สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดแถลงผลของการดำเนินงานในรอบ 3 ปีที่ผ่าน พร้อมเผยตัวอย่างผลงานนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
สนช. จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 มีกรอบภารกิจหลักในการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรม โดยการร่วมรังสรรค์ (co-creator) กับภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดเป็นโครงการนวัตกรรม ตลอดจนการใช้กลไกสนับสนุนด้านวิชาการและการเงิน และการใช้ “นวัตกรรม” มาชักนำและเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจอย่างมีบูรณาการ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการนำไปสู่การสร้างให้เกิด “ระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Ecosystems)” นอกจากนี้ สำนักงานฯ ยังมีภารกิจในการพัฒนาโครงการในระยะหลังการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนการยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ การส่งเสริมความตื่นตัวด้านนวัตกรรม เพื่อให้เกิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ขึ้นภายในประเทศ ตลอดจนการสร้างระบบเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในองค์กรนวัตกรรม
ที่ผ่านมา สนช. มีการพัฒนาโครงการนวัตกรรมและการสนับสนุน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ และโครงการนวัตกรรมเชิงความรู้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี มีโครงการที่ สนช.ให้การสนับสนุนจำนวน 222 โครงการ เงินทุนสนับสนุนจำนวน 241,289,630 บาท ซึ่งทำให้ก่อเกิดมูลค่าจากการลงทุนทั้งสิ้น 6,159,921,098 บาท
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “สนช. เป็นสำนักงานที่มีขนาดเล็กมาก เพื่อให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูง โดยมีบุคลากรทั้งสิ้นไม่เกิน 30 คน และเป็นโครงสร้างการบริหารจัดการในแนวราบ โดยแบ่งการบริหารงานออกเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหารโครงการนวัตกรรม ฝ่ายบริหาร และฝ่ายโครงการพิเศษ ซึ่งการดำเนินงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา สนช. มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจใหม่ การสร้างคน และการสร้างระบบ โดยโครงการนวัตกรรมที่ สนช. ให้การสนับสนุนมีจำนวนถึง 222 โครงการ คิดเป็นวงเงินสนับสนุนกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมกว่า 6 พันล้านบาท โดยผ่านกลไกการสนับสนุนทั้งด้านวิชาการ และการเงินใน 4 รูปแบบ ได้แก่ โครงการ “นวัตกรรมดี…ไม่มีดอกเบี้ย” โครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” โครงการ “ทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม” และโครงการ “ร่วมลงทุนธุรกิจนวัตกรรม” ในการร่วมรับความเสี่ยงเพื่อกระตุ้นให้การลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของประเทศ”
“นอกจากการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงการนวัตกรรมในภาคเอกชนแล้ว สนช. ยังมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้บริหาร เพื่อสร้างบุคคลากรด้านนวัตกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ
อีกด้วย รวมไปถึงการจัดนิทรรศการ “ตลาดนัดนวัตกรรม” หรือ “InnoMart 2007” สำหรับเปิดโอกาส
ให้ประชาชนผู้สนใจด้านนวัตกรรมได้เข้าชมตัวอย่างผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพ และประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ภาคเอกชนจัดกิจกรรมวันนวัตกรรมแห่งชาติขึ้นภายในบริษัท เพื่อสร้างให้เกิด “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ภายในแต่ละบริษัท
นอกจากนี้ ยังมีการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2550 ซึ่งเป็นรางวัลนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ และรางวัลนวัตกรรมด้านสังคม โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลพระราชทานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว หากสนใจส่งผลงานเข้าประกวดสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้จาก www.nia.or.th/niaward หรือโทรศัพท์ 02 644 6000 ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม ศกนี้” นายศุภชัยฯ กล่าว
“ในการดำเนินการที่ผ่าน สนช. คาดหวังว่าจะเป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ และให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันกับเศรษฐกิจชุมชนในระดับฐานราก ซึ่งการดำเนินงานด้านการพัฒนานวัตกรรมในเชิงระบบนี้ ในที่สุดจะนำสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญา อันจะทำให้คนไทยสามารถดำรงอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี” นายศุภชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย