ปุ๋ยเคมีปี’50 : เงินบาทแข็งค่า…ราคานำเข้าลดลง

ปัจจุบันการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทส่งผลกระทบต่อหลากหลายธุรกิจ แต่ธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าอย่างปุ๋ยเคมีกลับได้รับอานิสงส์ เนื่องจากในระยะที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน แต่การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลช่วยให้ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีสำคัญบางสูตรมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ปุ๋ยเคมีสำคัญบางชนิดที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมัน ราคาจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงตามราคาน้ำมัน แต่ราคาก็ไม่พุ่งสูงขึ้นมากนัก

ปุ๋ยเคมีมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของประเทศ และยังเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศในการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างไรก็ตามปุ๋ยเคมีเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่การผลิตในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า ปุ๋ยเคมีทั้งในลักษณะแม่ปุ๋ยและปุ๋ยสำเร็จรูป โดยนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ไปผสม และบรรจุจำหน่ายต่อไป แนวโน้มการใช้ปุ๋ยเคมีก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับความต้องการปุ๋ยเคมีที่ยังคงเพิ่มขึ้นในตลาดโลก เนื่องจากพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรมีจำกัด ในขณะที่เกษตรกรต้องการเพิ่มปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น ทำให้ความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยเคมียังคงมีอยู่ต่อไป ประเด็นเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการคือ การรณรงค์ให้ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องตามหลักวิชา ทั้งนี้เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก

ปริมาณความต้องการปุ๋ยเคมี…ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไทยยังไม่มีแหล่งวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตปุ๋ยเคมีในเชิงพาณิชย์ ทำให้ต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเป็นหลัก และปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้เพิ่มขึ้นจาก 3.35 ล้านตันในปี 2540 เป็น 4.42 ล้านตันในปี 2550 ปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้ปุ๋ยเคมี 1,147 สูตร มูลค่าตลาดปุ๋ยในประเทศประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทยนั้นแยกออกเป็นการใช้ปุ๋ยเคมีประเภทไนโตรเจนร้อยละ 60.0 ฟอสเฟตร้อยละ 24.0 และโปแตสร้อยละ 16.0 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่มากนักมาตั้งแต่ปี 2547 โดยอยู่ที่ระดับประมาณ 4 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรสามารถที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ และราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมี

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีต่อพื้นที่ของไทยนับว่ายังอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย โดยปัจจุบันมีอัตราการใช้ปุ๋ยต่อเนื้อที่การเพาะปลูกเท่ากับ 54.1 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์( 1 เฮกตาร์เท่ากับ 6.25 ไร่) แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียก็ยังนับว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่ต่ำ กล่าวคือ อัตราเฉลี่ยการใช้ปุ๋ยเคมีของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ในระดับ 114.9 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ขณะที่ประเทศใกล้เคียงเช่นมาเลเซียใช้ปุ๋ยเคมีในอัตรา 223.4 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ เวียดนาม 135.6 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ส่วนจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตรมีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี 282.4 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ สาเหตุที่ไทยมีอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากปุ๋ยเคมีมีราคาค่อนข้างแพง เกษตรกรส่วนใหญ่มีอำนาจการซื้อต่ำ และการทำการเกษตรของไทยยังอาศัยน้ำจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ การนำปุ๋ยมาใช้จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับเกษตรกรอีกส่วนหนึ่ง หากภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยในการผลิต เกษตรกรต้องประสบกับภาวะการขาดทุนมากขึ้น

ตลาดปุ๋ยเคมีในไทย…ปี 2550 ขยายตัว 5-10%
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในภาคเกษตรปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐในการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของภาคการเกษตร ทั้งการเพิ่มความรู้ให้แก่เกษตรกร ยกระดับมาตรฐานการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนั้น การขยายตัวการผลิตด้านพืชยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อย ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2550 ธุรกิจปุ๋ยเคมีจะยังสดใส และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 เพราะราคาผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการลงทุนในด้านปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น ปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ในขณะเดียวกันภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยบวกต่อการนำเข้าปุ๋ยเคมี โดยส่งผลให้ราคานำเข้าปุ๋ยเคมี และราคาปุ๋ยเคมีในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2550

ปัญหาอุทกภัยจากภาวะน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรในช่วงปลายปี 2549 ทำให้ตลาดปุ๋ย และเคมีเกษตรในปี 2549 ได้รับผลกระทบอย่างมาก คาดว่ายอดขายจะลดลงไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ก็คาดว่าในปี 2550 ตลาดปุ๋ยเคมีในประเทศจะกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้จากปัจจัยหนุนที่ได้กล่าวมาแล้ว

