เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : ตลาดฟื้นช่วงสั้น…หลังสัญญาณเลือกตั้งชัดเจน

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศปี 2550 เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงซบเซาที่ดำเนินมานับตั้งแต่ช่วงต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากที่ทิศทางการเมืองเริ่มคลี่คลายและมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ผ่านการลงประชามติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 อันจะนำมาซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปลายปี และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ตามมาภายหลัง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่จะกล้าจับจ่ายใช้เงินมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เม็ดเงินที่จะใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทั้งสองสภาจะลงไปสู่การสั่งซื้อสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหัวคะแนนและผู้สมัครเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม ทิศทางการฟื้นตัวของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คาดว่าคงจะเป็นช่วงสั้นๆ เพราะในระยะยาวแล้ว ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ยังรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่กระทบด้านเศรษฐกิจ ทั้งจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งราคาน้ำมันซึ่งคาดว่าจะยังไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาอันสั้น

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศนับตั้งแต่ช่วงต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ไม่แจ่มใสนัก เมื่อต้องเผชิญกับปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อกำลังซื้อของภาคประชาชน ทั้งจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังคงมีความผันผวนและยังทรงตัวในระดับที่สูงอยู่ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์วางระเบิดในกรุงเทพฯ ปัญหาความขัดแย้งและความไม่ชัดเจนทางการเมือง รวมถึงมาตรการกันเงินสำรองสำหรับเงินทุนที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อปกป้องค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวของประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของภาคประชาชนที่ปรับลดลง เนื่องจากมีการชะลอและประหยัดการใช้จ่ายเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงของรายได้ในอนาคต ประกอบรวมเข้ากับการรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและได้ผล ในขณะเดียวกัน แม้ว่านโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆจะยังไม่ถูกบังคับใช้ แต่ผู้ประกอบการการต่างชะลอหรือลดการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆลง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม ดังจะพิจารณาจากข้อมูลงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆของสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550(ข้อมูลจากนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ประเทศไทย) พบว่ามีการใช้เม็ดเงินโฆษณาเพียง 593 ล้านบาทลดลงร้อยละ 54.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาทั้งสิ้น 1,305 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขาดแรงกระตุ้นในช่วงตลาดชะลอตัว ทั้งนี้จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 1,436.3 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.0 ซึ่งต่ำกว่าช่วง 6 เดือนแรกปี 2549 ที่ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.8 โดยเบียร์มียอดจำหน่ายในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 ทั้งสิ้นประมาณ 1,003.3 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 (6เดือนปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 16.3) ในขณะที่สุรามียอดจำหน่าย 433.0 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (6เดือนปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 5.6) ทั้งนี้ยอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปรับเพิ่มขึ้นบางส่วนยังมีปัจจัยจากความกังวลของผู้ค้าปลีกและค้าส่งเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราของภาครัฐทำให้มีการเร่งสั่งซื้อสินค้าเข้าสต็อกมากขึ้น ซึ่งหากตัดในส่วนนี้ออกไป คาดว่าปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคที่แท้จริงของประชาชนจะขยายตัวไม่มากนัก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสของการฟื้นตัวจากช่วงซบเซา อันมีปัจจัยจากสถานการณ์การเมืองที่เป็นปัจจัยกดดันภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนไทยมานับตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมาเริ่มคลี่คลายและชัดเจนมากขึ้น เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ผ่านการลงประชามติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 และคาดว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2550 ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อทิศทางเศรษฐกิจและกล้าลงทุนมากขึ้น ในขณะที่ภาคประชาชนเองก็มีความเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่ายเงินมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งทำให้กำลังซื้อกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง ประการสำคัญ เม็ดเงินต่างๆที่พรรคการเมืองใช้ไปในส่วนของการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่าหมื่นล้านบาทจะถูกส่งผ่านไปยังธุรกิจภาคส่วนต่างๆอาทิ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ยานยนต์ ปั๊มน้ำมัน ร้านถ่ายรูป สินค้าอุปโภคบริโภค และรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมใช้เลี้ยงสังสรรค์หัวคะแนนและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น คาดว่าจะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่หลายพรรค ภายหลังพรรคการเมืองใหญ่ถูกยุบไป ซึ่งแต่ละพรรคก็มีการคัดเลือกตัวผู้สมัครและส่งลงเลือกตั้งทั่วประเทศ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้การแข่งขันหาเสียงจะเป็นไปอย่างรุนแรงกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆมา เพราะพรรคการเมืองต่างๆมีการทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้ชัยชนะการเลือกตั้งและได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่บางแห่งที่เป็นจุดอ่อนที่พรรคการเมืองยังไม่สามารถสร้างฐานเสียงได้อย่างแน่นหนา เม็ดเงินหาเสียงก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้โอกาสชนะเลือกตั้งในพื้นที่มีมากขึ้น ประการสำคัญ นอกเหนือจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีแล้ว ประเทศไทยยังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จะตามมาภายหลังซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสแรกปี 2551 และเนื่องจากในครั้งนี้รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คนและมาจากการสรรหาจำนวน 74 คน ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาซึ่งวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 200 คน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การหาเสียงเลือกตั้งวุฒิสภาในแต่ละจังหวัดมีการแข่งขันเข้มข้น โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆที่มีจำนวนประชากรมาก ซึ่งแต่เดิมสามารถมีสมาชิกวุฒิสภาได้หลายคน ทั้งนี้คาดว่ายอดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนวันเลือกตั้งปลายปีประมาณ 1-2 เดือน เนื่องจากบรรดาหัวคะแนนของผู้สมัครจะเริ่มมีการสั่งซื้อสุราและเบียร์ตุนไว้เพื่อเป็นของฝากของกำนัลหรือจัดเลี้ยงหัวคะแนนและชาวบ้านในช่วงออกหาเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การฟื้นตัวของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศภายหลังจากที่ทิศทางการเมืองกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อทิศทางต่อไปของประเทศและส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับเพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าจะเป็นในช่วงสั้นๆ ในขณะที่ระยะยาวแล้ว ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกดดันต่อการเติบโตของตลาดในอนาคต ที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ปัญหาจากการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูงคาดว่าจะยังไม่คลี่คลายลงในระยะเวลาสั้น โดยยังคงดำเนินต่อเนื่องไปในปี 2551 ประกอบกับ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ภายหลังได้รับผลกระทบจากปัญหาในตลาดปล่อยกู้จำนองแก่ลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ทำให้ประชาชนสหรัฐฯชะลอการบริโภค และลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้หากผลกระทบภาคส่งออกมีความรุนแรงก็อาจเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาการปรับลดหรือเลิกจ้างแรงงาน ดังที่เกิดขึ้นกับบางภาคอุตสาหกรรมของไทยในช่วงกลางปี 2550 ที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยกดดันต่อกำลังซื้อในประเทศ

ปัจจัยเสี่ยงด้านนโยบายภาครัฐ นอกจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สภานิติบัญญัติซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาในปัจจุบันแล้ว ภาครัฐโดยกรมสรรพสามิตยังมีนโยบายที่จะปรับเพิ่มการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเพดานภาษีที่เหลืออยู่อาทิ เบียร์ซึ่งมีเพดานภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 60 แต่ปัจจุบันจัดเก็บที่ร้อยละ 55 และสุรากลั่นมีเพดานภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 แต่ปัจจุบันสุราขาวจัดเก็บภาษีที่ร้อยละ 25 และบรั่นดีจัดเก็บภาษีที่ร้อยละ 40 ซึ่งมาตรการนี้สามารถทำได้ทันที ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็เสนอขอแก้กฎหมายเพื่อปรับเพิ่มเพดานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้น เพื่อใช้ควบคุมและจำกัดการบริโภคของประชาชนให้ลดลง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้รายได้ทางภาษีเข้าสู่ภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยสุราแช่เช่นเบียร์จะปรับเพดานภาษีตามมูลค่าจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 90 และสุรากลั่นขยายเพดานภาษีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 90 ทั้งนี้หากมาตรการทางภาษีถูกนำมาใช้จะส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการขยายตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอย่างมาก เพราะผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะผลักภาระภาษีทั้งหมดไปสู่ผู้บริโภค

ดังนั้น เพื่อรับมือกับปัจจัยกดดันดังกล่าว ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดส่งออกที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลกรมศุลกากรพบว่า จากมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 63.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็น 90.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 และ 95.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 ไทยมีการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังต่างประเทศคิดเป็นมูลค่า 61.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1 จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สำคัญของไทยได้แก่ ตลาดประเทศกลุ่มอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.9 (กัมพูชาสัดส่วนร้อยละ 37.8 พม่าสัดส่วนร้อยละ 14.3 สิงคโปร์สัดส่วนร้อยละ 4.0)รองลงมาได้แก่ญี่ปุ่นสัดส่วนร้อยละ 13.8 กลุ่มสหภาพยุโรปร้อยละ 6.2 และสหรัฐฯร้อยละ 3.3

สำหรับประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไทยส่งออกมีรายละเอียดดังนี้

เบียร์ มีสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 53.1 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด โดยมีมูลค่าส่งออก 31.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 ก่อนที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 41.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 และ 53.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 สำหรับช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 32.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 โดยตลาดส่งออกเบียร์ที่สำคัญของไทยได้แก่กัมพูชา พม่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา

วิสกี้ มีสัดส่วนร้อยละ 19.1 ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย โดยมีมูลค่าส่งออก 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 15.2ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 และ 20.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 สำหรับช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 มูลค่าส่งออกวิสกี้อยู่ที่ 11.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 โดยตลาดส่งออกวิสกี้ที่สำคัญของไทยได้แก่กัมพูชา พม่า ลาว มาเลเซีย และฮ่องกง

ไวน์ มีสัดส่วนร้อยละ 6.8 ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย โดยมีมูลค่าส่งออก 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 และ6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 มูลค่าส่งออกไวน์มีทั้งสิ้น 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.5 โดยตลาดส่งออกไวน์ที่สำคัญของไทยได้แก่ กัมพูชา สหราชอาณาจักร พม่า ลาว และมาเลเซีย

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ อาทิ บรั่นดี วอดก้า สาเก เหล้าจีน ลิเคอร์ รัม จิน มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20.9 ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ทั้งหมดของไทย โดยมีมูลค่าส่งออก 21.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2545 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 และ 15.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกปี 2550 มีมูลค่าส่งออก 12.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 126.4 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน กัมพูชา เกาหลีใต้และเวียดนาม

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การเติบโตทางด้านมูลค่าส่งออกของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่เงินบาทของไทยแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่การส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยกลับส่งออกได้มากขึ้น แสดงให้เห็นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีศักยภาพในด้านการแข่งขันที่จะขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพและรสชาติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการไทย ดังจะเห็นได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยได้รับรางวัลจากการประกวดด้านรสชาติและคุณภาพในหลายๆประเทศ ทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นในภาพลักษณ์และคุณภาพสินค้ามากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางรายได้เริ่มส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในต่างประเทศ ส่งผลให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่า มูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของโลกมีประมาณ 43,590.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 46,840.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 และ 52,371.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทั้งโลกนำเข้าสูงสุดได้แก่ ไวน์ซึ่งมีมูลค่านำเข้าในปี 2549 ประมาณ 22,379.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดของโลก รองลงมาได้แก่เบียร์มูลค่านำเข้า 8,093.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสัดส่วนร้อยละ 15.5 และวิสกี้มูลค่านำเข้า 6,146.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสัดส่วนร้อยละ 11.7 ทั้งนี้ ประเทศผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายสำคัญของโลกได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศในเอเชียประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายสำคัญของโลกยังคงเป็นประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกในเอเชียได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย รวมทั้งไทย ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยจะยังไม่สูงมากนักโดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.2 ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดของโลก แต่มูลค่าการส่งออกก็มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งไทยมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนค่าขนส่ง รวมทั้งรสนิยมทางด้านรสชาติของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ใกล้เคียงกัน ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและสหรัฐฯนั้น มูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศได้รับผลดีจากปัจจัยด้านการเมืองที่ชัดเจน และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ครั้งใหม่ได้ในช่วงปลายปี ซึ่งก็จะช่วยให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หลังจากต้องเผชิญกับภาวะตลาดที่ซบเซาในช่วงตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม คาดว่า ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฟื้นตัวดังกล่าว ยังคงเป็นไปในช่วงสั้นๆ ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่กดดันตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศโดยเฉพาะในช่วงปี 2551 ฉะนั้น การแสวงหาโอกาสทางการตลาดด้วยการกระจายสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศจึงนับเป็นช่องทางกระจายความเสี่ยง ซึ่งผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น