ผลการสำรวจชี้ผู้ค้าคอมพิวเตอร์ในกรุงเทพ จำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายร้อยละ 97

ผลการสำรวจล่าสุดของไมโครซอฟท์เพื่อวัดระดับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ เผยผู้ค้าคอมพิวเตอร์รายย่อยตามห้างจำหน่ายสินค้าไอทีหลักๆ ในกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 97 รู้สึกว่า ‘การติดตั้งฮาร์ดดิสก์ละเมิดลิขสิทธิ์’ เป็นเรื่องที่ไม่ผิด โดยการกระทำดังกล่าวครอบคลุมถึงการติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายลงในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีโดยบรรดาผู้ประกอบเครื่อง

ในการสำรวจในครั้งนี้ทีมงานผู้สำรวจจะทำทีเป็นผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อคอมพิวเตอร์พีซีและแล็ปท็อป ซึ่งผลปรากฏว่ากว่าร้อยละ 97 ของร้านที่ทีมงานเข้าไปสำรวจนั้นแนะนำให้ทางทีมงานซื้อคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในฮาร์ดไดรฟ์ โดยมีผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ในพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ห้างสรรพสินค้าเซียร์ รังสิต และห้างฟอร์จูนเพียงร้อยละ 3 ที่แนะนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ของแท้ของไมโครซอฟท์

ล่าสุดไอทีซิตี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกสินค้าไอทีของไทย ได้จับมือกับไมโครซอฟท์ดำเนินโครงการเพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยทางร้านได้มีนโยบายที่จะจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของแท้ ผู้บริหารบริษัทไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การที่พนักงานขายต่างแนะนำให้ลูกค้าซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายแสดงให้เห็นว่าบรรดาร้านที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายเหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์แท้จริงที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จะสร้างความเสียหายแก่เครื่องคอมพิวเตอร์ และยังเปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่จะทำให้บรรดาไวรัสและหนอนคอมพิวเตอร์สามารถเข้าไปสร้างความเสียหายและทำให้ข้อมูลสูญหายไปได้ ทว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึงเรื่องราคาถูกมากกว่าจะคำนึงถึงผลเสียหายภายหลังอันเกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย”

ไมโครซอฟท์มอบสิทธิประโยชน์อย่างแท้จริงให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของแท้ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ผ่านทางโปรแกรม Windows Genuine Advantage โดยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ซื้อจะได้รับนั้นครอบคลุมถึงการอัพเดททางด้านความปลอดภัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ และยังสามารถเข้าใช้งานคุณสมบัติพิเศษอีกมากมายที่ไม่สามารถเข้าใช้ได้จากซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ วิสต้า แบบละเมิดลิขสิทธิ์ อาจประสบกับปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์ถูกลดโหมดการใช้งาน ทำให้สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้จำกัดอย่างยิ่ง

ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่ www.microsoft.com/thailand/genuineนายฐิตกร อุษยาพร ผู้อำนวยการด้านโออีเอ็ม บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผู้ที่ซื้อซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ยังขาดความตระหนักในเรื่องภัยต่างๆ ที่ตนเองจะต้องเสี่ยง ซอฟต์แวร์ปลอมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งทางด้านการค้าและด้านกฎหมายที่ร้ายแรง จากผลการศึกษาล่าสุดของไอดีซีแสดงให้เห็นว่าซอฟต์แวร์เถื่อนอาจทำให้ผู้บริโภคและองค์กรมีความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสูญหายของข้อมูล การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (Identify Theft) การยึดครองระบบ (system takeovers) และความเสียหายจากการหยุดทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ การซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ระบบได้รับความเสียหายสักเครื่องอาจมีค่าเสียหายในหลักพันบาท แต่มูลค่าของข้อมูลที่สูญหายไป รวมทั้งประสิทธิผลในการทำงานของพนักงานที่ลดลงไปอาจมีมูลค่ามากยิ่งกว่าด้วยซ้ำ”

นายฐิตกร กล่าวต่อไปว่า “ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจที่พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างเช่น ไอที ซิตื้ ก็ตกที่นั่งลำบากเพราะมีการละเมิดอย่างยากที่จะควบคุมได้ เราจึงอยากให้ลูกค้าของเราตระหนักถึงภัยต่างๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น และอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปราบปรามปัญหาการละเมิดให้มากขึ้น”

และเพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจของผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ของแท้ รวมทั้งปกป้องผู้บริโภคในประเทศไทย ฝ่ายกฎหมายของไมโครซอฟท์จะได้ประสานงานกับร้านจำหน่ายปลีกซอฟต์แวร์ที่ผ่านการคัดสรรแล้วเพื่อแจ้งให้ทราบถึงความเสี่ยงที่ร้ายแรง ตลอดจนผลเสียหายที่ตามมาจากการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งการโหลดซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ลงฮาร์ดดิสก์ให้กับลูกค้าด้วย