ตลาดจำหน่ายปุ๋ยเคมีในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ตลาด คือ

1.ตลาดภาคเอกชน ในตลาดภาคเอกชนยังสามารถแบ่งกลุ่มผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อจำหน่าย กลุ่มผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีและนำมาผสมเพื่อจัดจำหน่าย และกลุ่มสหกรณ์การเกษตร โดยกลุ่มผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อจำหน่ายนั้นมีบทบาทสำคัญมากที่สุด โดยผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีรายใหญ่จะเป็นทั้งผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อจำหน่ายและนำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยผสมจำหน่าย โดยจัดจำหน่ายผ่านทางผู้แทนจำหน่ายและผู้ค้าปลีก

2.ตลาดภาครัฐบาล ดำเนินการผ่านทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมทั้งกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยทางธกส.นับว่ามีสัดส่วนมากที่สุด เนื่องจากทำหน้าที่ซื้อปุ๋ยจากกลุ่มผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเพื่อจำหน่ายและกลุ่มผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีและนำมาผสมเพื่อจำหน่าย หลังจากนั้นก็ปล่อยเงินกู้ให้กับเกษตรกรซึ่งต้องการเงินทุนในการซื้อปุ๋ยเคมี ส่วนอตก.และกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางซื้อปุ๋ยเคมีโดยการประมูล

สำหรับราคาปุ๋ยเคมีของทั้งสองตลาดนั้นถูกกำหนดจากราคานำเข้า เนื่องจากปุ๋ยเคมีในประเทศนั้นเป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือนำเข้าเพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการผสมปุ๋ยเพื่อจำหน่าย ซึ่งการดำเนินธุรกิจการค้าปุ๋ยเคมีในประเทศไทยนั้นนับว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากราคาจะผันผวนไปตามราคาในตลาดโลกที่มีความผันผวนอย่างมาก ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ปริมาณการจำหน่ายปุ๋ยเคมีในแต่ละปียังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปี และราคาสินค้าเกษตรในปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาปุ๋ยเคมีในประเทศนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมจากรัฐบาล

เนื่องจากตลาดปุ๋ยเคมีของไทยเป็นลักษณะกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ราคาปุ๋ยเคมีชนิดเดียวกันจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดทุกระดับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่สังเกตได้ว่าราคาปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญทุกประเภทผันผวนไปตามราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เนื่องจากปุ๋ยเคมีเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยนำเข้ามาในรูปปุ๋ยสูตรสำเร็จหรือนำแม่ปุ๋ยมาเพื่อผสมเป็นปุ๋ยสูตรที่ต้องการจาก ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า จึงทำให้ราคานำเข้าของปุ๋ยเคมีและค่าเงินบาท มีผลต่อราคาปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในประเทศ กล่าวคือ ถ้าค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นจะมีผลทำให้ราคาปุ๋ยลดลง และถ้าค่าเงินบาทอ่อนตัวจะมีผลให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น

การนำเข้าปุ๋ยเคมี…
การนำเข้าปุ๋ยเคมีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ราคาปุ๋ยในตลาดโลก ภาวะการผลิตทางการเกษตรในประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ดังนั้นอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีจึงไม่ค่อยแน่นอนขึ้นอยู่กับความผันแปรของปัจจัยต่างๆ โดยมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมี ถ้าพิจารณาแยกปุ๋ยเคมีที่นำเข้าแยกตามสูตรปุ๋ยที่สำคัญจะทำให้เห็นถึงความต้องการปุ๋ยเคมีของตลาดในประเทศไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้น

มูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมี(แยกตามประเภทแม่ปุ๋ยคือ ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟต และปุ๋ยโปแตส และปุ๋ยผสม)ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มีมูลค่ารวม 20,188 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 โดยไทยนั้นนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจนมากที่สุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 9,472 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.3 รองลงมาจะเป็นปุ๋ยผสม ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 8,896 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 โดยแหล่งนำเข้าปุ๋ยไนโตรเจนของไทยนั้นคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มเขตการค้าเสรีอาเซียน ส่วนปุ๋ยผสมนั้นแหล่งนำเข้าสำคัญคือ จีน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าจีนนั้นเป็นแหล่งนำเข้าปุ๋ยเคมีที่สำคัญของไทยเกือบทุกชนิดยกเว้นปุ๋ยโปแตส เนื่องจากแหล่งนำเข้าสำคัญของปุ๋ยโปแตสคือ แคนาดา สหภาพยุโรป และรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแยกการนำเข้าปุ๋ยตามสูตรปุ๋ยเคมีที่สำคัญแล้วพบว่าปุ๋ยสูตร 46-0-0 นั้นนับว่าเป็นปุ๋ยยอดนิยม โดยมูลค่าการนำเข้ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าไทยยังต้องพึ่งการนำเข้าปุ๋ยเคมี แต่ไทยก็มีการส่งออกปุ๋ยเคมีด้วย โดยตลาดส่งออกปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งปุ๋ยเคมีที่ส่งออกจำนวนหนึ่งเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออกอีกต่อหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีในปี 2549 มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีกลับมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ในปี 2549 มูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีเท่ากับ 2,079 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วลดลงถึงร้อยละ 24.5 ทั้งนี้เนื่องจากการส่งออกทั้งปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยโปแตส และปุ๋ยผสมลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2548 มีเพียงปุ๋ยฟอสเฟตเพียงประเภทเดียวที่มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 สถานการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม โดยมูลค่าการส่งออกปุ๋ยทุกประเภทกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่มูลค่าการส่งออกปุ๋ยฟอสเฟตลดลงอย่างมาก ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีทั้งหมด 672 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกปุ๋ยโปแตสและปุ๋ยผสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แม้ว่ามูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีของไทยนั้นจะน้อยมากเมื่อเทียบกับการนำเข้า แต่มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ มูลค่าการส่งออกปุ๋ยเคมีของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2548 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แหล่งส่งออกที่สำคัญของไทยจะเป็นประเทศในเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งนับว่าไทยนั้นได้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนทำให้การส่งออกปุ๋ยเคมีไปยังประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มในอนาคต….ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าต่อไป
แนวโน้มอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในระยะสั้นคงจะยังไม่สามารถลดการพึ่งพาต่างประเทศได้ แม้ว่าจะมีการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามากขึ้น แต่ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จากการประมาณการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการลดลงของพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรและความต้องการปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าความต้องการปุ๋ยเคมีของไทยมีโอกาสจะสูงถึง 6 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรได้รับทราบถึงข้อมูลและวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีที่ถูกต้องเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการผลักดันราคาสินค้าเกษตรในประเทศให้อยู่ในเกณฑ์สูงและมีเสถียรภาพ ซึ่งทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ อันจะเป็นหนทางที่ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ถ้าจะพิจารณาปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีแยกตามพืชที่สำคัญ ปรากฏว่าข้าวยังคงเป็นพืชที่มีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีมากที่สุด โดยมีปริมาณความต้องการร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด รองลงมา คือ ไม้ผลและไม้ยืนต้น พืชไร่ ผัก ไม้ดอกและไม้ประดับ

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทยยังคงต้องเผชิญข้อจำกัดของอุตสาหกรรม คือ การต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ดังนั้นการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันนับว่าเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งส่งผลถึงต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมและอาจจะสร้างปัญหาต่อสภาพคล่องทางการเงินของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้คาดว่านโยบายการลดการใช้สารเคมีเกษตรและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ยังส่งผลกระทบต่อความต้องการปุ๋ยเคมีไม่มากนัก เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพยายามให้เกษตรกรมีความรู้และความเข้าใจในวิธีการใช้สารเคมีเกษตรอย่างถูกต้อง ทั้งเพื่อลดปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีเกษตรซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตรลงได้ด้วย

บทสรุป
ธุรกิจปุ๋ยเคมีนับเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาท เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมี ทั้งในลักษณะแม่ปุ๋ยและปุ๋ยผสม แล้วนำมาผสมเป็นปุ๋ยสูตรต่างๆเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาปุ๋ยเคมีที่นำเข้ามีแนวโน้มลดลง นับว่าเป็นผลดีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงด้วย

ในปี 2550 ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทยอยู่ในระดับ 4.42 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2549 แล้วปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-10 โดยปัจจัยหนุนคือความต้องการปริมาณและคุณภาพของผลผลิต อันเป็นผลมาจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีในปีนี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี 2550 นี้มูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีจะมีแนวโน้มขยายตัวเมื่อเทียบกับปี 2549 โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยผสม

แนวโน้มอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในระยะสั้นคงจะต้องพึ่งพาการนำเข้าต่อไป แม้ว่าจะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่เกษตรกรยังคงต้องการใช้ปุ๋ยเคมี เนื่องจากการลดลงของพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำการเกษตรและความต้องการปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าความต้องการปุ๋ยเคมีของไทยมีโอกาสจะสูงขึ้นไปถึง 6 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตามมาตรการเร่งด่วนที่ทั้งรัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการคือ การให้ความรู้และข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้เพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญประการหนึ่งในการลดต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตร และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย