คุยกับ “วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” CTO แห่ง ปตท. ภารกิจปั้น “วังจันทร์วัลเลย์” บุกเบิก 5G x UAV SANDBOX ในไทย


โลกเรากำลังจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G อย่างเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้ ว่ากันว่าด้วยความเร็วของ 5G นั้น จะเข้ามาเปลี่ยนเเปลงไลฟ์สไตล์และการเป็นอยู่ของเราอย่างมาก ดังนั้นการสร้างรากฐานที่มั่นคงเเละพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับ “สิ่งใหม่” จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญในเเวดวง 5G ไทยช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น การเปิดตัว โครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร นำเสนอมิติใหม่แห่งเทคโนโลยี 5G มาเพิ่มขีดความสามารถการใช้งาน “โดรน”  เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมทดสอบเพื่อการวิจัยเป็นแห่งแรกของไทย พร้อมรับสิทธิพิเศษในการพัฒนาธุรกิจระยะยาว…เหล่านี้ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศไม่น้อย

วันนี้เราจะมารู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” ภารกิจพัฒนาเมืองนวัตกรรม Smart City  กับการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม นำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ผ่านมุมมองของ “เเม่ทัพ Innovation” ของ ปตท. อย่าง “วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ถึงความท้าทาย เป้าหมายเเละก้าวต่อไปของ “วังจันทร์วัลเลย์” ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็น Smart City ของไทยเเบบ 100%

@รู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” 

 “ผมคิดว่า…ทุกประเทศสามารถมี Smart City ได้”

วิทวัส เล่าย้อนไปถึงการบุกเบิก “วังจันทร์วัลเลย์” สู่การเป็น Smart City ให้ฟังว่า แต่เดิมพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ดินของ IRPC หรือบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาทาง IRPC ดำเนินการขายพื้นที่แปลงนี้ให้กับ ปตท. จนกลายมาเป็น VISTEC (สถาบันวิทยสิริเมธี), KVIS (โรงเรียนกำเนิดวิทย์) และมีสถาบันปลูกป่าเกิดขึ้น โดยใช้เนื้อที่ไปประมาณ 900 ไร่

เเต่ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่ที่มีอยู่ถึง 3,500 ไร่ ณ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง จึงเกิดคำถามว่า…ส่วนที่เหลือจะทำอะไรต่อดี ?

จากความเห็นของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการบริษัท ปตท. ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มองว่า “ควรจะมีพื้นที่สำหรับพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศ”  ประกอบกับช่วงนั้นรัฐบาลประกาศ EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) พอดี เป็นโอกาสที่จะผลักดัน Smart City

จากนั้น จึงได้มีการเริ่มคุยกับทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) และ สวทช.ว่าควรจะทำพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่ทำนวัตกรรมของ EEC จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อว่า EECi (Eastern Economic Corridor of Innovation)  “มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นเหมือนกับซิลิคอนวัลเลย์ของอเมริกา”

หลังจากเริ่มบุกเบิกมาตั้งเเต่ปี 2559 ตอนนี้ ต้องบอกว่า “วังจันทร์วัลเลย์” เข้าใกล้ความเป็น Smart City อย่างเต็มรูปแบบ โดย Smart City มีทั้งหมด 7 ด้าน ตอนนี้ปตท.ทำได้ 6 ด้านแล้ว ส่วนอีกหนึ่งด้านกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

วิทวัส อธิบายต่อว่า ถ้าพูดถึงความเป็น Smart City ของพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ถือว่า “งานเราสำเร็จแล้ว” แต่ก็ยังต้องทำเพิ่มไปเรื่อยๆ เพราะยุคนี้เทคโนโลยีเดินหน้าอยู่ตลอดเวลาและเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 “อะไรที่มันล้าหลังแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ ดังนั้นเมื่อถามถึงความเป็น Smart City จึงไม่ใช่ว่าพอทำได้สำเร็จ เสร็จสิ้นแล้วจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่เราต้องเดินหน้าต่อ ตามต่อ และต้องคงความเป็น Smart City ไว้ตลอดเวลา”

@บิ๊กมูฟ 5G x UAV SANDBOX เเห่งเเรกในไทย

ในระยะแรก EECi จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพ เช่น เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ทดสอบแบตเตอรีประสิทธิภาพสูง ทั้งขนาดที่ไม่ใหญ่นักสำหรับการใช้งานใน AGV UAV/Drone แบตเตอรีขนาดกลาง สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถรางไฟฟ้า ไปจนกระทั่งระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่

ขณะที่โรงงานต้นแบบในการผลิตแบตเตอรีและการพัฒนาการใช้งานแบตเตอรีในรูปแบบใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้งานเพื่อการป้องการประเทศ (Dual use) รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและระบบการควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีการดำเนินการในพื้นที่ EECi ด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการ “สานต่อ” พัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับการเทคโนโลยีที่ทำมาเเล้วมากมาย นำมาสู่โครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY พัฒนาที่ดินบางส่วนของวังจันทร์วัลเลย์ให้เป็น “พื้นที่ต้นแบบ” เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ (UAV Regulatory Sandbox) โดยใช้ประสิทธิภาพของสัญญาณ 5G

