ผลการสำรวจ “ความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2550”

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่าน “REIC Web Poll” บนเว็ปไซต์ www.reic.or.th ช่วงระหว่างวันที่ 16-31 พฤษภาคม 2550 โดยตั้งคำถามว่า “หากท่านจำเป็นต้องขอกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ท่านคาดว่าจะมีความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อได้ประมาณเดือนละเท่าไร”

เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 มีจำนวนผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ 468 ราย พบว่า มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ที่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปี 2550 ได้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป

นอกจากนี้ ร้อยละ 16 สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ระหว่าง 8,000 – น้อยกว่า 10,000 บาท
ร้อยละ 14 สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ระหว่าง 6,000 – น้อยกว่า 8,000 บาท
ร้อยละ 20 สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ระหว่าง 4,000 – น้อยกว่า 6,000 บาท
ร้อยละ 18 สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ระหว่าง 2,000 – น้อยกว่า 4,000 บาท
และร้อยละ 7 สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้น้อยกว่า 2,000 บาท

เปรียบเทียบตัวเลขความสามารถในการผ่อนชำระดังกล่าว สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่าในปี 2549 ร้อยละ 64.4 ของครัวเรือนมีหนี้สิน โดยเฉลี่ยมีหนี้สินครัวเรือนละ 116,585 บาท และเป็นหนี้เพื่อการซื้อบ้านและที่ดิน คิดเป็นร้อยละ 33.7 ของจำนวนหนี้สินทั้งหมดในครัวเรือน และตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเฉลี่ยต่อหัวประชากร (GDP per Capita) ทั่วประเทศในปี 2548 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ที่ประมาณ 109,400 บาทต่อปี หรือประมาณ 9,100 บาทต่อเดือน

ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินปัจจุบัน มีการแข่งขันโดยให้อัตราดอกเบี้ยจูงใจในปีแรกที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 และในปีถัดไปให้ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย MLR หรือ MLR ลบตั้งแต่ร้อยละ 0.25 ซึ่ง MLR ที่ต่ำที่สุดในระบบ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7

ณ ระดับการผ่อนชำระที่ประมาณ 10,000 บาท หากผู้บริโภคขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาที่อยู่ระยะเวลา 20 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 จะสามารถกู้ได้ในวงเงินประมาณ 1,300,000 บาท และหมายถึงสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาประมาณ 1,600,000 บาท

ณ ระดับการผ่อนชำระที่ประมาณ 8,000 บาท หากผู้บริโภคขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาที่อยู่ระยะเวลา 20 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 จะสามารถกู้ได้ในวงเงินประมาณ 1,000,000 บาท และหมายถึงสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาประมาณ 1,250,000 บาท

ณ ระดับการผ่อนชำระที่ประมาณ 6,000 บาท หากผู้บริโภคขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาที่อยู่ระยะเวลา 20 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 จะสามารถกู้ได้ในวงเงินประมาณ 780,000 บาท และหมายถึงสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาประมาณเกือบ 1,000,000 บาท

ณ ระดับการผ่อนชำระที่ประมาณ 4,000 บาท หากผู้บริโภคขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาที่อยู่ระยะเวลา 20 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 จะสามารถกู้ได้ในวงเงินประมาณ 500,000 บาท และหมายถึงสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาประมาณ 620,000 บาท

ณ ระดับการผ่อนชำระที่ประมาณ 2,000 บาท หากผู้บริโภคขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยราคาที่อยู่ระยะเวลา 20 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 จะสามารถกู้ได้ในวงเงินเพียงประมาณ 250,000 บาท และหมายถึงสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาประมาณ 310,000 บาท

ดังนั้น ระดับราคาที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคมีความสามารถในการซื้อที่แท้จริง ส่วนใหญ่จึงอยู่ในระดับราคาประมาณ 1.5 ล้านลงมา

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ 6,000 บาทต่อเดือนดังกล่าว ในปีแรกของการผ่อนชำระจะมีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยประมาณ 54,000 บาท ในช่วงปีที่สองมีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยประมาณ 52,500 บาท ในช่วงปีที่สามมีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยประมาณ 51,000 บาท ในช่วงปีที่สองมีส่วนที่เป็นดอกเบี้ยประมาณ 50,000 บาท

ดังนั้น มาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์โดยการเพิ่มเพดานการหักลดหย่อนดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากเดิม 50,000 บาท เป็น 100,000 บาทนั้น จึงมีผลต่อผู้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในกลุ่มที่มีการผ่อนชำระต่ำกว่า 6,000 บาทต่อเดือนน้อยมาก และไม่มีผลเลยสำหรับผู้ที่ผ่อนชำระต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท