พัดลม เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก และมีใช้ประจำบ้านเพื่อช่วยบรรเทาอากาศร้อนได้มาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมีเครื่องปรับอากาศใช้ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนไทยมีพัดลมไว้ประจำบ้านในอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 96.28 ของครัวเรือนทั้งหมด จัดเป็นอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีไว้ใช้งานในครัวเรือน เช่น โทรทัศน์มีสัดส่วนการใช้ในครัวเรือนร้อยละ 94 และหม้อหุงข้าว ร้อยละ 85 ส่วนเครื่องปรับอากาศนั้นมีสัดส่วนร้อยละ 12.8 ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศค่อนข้างร้อนตลอดทั้งปี ประกอบกับพัดลมนั้นเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก อีกทั้งมีให้เลือกหลากหลายประเภทตามลักษณะการใช้งาน จึงทำให้พัดลมเป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของประชากรและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง สินค้าคลายร้อนที่มีราคาไม่สูงมากนักก็มีโอกาสที่จะมียอดขายขยายตัวได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้พัดลมยังสามารถใช้คลายร้อนแทนเครื่องปรับอากาศที่มีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง หรือใช้ควบคู่ไปกับเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยลดภาระค่าไฟ และช่วยเพิ่มความเย็นให้มากขึ้นด้วย
พัดลมที่จำหน่ายในประเทศนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ พัดลมตั้งโต๊ะ พัดลมตั้งพื้น พัดลมติดผนัง พัดลมเพดาน และพัดลมปรับระดับ โดยกลุ่มพัดลมตั้งโต๊ะนั้นจะมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดถึงร้อยละ 55 ตลาดพัดลมนั้นมีแนวโน้มขยายตัวค่อนข้างดี เนื่องจากการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ในแต่ละครัวเรือนนั้นมีพัดลมไว้ใช้งานมากกว่า 1 เครื่องขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 70 โดยอัตราการครอบครองพัดลมของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2.3 เครื่องต่อครัวเรือน โดยในปี 2550 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดพัดลมจะยังสามารถเติบโตได้ค่อนข้างดี มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 มีประมาณการจำหน่ายประมาณ 4.5-5 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 3,500-3,800 ล้านบาท โดยตลาดพัดลมนั้นมีลักษณะค่อนข้างกว้างครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ โดยไม่จำกัดเฉพาะตลาดในกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียวเหมือนกับสินค้าอื่นๆ แต่ก็เป็นที่นิยมในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย โดยประเภทของพัดลมที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ พัดลมประเภทปรับระดับได้ ทั้งนี้เนื่องจากสอดคล้องกับการใช้งานได้หลายรูปแบบ และพัฒนารูปลักษณ์และฟังก์ชั่นการทำงานที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของตลาดพัดลมในประเทศ นั้นมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
– การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับร้อยละ 3.5-4 ในปี 2550 เมื่อเทียบกับร้อยละ 5 ในปีก่อนหน้านั้น อาจทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ การซื้อสินค้าทางเลือกที่มีราคาต่ำกว่าอาจเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น การซื้อพัดลมเพื่อทดแทนเครื่องปรับอากาศที่มีราคาสูงกว่า เป็นต้น
– สภาพอากาศที่ร้อน โดยอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม –พฤษภาคม) อาจสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 40-43 องศาเซลเซียส จะส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าที่บรรเทาอากาศร้อนขยายตัวสูงขึ้น โดยรวมถึงพัดลมด้วย
– การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและการใช้งานหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น การพัฒนาระบบกดปุ่มแบบสัมผัส การเพิ่มรีโมตคอนโทรลสำหรับสั่งงาน ปิด-เปิด หรือส่ายไป-มา ระบบให้ลมพัดเป็นจังหวะเหมือนกับลมของธรรมชาติ ระบบตั้งเวลาปิด-เปิด นอกจากนี้การเพิ่มช่องสำหรับใส่น้ำหรือน้ำแข็งเพื่อเพิ่มความเย็นในระหว่างพัด การเพิ่มเทคโนโลยี ion fan ที่มีประจุบวก-ลบ สำหรับดักจับฝุ่นซึ่งเป็นเทรนด์ของการรักษาสุขภาพ รวมทั้งการเพิ่มใบพัดเป็น 4 ใบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น การแข่งขันของตลาดที่ค่อนข้างรุนแรงนั้นทำให้ผู้ผลิตเน้นการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งขัน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยหรือข้อกำหนดต่างๆ เช่น การประหยัดพลังงาน การจำกัดปริมาณการใช้สารที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การหันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นที่ให้ผลกำไรมากกว่า ลดจำนวนการผลิตหรือยกเลิกการผลิตในบางรุ่นของผลิตภัณฑ์ที่มีภาวะขาดทุน ดังนั้นผู้ผลิตต่างๆ จึงพยายามคิดหากลยุทธ์วิธีการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีต้นทุนและราคา รวมทั้งคุณภาพสินค้าที่เป็นไปตามข้อกำหนดให้สามารถแข่งขันในตลาดได้
– การจัดรายการส่งเสริมการขายรวมกับสินค้าอื่นๆ โดยพัดลมจะเข้าไปอยู่ในลักษณะเป็นสินค้าของกำนัลหรือของแถมร่วมกับสินค้าหลักอื่นๆ เช่น ซื้อเครื่องปรับอากาศแถมพัดลม ซื้อเครื่องซักผ้าแถมพัดลม หรือจัดรายการลดราคาร่วมกับเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ เป็นต้น
– การขยายช่องทางการจำหน่าย โดยเน้นแหล่งจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคและมีความสะดวกสบาย ซึ่งช่องทางดิสเค้าท์สโตร์นั้นมีการเติบโตของยอดขายแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับช่องทางขายที่เป็นร้านค้าดีลเลอร์รายย่อยต่างก็เป็นช่องทางสำคัญในการสร้างยอดขายพัดลมให้โตยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูงนักและเป็นสินค้าที่ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ
ภาวะการแข่งขันในตลาดพัดลมนั้นยังคงสูง ทั้งนี้แต่ละค่ายของผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตค่ายญี่ปุ่น เกาหลี ไทย หรือค่ายผู้ผลิตจากประเทศจีน ต่างก็ประสบภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับราคาจำหน่ายให้สูงขึ้นนั้นทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวน และสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีนนั้นมีราคาต่ำกว่าผลิตในประเทศมาก เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตพัดลมรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 68 ในตลาดโลก ทำให้การผลิตพัดลมในประเทศจีนนั้นมีการประหยัดต่อขนาดการผลิต หรือมีต้นทุนที่ต่ำ และผลิตสินค้าหลากหลายประกอบกับการผลิตพัดลมนั้นไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากนัก ทำให้จีนมีความได้เปรียบทางด้านแรงงานและการผลิตสินค้าจำนวนมาก ทั้งนี้ในตลาดไทยเองก็มีการนำเข้าพัดลมจากจีนมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 นั้น ไทยนำเข้าพัดลมมาจำหน่ายโดยรวมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 197 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ซึ่งมีแนวโน้มว่าไทยจะนำเข้าพัดลมจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในด้านการส่งออกพัดลมนั้น ตลาดส่งออกพัดลมที่สำคัญของไทย อันดับหนึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็นตลาดอาเซียนร้อยละ 37 ตลาดสหรัฐ ร้อยละ 9 ตามลำดับ ไทยมีแนวโน้มการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 734.5 ล้านบาท ในปี 2549 หรือลดลงร้อยละ 41.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเคยส่งออกได้สูงถึง 6,540 ล้านบาทในปี 2544 ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากการชะลอการผลิตจากผู้ผลิตขนาดใหญ่ที่เคยเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศไทย ย้านฐานการผลิตหรือลดปริมาณการผลิตเพียงเพื่อจำหน่ายในประเทศมากกว่าที่จะส่งออกเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกยังได้รับผลกระทบมาจากการขยายตัวของการส่งออกพัดลมของจีนในตลาดที่สำคัญ และการแข็งตัวค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาทำให้มูลค่าส่งออกค่อนข้างลดลง ปริมาณการผลิตพัดลมจากผู้ผลิต 5 รายใหญ่ในประเทศ มีจำนวนประมาณ 1.7 ล้านเครื่อง เคยผลิตได้สูงสุดถึง 5.2 ล้านเครื่อง ในปี 2544 แนวโน้มการผลิตจะเน้นไปที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการส่งออกพัดลมของไทยปรับตัวลดลง โดยในปี 2550 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่าการส่งออกพัดลม (เฉพาะพัดลมที่ใช้ในครัวเรือน) ของไทย อาจปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 15- 20 มีมูลค่าส่งออกประมาณ 580-620 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ว่าตลาดพัดลมในประเทศในปี 2550 จะมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ตลาดส่งออกพัดลมของไทยยังไม่สดใสมากนัก และผู้ผลิตในประเทศเองก็ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลากหลายประการดังนี้
1. สภาพต้นทุนการผลิตที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของปัจจัยการผลิตประเภทอื่นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัตถุดิบและสินค้ารวมทั้งค่าระวางเรือและค่าระวางทางอากาศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีกรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการส่งมอบสินค้าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้วัตถุดิบในการผลิตสำคัญหลายชนิดปรับราคาเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก เช่น ชิ้นส่วนพลาสติกและเม็ดพลาสติก ที่เป็นส่วนของใบพัดและฐานของพัดลม เส้นลวดที่ใช้เพื่อทำตะแกรงครอบใบพัดลม ลวดทองแดงอาบน้ำยาเพื่อทำขดลวดแม่เหล็กของมอเตอร์พัดลม ล้วนมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ผู้ผลิตต้องเผชิญกับภาวะความเสี่ยงของต้นทุน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในเรื่องการขาดแคลนหรือความยากลำบากในการจัดหา ทำให้ผู้ผลิตต้องวางแผนในการจัดหาวัตถุดิบและการบริหารต้นทุนอย่างรอบคอบ
2. ความเสี่ยงของตลาดอันเนื่องมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวจะทำให้พัดลมกลายเป็นสินค้าทางเลือกนั้นหรืออาจอยู่ในช่วงที่ขยายตัวมากกว่าสินค้าอื่นๆ แต่หากเทียบกับช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวก็จะส่งผลดีกับยอดจำหน่ายมากกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ก็จะสามารถซื้อสินค้าได้มากและตัดสินใจซื้อได้เร็วด้วย
3 การขยายตัวของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศอยู่ที่ 149,000-155,000 ยูนิต (รวมบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม/อาคารชุดและบ้านรับจ้างสร้าง) ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0-3 จากปีที่ผ่านมาเท่านั้น สถานการณ์ของกลุ่มที่อยู่อาศัยใหม่นั้นนอกจากจะมีปริมาณการสร้างที่ลดลงแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดภาวะอิ่มตัวของตลาดและมีที่อยู่อาศัยใหม่หลายแห่งยังขายไม่หมด เช่น คอนโดมิเนียมราคา 5-10 ล้านบาท บ้านจัดสรร เป็นต้น ซึ่งการเติบโตของกลุ่มที่อยู่อาศัยใหม่ที่ค่อนข้างน้อยนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบต่อต้องการพัดลมในปี 2550 ด้วยเช่นกัน
4. ความผันผวนของค่าเงิน ปัจจัยความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินบาทที่แข็งตัวเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐทั้งนี้ แนวโน้มของค่าเงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าจนถึงระดับ 34-35 บาท ทำให้ส่งผลต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะเมื่อสินค้ามีโลคัลคอนเทนท์หรือมีอัตราการใช้วัตถุดิบในประเทศค่อนข้างสูง แม้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้การนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง แต่ก็ทำให้กำไรส่วนต่างจากการส่งออกมีน้อยลงด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ทั้งนี้พัดลมเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูงมากนัก การปรับราคาสินค้าขึ้นคงเป็นไปได้ยากกับภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำไรที่ได้รับจากยอดของการส่งออก
5. ความเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกได้เพิ่มความเข้มงวดในการกำหนดข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ หรือมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงข้อกำหนดในเรื่องการประหยัดพลังงาน ข้อกำหนดในเรื่องสินค้าที่มีวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนซึ่งมีผลกระทบต่อมลพิษและสิ่งแวดล้อมซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละประเทศ การเพิ่มมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตต้องปรับแนวทางการผลิตให้สอดคล้องและรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไว้ ซึ่งเท่ากับทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตมากขึ้นตามไปด้วย
6. ผลกระทบจากการค้าระหว่างประเทศ หรือ FTA ( Free Trade Agreement ) ระหว่างประเทศของคู่ค้ากับไทยทำให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยในด้านบวกทำให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าไทยที่ส่งออกไปขายยังประเทศคู่ค้า แต่ขณะที่ในด้านลบการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าก็จะมีต้นทุนนำเข้าลดลง ส่งผลต่อการแข่งขันภายในประเทศด้วย ที่ผ่านมาไทยมีการตกลงลดภาษีการค้ากับประเทศในแถบอาเซียนด้วยกัน ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าพัดลมจะอยู่ในสินค้าประเภทอ่อนไหวในการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้ภาษีนำเข้าพัดลมจากจีนยังอยู่ที่อัตราร้อยละ 20 ของมูลค่า แต่การนำเข้าสินค้าจากจีนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนสามารถผลิตสินค้าได้ในต้นทุนที่ต่ำมาก ทำให้การแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศได้ ทั้งนี้หากไทยต้องลดภาษีนำเข้าพัดลมลงต่อเนื่องเหลือ 0-5% ในปี 2553 ก็จะทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว ภาพรวมของตลาดพัดลมในปี 2550 นั้น แม้ว่าตลาดในประเทศจะมีสัญญานบ่งชี้และมีปัจจัยบวกหลายประการที่จะทำให้ตลาดในช่วงหน้าร้อนนี้มีการขยายตัวได้ดี แต่ในขณะเดียวกันในตลาดส่งออกนั้น ไทยกลับต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงจากผู้ผลิตจากจีน การย้ายฐานการผลิตจากผู้ผลิตที่เคยมีฐานการผลิตในประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า การเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางด้านค่าเงิน ความผันผวนการเมืองในประเทศ การเปิดเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานประกอบนั้นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีกว่าที่เป็นอยู่