ปตท. ไม่ได้ฉายเดี่ยวเพราะ “บิ๊กมูฟ” การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อย่าง CAAT (สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย) ซึ่งสนับสนุนให้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์สามารถบินโดรนเพื่อการทดลองและทดสอบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การอนุญาตปฏิบัติแตกต่างจากเงื่อนไขที่กำหนด

ด้าน กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้เข้ามาช่วยบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุนการทดสอบ 5G ในพื้นที่ เพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์

ขณะที่ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้บริหารจัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ก็ให้การสนับสนุนด้านการดำเนินการ UAV Sandbox ได้อย่างสะดวกและประสบความสำเร็จ ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะ ความรู้ด้านการบินโดรนแก่กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ

อีกทั้งยังมี บรรดาบริษัทเครือข่ายสัญญาณเจ้าใหญ่ของไทย อย่าง “AIS” ที่ทำงานร่วมกับ VISTEC ในการทดสอบและพัฒนาโดรนวิศวกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบำรุงรักษาสินทรัพย์

ขณะที่ “True”  ได้เข้ามาช่วยในด้านการทดสอบและพัฒนาโดรนลาดตระเวนติดกล้องที่ควบคุมและเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True5G เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของพื้นที่

ส่วน “DTAC” ร่วมพัฒนาการทดสอบสู่กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ 5G สำหรับควบคุมจากทางไกลและถ่ายทอดข้อมูลความละเอียดสูง ให้การสั่งการรวดเร็วและภาพที่คมชัดเเบบเรียลไทม์

“ยิ่งมี 5G ที่พร้อมมากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการดีเลย์ รวมถึงบริษัทต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศเรา ในพื้นที่ EECi หากเขาเห็นว่าเรามี 5G นั่นหมายความว่าเราทันสมัย นวัตกรรมเเละเครื่องมื่อต่างๆ ที่เขานำเข้ามาก็จะช่วยต่อยอดเทคโนโลยีไทย ผู้ที่สนใจอยากเข้ามาลงทุนจะเชื่อมั่นว่า เมื่อมาร่วมลงทุนแล้ว ไทยจะมีพื้นที่ที่มีเทคโนโลยีรองรับ ซึ่งที่วังจันทร์วัลเลย์เราได้เตรียมความพร้อมในด้านนี้ไว้อย่างครบครันและดีที่สุดแล้ว”

 อย่างไรก็ตาม เขามองว่าเรื่องของ 5G SANDBOX มันเป็นแค่ “เรื่องวันนี้” เพราะเป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาพื้นที่ “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็น SANDBOX ในทุกๆ อย่าง เป็นไปได้ในทุกๆ เรื่อง

“ผมว่าโครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY มันมีพลังในการเชื้อเชิญนักลงทุนในตัวเองอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่ทั้ง สวทช., กสทช. และ CAAT มารวมอยู่ในที่แห่งนี้ เมื่อนักลงทุนได้เห็น ก็ต้องมีความสนใจแน่นอน”

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจใน ระยะยาว ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี, ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ, ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย, สมาร์ทวีซ่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว, พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

@จงไปต่อ…กับการสร้าง New S-Curve ใหม่

 ความท้าทายของการสร้าง “New S-Curve” ใหม่ จากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป เป็นความท้าทายขององค์กรเก่าเเก่ที่ประสบความสำเร็จเเล้วอย่าง “ปตท.” ไม่น้อย จากบริษัทที่ทำ Oil & Gas มาโดยตลอดหลายทศวรรษ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นยุค 5G มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า การถูก “Disrupt” ครั้งนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ออกมา

วิทวัส อธิบายว่า S-Curve กับ New S-Curve มีความหมายต่างกัน ที่ผ่านมาปตท.มีการทำ S-Curve ใหม่อยู่เสมอ เช่น การออกน้ำมันชนิดใหม่ขึ้นมา นั้นคือการต่อยอดของ S-Curve เดิม เเต่การทำ New S-Curve คือการพลิกไปทำธุรกิจอื่นไปเลย

“นี่เป็นที่มาของการตั้งตำแหน่ง CTO (Chief Technology Officer) ขึ้นมา เพื่อที่จะหา New S-Curve ใหม่ให้องค์กรเป็นหลัก ผมพูดได้เลยว่าหายากมาก แต่ผมก็ไม่หยุด และมีอะไรหลายๆ อย่างที่พอจะเริ่มเห็นแสงบ้างแล้ว” นับเป็นภารกิจที่มี “ความท้าทายสูงมาก” CTO ของปตท. บอกถึงความมุ่งมั่นว่า “การพูดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักให้คนเข้าใจ ต้องใช้ความอดทนสูง ต้องมีเเรงบันดาลใจที่จะทำ บางทีสิ่งที่เสนอไปอาจจะไม่ได้รับการยอมรับในครั้งเเรก เเต่จงทำต่อไป และต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค”

ด้านการทำงานในองค์กรที่มีการผสม “หลายเจเนอเรชั่น” เขามองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ “การเปิดใจ” โดยฝั่งผู้ใหญ่ต้องรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ไม่ทำให้พวกเขาเสียกำลังใจตั้งเเต่ยังไม่เริ่ม ให้คนรุ่นใหม่ได้มีทิศทางพัฒนาความคิดของตนเองต่อไป ส่วนคนรุ่นใหม่เองก็ต้องมีความตั้งใจจริง เลือกที่จะทำอะไรก็ต้องทำต่อไปให้ถึงที่สุด “ล้มเเล้วลุกให้ได้”