเพิ่มขึ้นได้
สำหรับประเด็นที่น่าจะเป็นข้อพิจารณาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยควรจะมีการหาข้อมูลหรือปรึกษาสถาบันการเงิน ถึงความเหมาะสมในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันปัญหาการกู้ไม่ผ่าน หรือไม่สามารถขอสินเชื่อได้ตามวงเงินที่ต้องการ โดยเฉพาะเมื่อมีการผ่อนชำระเงินดาวน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยควรทำการศึกษาความมั่นคงของโครงการ ทำเล และที่ตั้ง ให้ดีก่อนทำการตัดสินใจ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการขอสินเชื่อภายหลังได้
ทั้งนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงจะชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองและทิศทางของเศรษฐกิจ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มปรับลดลงอีกหลังจากการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนเมษายนนี้ ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจึงอาจจะรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงในระดับต่ำสุด ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกก็อาจจะเป็นตัวช่วยเร่งการตัดสินใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้