ตลาดรถจักรยานยนต์ผ่านพ้นช่วงครึ่งปีแรกมีปริมาณสะสมลดลง 16% เป็นผลมาจากสภาพการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ยอดจดทะเบียนของฮอนด้ามีอัตราการลดลงต่ำสุดเพียง 10% นับเป็นค่ายผู้ผลิตรายเดียวที่มีอัตราการเติบโตลดลงต่ำกว่าตลาดโดยรวม อันสะท้อนถึงการได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่องจากผู้บริโภค ส่วนในด้านรถแบบ เอ.ที. ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงและมีอัตราการเติบโตสวนทิศทางของตลาดนั้น เริ่มมีสัดส่วนลดน้อยลงตั้งแต่เดือนแรกของไตรมาสสองเป็นต้นมา เนื่องด้วยปัจจัยด้านราคาน้ำมัน และสำหรับเดือน มิ.ย. ตลาดได้สร้างสถิติการมียอดจดทะเบียนสูงสุดในรอบปีโดยมีปริมาณถึงกว่า 1.52 แสนคัน
มร.โทชิยูกิ อินุมะ กรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมของรถจักรยานยนต์โดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีปริมาณทั้งสิ้น 836,965 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 998,617 คันแล้ว มีปริมาณลดลง 161,652 คัน หรือมีอัตราการเติบโตลดลง 16% ซึ่งสำหรับรถจักรยานยนต์ฮอนด้านับเป็นค่ายผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่มีอัตราการเติบโตลดลงต่ำกว่าอัตราการลดลงของตลาดโดยรวม โดยมีปริมาณยอดจดทะเบียน 589,867 คัน เทียบเท่าอัตราส่วนครองตลาด 70% และเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดือนกันของปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตลดลงเพียง 10% เท่านั้น อันเป็นผลสะท้อนถึงการได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากกลุ่มผู้ใช้รถอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตลดลงของตลาดนั้น เนื่องมาจากปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับความเปราะบางในด้านความเชื่อมั่นต่อสภาพเศรษฐกิจของผู้บริโภคอันส่งผลให้มีการชะลอการจับจ่ายใช้สอย โดยปัจจัยดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนั้นแล้วในช่วงครึ่งปีหลังยังเป็นการเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูการขาย จึงทำให้คาดการณ์แนวโน้มของตลาดในครึ่งปีหลังได้ว่าจะมีอัตราการเติบโตลดลงจากปีที่ผ่านมา
จากสภาวการณ์เช่นนี้จะมีส่วนทำให้สภาพตลาดรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี มีการเร่งพยายามผลักดันและกระตุ้นการสร้างยอดจำหน่ายจากบรรดาค่ายผู้ผลิตกันมากขึ้น โดยในส่วนของฮอนด้ายังคงมุ่งเน้นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ และนำเสนอกิจกรรมในรูปแบบที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้ใช้รถทั้งในกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้โดยทั่วไป ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้นฮอนด้าได้เน้นกิจกรรมการตลาดในรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวแคมเปญ “พลัส ฟรีดอม” (+Freedom.) อันเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์รถจักรยานยนต์ฮอนด้าด้วยความอิสระที่ได้รับจากการขับขี่ รวมทั้งการนำเสนอกิจกรรมที่เข้าถึงพฤติกรรมกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เช่นการร่วมกับภาพยนตร์เรื่องดัง อาทิ สไปเดอร์แมน 3 ในการจัดแคมเปญเพื่อสร้างภาพลักษณ์และกระตุ้นยอดจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ และในครึ่งปีหลังนี้ฮอนด้าก็ได้เริ่มต้นนำเสนอกิจกรรมเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ และสร้างภาพลักษณ์ความนำสมัย ด้วยการนำรถจักรยานยนต์แฟชั่นรุ่น คลิก เพลย์ (Click Play) ร่วมกับนิตยสารแฟชั่นวัยรุ่น Cheeze จัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์ ณ สยามเซ็นเตอร์ และร่วมกับทรู มิวสิค เรดิโอ จัดมหกรรมคอนเสิร์ตที่ถนนอาร์ซีเอ เป็นต้น รวมทั้งจะมีการดำเนินกิจกรรมในลักษณะนี้อีกหลากหลายรูปแบบ
ในด้านรายละเอียดของตลาดในช่วงครึ่งปีแรกนั้น รถจักรยานยนต์ประเภทหลักของตลาด อันได้แก่ รถแบบครอบครัวมีปริมาณจดทะเบียนทั้งสิ้น 419,934 คัน เทียบเป็นสัดส่วนตลาดเท่ากับ 50% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีปริมาณ 658,902 คัน หรือสัดส่วนตลาด 66% ปรากฎว่ามีอัตราการเติบโตลดลง 36% ในขณะที่รถแบบเกียร์อัตโนมัติ หรือแบบ เอ.ที. เป็นรถประเภทเดียวที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณจดทะเบียน 381,525 คัน สัดส่วนตลาดเท่ากับ 46% มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 40% ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมานั้นมีปริมาณ 272,096 คัน สัดส่วนตลาด 27% ถึงอย่างไรก็ตามแม้ว่ารถแบบ เอ.ที. จะได้รับความนิยมอย่างสูงและมีอัตราการเติบโตสวนทิศทางของตลาด แต่ก็เริ่มมีสัดส่วนลดน้อยลงนับตั้งแต่เดือนแรกของไตรมาสสองเป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้รถแบบครอบครัวที่มีจุดเด่นด้านการประหยัดน้ำมัน ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น
สำหรับปริมาณการจดทะเบียนเฉพาะเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมานั้น นับว่าได้สร้างสถิติสูงสุดในรอบปี โดยมีปริมาณทั้งสิ้นถึง 152,564 คัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนกันของปีก่อนหน้าแล้ว มีอัตราการเติบโตลดลง 22%