ฟิลิปส์ เปิดโครงการ “ฟิลิปส์ เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” เจาะกลุ่มตลาดลูกค้าโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม

บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย คุณธนากร วงศ์วิเศษ ผู้จัดการทั่วไป ส่วนกิจการไฟฟ้าและอุปกรณ์แสงสว่าง จัดพิธีแถลงข่าวโครงการ “ฟิลิปส์ เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” หรือ End of Life (EOL) เพื่อบริการจัดการหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุอย่างถูกวิธี พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ และเจ้าของโรงงาน พร้อมขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ

คุณธนากร วงศ์วิเศษ ผู้จัดการทั่วไป ส่วนกิจการไฟฟ้าและอุปกรณ์แสงสว่างฟิลิปส์ กล่าวว่า “ฟิลิปส์ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแสงสว่างระดับโลกและในประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญที่จะมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องนำเสนอโซลูชั่นในการบริหารจัดการหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุอย่างถูกวิธี เพราะหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุแล้วจะกลายเป็นขยะมีพิษ ไม่สามารถทิ้งรวมไปกับขยะทั่วไปและต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีมิฉะนั้นจะส่งผลอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากหลอดฟลูออเรสเซนต์มีสารปรอทที่เป็นองค์ประกอบภายในที่ทำให้เกิดแสงสว่าง หากหลอดแตกจะทำให้สารปรอทระเหยออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อากาศเป็นพิษ และถ้าเราหายใจสูดดมเข้าไปจะทำอันตรายต่อระบบประสาท ทำให้ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึมเซา ประสาทหลอน และหากฝนตกชะล้างสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และดูดซึมเข้าสู่สัตว์น้ำและพืชผัก เมื่อคนเรารับประทานเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้อีกเช่นกัน”

ฟิลิปส์จึงได้จัดตั้งโครงการ “ฟิลิปส์ เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” นำเสนอโซลูชั่นที่สามารถให้การบริการบริหารจัดการหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุอย่างถูกวิธีด้วยวิธีการรีไซเคิล เพื่อเป็นการแยกวัสดุส่วนที่ไม่เป็นอันตรายและเป็นอันตรายออกจากกัน โดยวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายยังเป็นประโยชน์สามารถนำไปทำการบำบัดเพื่อให้ได้วัสดุหมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้เป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เศษแก้ว และสามารถกำจัดและทำลายปริมาณขยะที่เป็นสารพิษและอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่มีความเสี่ยงในการกระจายของสารพิษสู่ธรรมชาติ

จากผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2547 โดยความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่นและองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) พบว่า ในแต่ละปีมีปริมาณซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วทั่วประเทศเกิดขึ้นประมาณ 41 ล้านหลอด โดยร้อยละ 70 เป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรง สถานที่ที่มีซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุเป็นจำนวนมากมาจากธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการอาคาร สำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดย พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการอาคาร สำนักงาน มีอัตราการเกิดซากหลอดฟลูออเรสเซนต์มากที่สุด คือ โดยเฉลี่ยประมาณ 300 หลอด/อาคาร/ปี รองลงมาคือ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีอัตราการเกิดซากหลอดฟลูออเรสเซนต์เฉลี่ยประมาณ 100 หลอด/โรงงาน/ปี และสุดท้ายคือ บ้านพักอาศัย ซึ่งมีอัตราการเกิดซากหลอดฟลูออเรสเซนต์เฉลี่ยประมาณ 3 หลอด/หลังคาเรือน/ปี

“เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การบริหารและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 ดังนั้น ธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการอาคาร สำนักงาน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องการการบริหารจัดการหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรงที่หมดอายุอย่างถูกวิธี ฟิลิปส์เล็งเห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสนองความต้องการจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงได้กำหนดข้อเสนอโครงการ “ฟิลิปส์ เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” ให้มีความเหมาะสมตรงต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ” คุณธนากร กล่าว

ภายใต้โครงการ “ฟิลิปส์ เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” ผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ และค่าใช้จ่ายในกระบวนการบริหารจัดการซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ด้วยการนำไปรีไซเคิล นอกจากนี้ฟิลิปส์ไม่ได้กำหนดจำนวนในการที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะนำหลอดฟลูออเรสเซนต์มารีไซเคิล แต่ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องซื้อหลอดฟลูออเรสเซนต์ฟิลิปส์ในกลุ่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Lighting Products) นั่นคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์ฟิลิปส์ซูเปอร์ขั้วเขียว หรือ ชุดประหยัดไฟ click-2-save เท่ากับจำนวนหลอดที่ต้องการนำไปรีไซเคิล ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้หลอดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฟิลิปส์ได้ดำเนินการบริหารจัดการซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรง ด้วยการนำไปเข้ากระบวนการ รีไซเคิล ณ โรงงานรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ ตั้งอยู่ภายในโรงงานผลิตหลอดไฟฟิลิปส์ ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยการนำหลอดฟลูออเรสเซนต์เข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยในขั้นแรกจะทำการตัดขั้วหลอดที่บรรจุสารปรอททั้ง 2 ข้างแล้วนำไปฝังกลบโดยบริษัทกำจัดขยะมีพิษ หลังจากนั้นใช้น้ำในกระบวนการบำบัดหลอดแก้วเพื่อชะล้างสารปรอทที่บรรจุอยู่ในหลอดแก้ว และจะมีการบำบัดน้ำที่ใช้ในกระบวนการนี้เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้าง และนำหลอดแก้วที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วไปบดให้เป็นเศษแก้วเพื่อนำกลับมาใช้ได้ใหม่ด้วยการหลอมขึ้นรูปทรงใหม่

คุณธนากรกล่าวว่า “จะเห็นได้ว่ากระบวนการกำจัดหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุอย่างถูกวิธีนั้นปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่ฟิลิปส์กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการซื้อหลอดฟลูออเรสเซนต์ฟิลิปส์ในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนหลอดเดิมที่หมดอายุ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับคุณสมบัติที่ให้ประสิทธิภาพสูงและประหยัดไฟกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั่วไป และนับเป็นอีกกลยุทธ์ของฟิลิปส์ในการให้บริการจัดการด้านแสงสว่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร และการบริหารการใช้พลังงานแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Management) ซึ่งฟิลิปส์ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกันทั่วโลก

คุณสมบัติของ หลอดฟลูออเรสเซนต์ฟิลิปส์ ซูเปอร์ ขั้วเขียว เทคโนโลยี Mercury Capsule ยังทำให้ใช้ปริมาณสารปรอทน้อยที่สุดในโลก คือ 3 มิลลิกรัม ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม สามารถทิ้งปนกับขยะทั่วไปได้เลย และมีเทคโนโลยีเฉพาะของฟิลิปส์คือเคลือบหลอดถึง 3 ชั้น จึงให้ความสว่างกว่าหลอดทั่วไปถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กินไฟเท่าเดิม พร้อม True Colour Technology ทำให้วัตถุภายใต้แสงมีสีสันสดสวยสมจริงไม่ผิดเพี้ยน ให้แสงสว่างคงที่ตลอดการใช้งาน 15,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้รับฉลากเขียวจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยด้วย และ ชุดประหยัดไฟใหม่ Click-2-Save ซึ่งเป็นระบบแสงสว่างใหม่ล้ำยุคจากห้องทดลองของฟิลิปส์ ที่จะช่วยบริษัท องค์กรธุรกิจ ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพียงติดตั้งชุดประหยัดไฟ Click-2-Save ซึ่งประกอบด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ ฟิลิปส์ ทีแอลดี ไลฟ์แม็กซ์ ขนาด 30 วัตต์ และขั้วต่อ Click-2-Save ให้ความสว่างเท่ากับหลอดฟลูออเรสเซนต์ 36 วัตต์ทั่วไป แต่ประหยัดไฟถึง 6 วัตต์ต่อจุด แล้วยังประกอบเข้ากับรางนีออนเดิมได้

ฟิลิปส์ได้แต่งตั้งให้กับผู้จัดจำหน่ายที่ดูแลการขายในตลาดลูกค้าโครงการ (project dealer) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการขนส่งซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการขนซากสารพิษแล้ว พร้อมกับดูแลด้านการขายหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทน นับเป็นอีกหนึ่งกล-ยุทธ์ในการขายที่ให้กับผู้จัดจำหน่ายที่ดูแลการขายในตลาดลูกค้าโครงการของฟิลิปส์ ในการเข้าไปเสนอให้กับลูกค้าโครงการซึ่งมีความต้องการบริการจัดการหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หมดอายุอย่างถูกวิธี และเนื่องจากฟิลิปส์มีศักยภาพในการให้บริการทั่วประเทศ จะทำให้ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ/อาคาร และโรงงานอุตสาหกรรม ให้การตอบรับ โครงการ “ฟิลิปส์ เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีผู้ตอบรับเข้าร่วมโครงการเป็นที่น่าพอใจ อาทิ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ

ฟิลิปส์วางแผนที่จะประชาสัมพันธ์โครงการนี้ โดยนำไปเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อของการจัดสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ “ฟิลิปส์ เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” ให้กับลูกค้าและพันธมิตรในส่วนของตลาดโครงการ โดยในปีนี้ฟิลิปส์จะจัดให้มีการสัมมนาเกี่ยวกับ Lighting Solutions ประมาณ 20 ครั้ง

เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ฟิลิปส์ยังร่วมมือกับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการนำร่องเพื่อการเรียกคืนซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีวัตถุประสงค์ที่จะร่วมมือกันผลักดันและดำเนินงานจัดการซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้มีการจัดการซากหลอดฟลูออเรสเซนต์อย่างเหมาะสม ไม่น้อยกว่า 80 ตันภายในปี 2550 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาในปี 2550 โดยในโครงการความร่วมมือนี้ ฟิลิปส์ได้ทำการเก็บคืนซากหลอดและทำการรีไซเคิลไปแล้ว 17 ราย และมี ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมในปีนี้อีกกว่า 70 ราย

คุณธนากร กล่าวว่า “โครงการ “ฟิลิปส์เติมยิ้ม สิ่งแวดล้อม” เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนฟิลิปส์ (Sustianability) เป็นสิ่งที่เราตระหนักถึงในทุกๆการดำเนินงานของเรา ในขณะที่เรากำลังดำเนินการตามพันธกิจของเราที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรให้ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีแสงสว่าง เรายังต้องการเป็นบริษัทที่นำเสนอโซลูชั่นที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องที่ซับซ้อนได้ ฟิลิปส์คาดหวังว่าโครงการนี้จะกระตุ้นจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน (win – win situation) สำหรับผู้ผลิตหลอดไฟ ผู้ประกอบการที่ใช้หลอดไฟ รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม”