ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน : รับเปิดเสรีภาคบริการ & การลงทุนของอาเซียน

หลังจากการเปิดเสรีด้านการค้าของอาเซียนบรรลุเป้าหมาย โดยในปัจจุบันสินค้าของอาเซียนราว 99% ของสินค้าทั้งหมดของอาเซียน มีอัตราภาษีศุลกากรเหลือ 0-5% และจะลดลงเป็น 0% ในปี 2553 ปัจจุบันอาเซียนกำลังก้าวสู่การเร่งรัดเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน โดยกำหนดเปิดเสรีภาคบริการในสาขาที่เร่งรัด 4 สาขาสำคัญ ได้แก่ 1.สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม 2. สาขาสุขภาพ 3. สาขาท่องเที่ยว และ 4. สาขาโลจีสติกส์ โดยกำหนดให้บรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาข้างต้นภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) ยกเว้นสาขาโลจีสติกส์ที่ยืดเวลาเปิดเสรีออกไปเป็นปี 2556 (ค.ศ.2013) ส่วนเป้าหมายสุดท้ายของอาเซียน คือ การเปิดเสรีภาคบริการอย่างเต็มที่ทุกสาขาภายในปี 2558 (ค.ศ.2015) หรืออีก 8 ปีข้างหน้า

ภาคบริการของอาเซียนมีความสำคัญคิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยรวมของภูมิภาคอาเซียน การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนของอาเซียน โดยการลด/ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคบริการและภาคการผลิต เพื่อเปิดรับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาในประเทศอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศอื่นนอกอาเซียน โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่เป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่โดดเด่นในปัจจุบัน

แม้จีนและอินเดียเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่โดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่สองประเทศนี้เปิดประเทศ และจากปัจจัยเกื้อหนุนด้านค่าแรงงานราคาถูก และทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทำให้จีนและอินเดียเป็นฐานการผลิตสินค้าและธุรกิจบริการให้กับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอาเซียนในปีที่ผ่านมายังคงเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่า FDI ราว 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2548 ที่มีมูลค่า FDI ราว 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2550 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าอาเซียนอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่

– ค่าแรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ของประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม และประเทศนอกอาเซียนด้วย โดยเฉพาะเวียดนามที่ปัจจุบันเป็นแม่เหล็กดึงดูด FDI ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย นอกเหนือจากจีน และอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของเวียดนามอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2550 ทำให้เวียดนามต้องเปิดตลาดสินค้าและภาคบริการ โดยลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้านำเข้าจากประเทศสมาชิก WTO และลดกฎระเบียบภายในประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาลงทุนของชาติ ตามพันธกรณีที่เวียดนามให้ไว้กับ WTO ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติหลายประเทศทั้งในและนอกอาเซียนหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตสินค้า

– แรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพของอาเซียน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการใช้ภาษาอังกฤษ และค่าแรงงานที่ไม่สูงนัก ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศพิจารณาใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี รวมทั้งเข้าไปจัดตั้งธุรกิจบริการเอาท์ซอสซิ่ง และคอลเซ็นเตอร์ด้วย บริษัท เท็กซัส อินสตรูเมนต์ ผู้ผลิตชิพโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ชั้นนำของโลก วางแผนสร้างโรงงานมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ คาดว่าจะก่อให้เกิดการสร้างงานในฟิลิปปินส์ราว 3,000 ตำแหน่ง นอกจากคุณภาพแรงงานชาวฟิลิปปินส์จะเป็นปัจจัยที่เป็นแรงดึงดูด FDI แล้ว ความสามารถด้านภาษาอังกฤษยังสนับสนุนและสร้างโอกาสให้แรงงานของ ฟิลิปปปินส์ออกไปทำงานในต่างประเทศจำนวนถึงกว่า 10 ล้านคน และสร้างรายได้กลับเข้าประเทศจำนวนมากในแต่ละปี

– มาตรการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศของประเทศอาเซียน – ประเทศอาเซียนต่างออกมาตรการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งในภาคอุตสาหรรมและภาคบริการ ที่สำคัญเช่น มาเลเซียวางแผนพัฒนารัฐยะโฮร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ให้เป็นเขตพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยในปี ค.ศ.2020 เพื่อแข่งกับจีนและอินเดีย รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการของภาครัฐในการอนุมัติขั้นตอนทางธุรกิจ เช่น ร่นระยะเวลาในการขอสิทธิบัตรเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประดิษฐ์ และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ส่วนสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในภาคบริการมากที่สุดในอาเซียน วางแผนเปิดเสรีสาขาการขนส่งทางไปรษณีย์ โดยอนุญาตให้นักลงทุนใหม่เข้ามาให้บริการส่งไปรษณีย์ในประเทศและระหว่างประเทศได้ หลังจากที่ธุรกิจส่งไปรษณีย์ในประเทศและระหว่างประเทศถูกผูกขาดโดยวิสาหกิจของสิงคโปร์ก่อนหน้านี้

ไทยเร่งปรับปรุงขีดความสามารถการแข่งขัน … แข่งขันทั้งในและนอกอาเซียน

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมือง ความไม่สงบทางภาคใต้ และการปรับปรุงกฎหมายด้านการลงทุนของต่างชาติที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้สถานการณ์ด้านการลงทุนของไทยในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัว นักลงทุนต่างประเทศรอสถานการณ์ทางการเมืองที่มั่นคงหลังการเลือกตั้งที่จัดมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และความชัดเจนของการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 แม้ว่าภาพรวมของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยในช่วงต้นปี 2550 ยังคงมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่า FDI ในไทยในช่วงดังกล่าวชะลอตัวลง ทำให้ไทยเสียโอกาสการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 โครงการลงทุนของต่างชาติที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยมีมูลค่าโครงการเพิ่มขึ้น 24.5% เป็น 74,107 ล้านบาท เทียบกับ 59,492 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2549 โดยเป็นโครงการของญี่ปุ่นมากที่สุดทั้งจำนวนและมูลค่าโครงการ มูลค่าโครงการของญี่ปุ่นราว 38,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากมูลค่า 21,986 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2549 โครงการลงทุนของญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าโครงการลงทุนของประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ลดลงในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนของกลุ่มอาเซียน (ลดลง 44%) สหภาพยุโรป (ลดลง 47%) สหรัฐฯ (ลดลง 12.3%)

สำหรับเงินลงทุนโดยตรงของต่างประเทศสุทธิทั้งหมดในไทย (Net Flow of FDI) ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2550 (มกราคม-กุมภาพันธ์) ยังคงมีเงินลงทุนโดยตรงของต่างประเทศสุทธิไหลเข้าไทยมูลค่าราว 1,529 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มูลค่า เงินลงทุนโดยตรงของต่างประเทศสุทธิทั้งหมดในไทยในช่วงดังกล่าว ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนแรกของปี 2549 ที่มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าไทยมูลค่า 2,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเงินลงทุนโดยตรงของต่างประเทศสุทธิในไทยในปี 2549 มีมูลค่า 9,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 27.5% จากมูลค่า 7,412 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548

หากพิจารณาผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของสถาบันไอเอ็มดี (Institute for Management Development : IMD) พบว่า ไทยควรเร่งปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขันหลายประการ เนื่องจากอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในปี 2550 ลดลงจากอันดับที่ 29 ในปี 2549 มาอยู่ที่อันดับที่ 33 ในปี 2550 รายงานของสถาบันไอเอ็มดีระบุว่า ประสิทธิภาพของภาครัฐที่ลดต่ำลงจากอันดับที่ 20 ในปี 2549 เป็นอันดับที่ 27 ในปี 2550 ส่วนขีดความสามารถของภาคเอกชนลดลงจากอันดับที่ 25 ในปี 2549 เป็นอันดับที่ 34 ในปี 2550 ขณะที่ความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานลดลงต่อเนื่องจากอันดับที่ 42 มาอยู่อันดับที่ 48 อย่างไรก็ตาม อันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของไทยอยู่ในอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 19 มาอยู่ในที่อันดับที่ 15 สำหรับขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คาดว่ามาจากภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องราว 17% ในปี 2549 และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2550 การส่งออกของไทยยังสามารถเติบโตถึง 18.3%

หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอีก 4 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันจากทั้งหมด 55 ประเทศทั่วโลกตามรายงานของสถาบัน IMD พบว่า ขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองลงมาจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนอันดับที่ 4-5 ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า อันดับของไทยลดลงมากที่สุด คือ ลดลงมา 4 อันดับ ในขณะที่ มาเลเซียลดลง 1 อันดับ ฟิลิปปินส์ลดลง 3 อันดับ และอินโดนีเซียลดลง 2 อันดับ ส่วนสิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในบรรดา 5 ประเทศอาเซียนที่อันดับเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 1 อันดับ

มาตรการที่ควรเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

การที่อาเซียนเร่งรัดการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน เป็นมาตรการเพื่อดึงดูด FDI ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับการรวมตัวของภูมิภาคอาเซียน แข่งขันกับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาค เช่น จีนและอินเดีย โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2558 (ค.ศ.2015) ซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน โดยการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะอย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ไทยในฐานะเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน ควรเร่งสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก ปรับปรุงบรรยากาศด้านการลงทุนเพื่อเป็นแหล่งดึงดูด FDI ของประเทศทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียนเตรียมพร้อมต่อการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนอย่างเต็มที่ในปี 2558 ตามข้อตกลงของกลุ่มอาเซียน ภาครัฐและภาคเอกชนของไทยควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยออกมาตรการระยะยาวเพื่อเร่งปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในภาคธุรกิจ ดังนี้

1. เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะ – ปัจจุบันไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการหลายสาขา ที่สำคัญ ได้แก่ ภาคสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรแปรรูป รวมทั้งภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น สาขาสุขภาพและสาขาท่องเที่ยว ความเพียงพอของแรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพมีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และดึงดูด FDI ด้วย นอกจากนี้ สำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างประเทศอาเซียน รวมทั้งไทยแล้ว การเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยแรงงานยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการมีงานทำและลดปัญหาความยากจน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคม รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย

การเปิดเสรีภาคบริการของอาเซียนที่ตั้งเป้าหมายให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2558 โดยนำร่องเปิดเสรีภาคบริการใน 4 สาขาก่อนเป็นลำดับแรก ได้แก่ สาขาคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม สาขาสุขภาพ และสาขาท่องเที่ยว ภายในปี 2553 และสาขาโลจีสติกส์ ภายในปี 2556 คาดว่าจะทำให้ภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจของอาเซียนที่มีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของกำลังแรงงานทั้งหมดของอาเซียน การพัฒนาทักษะแรงงานไทยจึงมีความจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของไทย ซึ่งนอกจากการแข่งขันกับประเทศในอาเซียนเองแล้ว ไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญนอกอาเซียนอย่างจีน และอินเดียซึ่งได้เปรียบจากปัจจัยค่าแรงงานราคาถูก และแย่งชิงตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าหลายรายการของประเทศอาเซียน รวมทั้งไทยด้วย เช่น สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization : ILO) รายงานว่า ในช่วงระหว่างปี 2543-2548 การผลิตต่อแรงงานของอาเซียนเติบโตเพียง 15.5% ในขณะที่การผลิตต่อแรงงานของจีนและอินเดียเติบโต 63.4% และ 26.9% ตามลำดับ

2. ลดต้นทุนด้านโลจีสติกส์ – หากพิจารณาผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของสถาบัน IMD ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยถูกลดอันดับความสามารถในการแข่งขันจากอันดับที่ 27 เป็นอันดับ 33 พบว่า โลจิสติกส์เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการลดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ของไทยค่อนข้างสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 19% ของ GDP เทียบกับสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวในอาเซียน ต้นทุนโลจีสติกส์ของสิงคโปร์คิดเป็นสัดส่วนราว 8.3% ของ GDP ส่วนประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ พบว่า ต้นทุนด้านโลจีสติกส์ของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 7% ของ GDP นับว่าต้นทุนด้านโลจีสติกส์ของไทยค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงและกระบวนการดำเนินธุรกิจล่าช้า ซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและบั่นทอนบรรยากาศด้านการลงทุนของประเทศ

หากภาครัฐของไทยสามารถดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่จะลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เหลือ 10% ของ GDP ภายใน 5 ปี (ปี 2555) คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจของไทยได้มาก ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก ภาครัฐควรเร่งวางแผนพัฒนายกระดับระบบ โลจิสติกส์ของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคอินโดจีน และแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อความสะดวกต่อภาคธุรกิจให้มากขึ้น

3. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) – ภาครัฐควรสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยของภาคธุรกิจให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และนำผลการวิจัยมาใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยี และการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย โดยการวิจัยแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดส่งออกและมีคุณภาพสูงขึ้น และสินค้าได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของการส่งออกไปประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่คำนึงถือมาตรฐานด้านอาหารที่เน้นความปลอดภัยและคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ควรเน้นการพัฒนาและวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของวัสดุและสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของสินค้า เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเคมีภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งประเทศพัฒนาหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ กำหนดเงื่อนไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์สำหรับสินค้านำเข้าประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดวัสดุอันตรายหรือกากของเสียมีพิษเข้าไปในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

การวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากลและปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ขจัดอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) และสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผู้บริโภค และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศเองด้วย เนื่องจากกระบวนการผลิตสินค้ามีความปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม และลดขยะอุตสาหกรรมในประเทศ

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บรรยากาศด้านการลงทุนของไทยและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองของไทยคลี่คลายลงด้วยดี หลังการเลือกตั้งที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายปี และการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน การปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในระยะยาวมีความจำเป็นต่อกระแสการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุน ที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ไทยควรเร่งดำเนินการปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยคำนึงถึงความเพียงพอของจำนวนแรงงานที่มีทักษะ การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านโลจีสติกส์ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ทางด้านการส่งออก จะช่วยให้การส่งออกสินค้าของไทยแข่งขันได้ดีขึ้นจากการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นการยกระดับสินค้าส่งออกไทยจากการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกกว่าจากจีน อินเดีย และเวียดนาม นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่ได้มาตรฐานช่วยลดอุปสรรคจากมาตรการ NTBs ที่ใช้กันมากขึ้นในปัจจุบันนี้ การเพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งออกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในปีนี้ที่ภาวะการลงทุนและการบริโภคของไทยชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ความเพียงพอของจำนวนแรงงานที่มีทักษะ การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านโลจีสติกส์ และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ยังช่วยเสริมสร้าง บรรยากาศด้านการลงทุนของไทย และเป็นแรงดึงดูด FDI เข้าประเทศ รองรับการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนของไทยในระดับต่างๆ ทั้ง ระดับภูมิภาค ได้แก่ การทยอยเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนของอาเซียนในปัจจุบัน ไปสู่เป้าหมายการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในปี 2558 ระดับทวิภาคี ได้แก่ การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนภายใต้การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่น รวมทั้ง ระดับพหุภาคี ได้แก่ การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนเพิ่มเติมที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาภายใต้การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO)