อินเทล คอร์ปอเรชั่น โดย มร.พอล โอเทลลินิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ได้บรรยายภาพรวมของผลิตภัณฑ์ใหม่ การออกแบบชิปรุ่นใหม่ ตลอดจนนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตของอินเทล ซึ่งจะทำให้บริษัทคงความเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วต่อไป โดยการบรรยายดังกล่าวมีขึ้นในงานอินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรั่ม (ไอดีเอฟ) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน ศกนี้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
โอเทลลินิ ได้บรรยายให้แก่ผู้ร่วมงานไอดีเอฟ ซึ่งประกอบด้วยบรรดาผู้นำอุตสาหกรรม นักพัฒนา และผู้ที่สนใจเข้าชมงานไอดีเอฟครั้งนี้ ว่าบริษัทได้พัฒนาชิปที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 32 นาโนเมตร (nm) ที่ใช้งานได้อย่างแท้จริงสำเร็จแล้ว โดยชิปรุ่นนี้สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ขนาดจิ๋วได้มากกว่า 4 ล้านตัวภายในพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากับจุดเพียงจุดเดียวเท่านั้น เทคโนโลยีการผลิตแบบ 32 nm ของอินเทลจะเริ่มต้นผลิตจริงได้ภายในปี พ.ศ. 2552
นอกจากนั้น โอเทลลินิ ยังได้พูดถึงประโยชน์ในระยะใกล้ๆ ที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะได้รับจากโปรเซสเซอร์ตระกูล Penryn ซึ่งอินเทลจะผลิตด้วยเทคโนโลยีแบบ 45 nm และเทคโนโลยี high-k และ metal gate transistor สำหรับโปรเซสเซอร์รุ่นแรกที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีแบบ 45 nm จะเริ่มออกสู่ตลาดภายในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ นอกจากนั้น อินเทลยังได้นำสถาปัตยกรรมสำหรับการผลิตชิปรุ่นใหม่ที่มีชื่อรหัสว่า Nehalem มาแสดงในงานนี้เป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยสถาปัตยกรรมรุ่นนี้คาดว่าจะเริ่มใช้ในปีหน้า
โอเทลลินิ กล่าวว่า “กลยุทธ์ของอินเทลในการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว หรือกลยุทธ์แบบ ‘ติ๊ก-ต๊อก’ นั้น เป็นการนำเสนอเทคโนโลยีซิลิกอนและสถาปัตยกรรมไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่แบบปีต่อปีเลยทีเดียวเพื่อเป็นทางเลือกให้กับอุตสาหกรรม นโยบายดังกล่าวช่วยให้เราสามารถเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมได้เร็วขึ้น กลยุทธ์แบบ ‘ติ๊ก-ต๊อก’ ของเราเป็นกลไกในการสร้างเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันออกมาได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งลูกค้าและผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกสามารถมั่นใจได้ว่ากลไกในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและศักยภาพการผลิตของเราจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงของอินเทลมีราคาลดต่ำลงมาอยู่ในระดับเมนสตรีมได้อย่างรวดเร็ว”
ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โปรเซสเซอร์ที่ใช้ชื่อรหัสว่า Penryn จะเป็นโปรเซสเซอร์รุ่นแรกที่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในปริมาณมากด้วยเทคโนโลยี 45 nm โดยทั้งโปรเซสเซอร์ Penryn และโปรเซสเซอร์ในตระกูล Silverthorn (เปิดตัวในปีหน้า) ซึ่งใช้เทคโนโลยี 45 nm จะมีขนาดที่เล็กลง ใช้พลังงานน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อสนองตอบต่อความต้องการในการประมวลผลที่หลากหลาย ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แบบพกพาไปจนถึงเซิร์ฟเวอร์ระดับไฮเอ็นด์อินเทลจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยจะเปิดตัวโปรเซสเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 45 nm จำนวน 15 รุ่นภายในปีหน้า และอีก 20 รุ่นภายในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2552 เพื่อให้ครอบคลุมตลาดผู้ใช้ทุกกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำของอินเทลในเรื่องผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ขณะนี้มีลูกค้าที่นำเอาโปรเซสเซอร์ในตระกูล Penryn ไปใช้ประกอบในคอมพิวเตอร์รุ่นต่างๆ แล้วถึง 750 ราย
โอเทลลินิ กล่าวว่า “เราคาดหวังว่าโปรเซสเซอร์ Penryn จะช่วยให้เครื่องคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพดีขึ้นร้อยละ 20 และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เทคโนโลยีการผลิตแบบ 45 nm ของอินเทลช่วยให้เราสามารถผลิตชิปออกมาได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ แต่โปรเซสเซอร์ที่ได้นั้นเป็นมัลติคอร์ที่มาพร้อมคุณสมบัติมากมาย มีขนาดเล็ก กินไฟน้อย และมีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงๆ”
นอกจากนั้น โอเทลลินิ ยังประกาศอีกว่าโปรเซสเซอร์ 45 nm และชิปเซ็ต 65 nm ของอินเทล จะเริ่มใช้เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากฮาโลเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่า โปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 45 nm ของอินเทลนั้น นอกจากจะมีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย
ในงานนี้ โอเทลลินิ ยังได้นำเอาโปรเซสเซอร์ Nehalem ซึ่งจะเปิดตัวในปี พ.ศ. 2551 มาแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยกล่าวว่าอินเทลจะแนะนำโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่นี้ออกสู่ตลาดได้ภายในครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2551 ตามกำหนดการที่วางไว้ สถาปัตยกรรม Nehalem ยังแสดงให้เห็นว่าอินเทลเป็นผู้นำในด้านผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการเป็นผู้นำเมื่อเทียบผลิตภัณฑ์ในแง่ประสิทธิภาพต่อวัตต์ นอกจากนั้นโปรเซสเซอร์ Nehalem ยังเป็นโปรเซสเซอร์รุ่นแรกที่ใช้สถาปัตยกรรม QucikPath Interconnect อีกด้วย โดยที่ QuickPath นี้ประกอบด้วย เทคโนโลยีเมมโมรี่คอนโทรลเลอร์ในตัว และระบบสื่อสารระหว่างส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่อง ที่ได้รับปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องดีขึ้นตามไปด้วยทั้งระบบ
โอเทลลินิ กล่าวว่า “Nehalem จัดเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ล่าสุดที่ใช้คุณประโยชน์จากสถาปัตยกรรม คอร์ ไมโครอาร์คิเทคเจอร์ ของอินเทลจนทำให้เราได้เปรียบในเรื่องของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า และมีคุณสมบัติใหม่ๆ สำหรับเซิร์ฟเวอร์ ออกสู่ตลาดได้หลังจากที่อินเทลประกาศตัวเป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยี 45 nm ภายในเวลาเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น”
นอกจากนี้ โอเทลลินิ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทันสมัยของอินเทลจะทยอยออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเขาได้นำเวเฟอร์ 300 มม. รุ่นแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 32 nm มาแสดง การทดสอบชิปรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จถือเป็นก้าวสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า อินเทลกำลังเดินหน้าไปสู่เทคโนโลยีขั้นตอนการผลิตแบบ 32 nm สำหรับการผลิตในปริมาณมากเพื่อวางจำหน่ายได้ในอนาคตอันใกล้ อินเทลมีแผนที่จะแนะนำโปรเซสเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 32 nm ภายในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งผลจากการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดจะทำให้อินเทลยังคงความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมต่อไป
ชิปรุ่นทดสอบที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 32 nm ของอินเทลมีโลจิกและเมมโมรี่ (static random access memory – SRAM) ในตัว หรือเท่ากับทรานซิสเตอร์ 1.9 พันล้านชิ้น โดยที่ขั้นตอนการผลิตแบบ 32 nm ดังกล่าว จะใช้เทคโนโลยีทรานซิสเตอร์ high-k และ metal gate รุ่นที่สองของอินเทล
ประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้อินเทลสามารถออกแบบและผลิตชิปที่นอกจากจะทำงานดีในแง่ของการประมวลผลแล้ว ยังให้ประสิทธิภาพที่ตรงกับความต้องการได้อย่างแท้จริงสำหรับการใช้งานเพื่อความบันเทิงและงานกราฟิกอีกด้วย ดังนั้น สิ่งที่บริษัทจะมุ่งเน้นคือต่อไปคือการใช้พลังงานของโปรเซสเซอร์อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยให้เทคโนโลยีสำคัญๆ อย่างเช่น ระบบประมวลผลภาพและกราฟิกทำงานได้ดีขึ้นตามไปด้วย
โอเทลลินิ กล่าวต่อว่า “ยิ่งเราต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการผลิตเร็วขึ้นตามไปด้วย วิศวกรและนักวิจัยของอินเทลสมควรที่จะได้รับการยกย่องสำหรับการสร้างแนวทางดังกล่าวในอุตสาหกรรมนี้ เมื่อเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของเราไปถึงผู้บริโภคทั้งนักธุรกิจและผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปในอีกสองสามปีข้างหน้า ผู้บริโภคเหล่านี้จะได้ใช้ประโยชน์จากพลังการประมวลผลระดับสูงซึ่งจะช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความคิดสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น โอเทลลินิ ยังได้ประกาศว่าโปรเซสเซอร์แบบดูอัลคอร์ในรหัส Penryn ซึ่งใช้พลังงาน 25 วัตต์ จะมีอยู่ในแพลตฟอร์ม Montevina ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ โดยจะมีคุณสมบัติการใช้งานแบบโมบายล์ของไวแมกซ์ (WiMax) รวมอยู่ด้วย ผู้ผลิตหลายรายเตรียมที่จะเริ่มจำหน่ายโน้ตบุ๊กที่ใช้แพลตฟอร์ม Montevina ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปหลังจากที่แพลตฟอร์มนี้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ อินเทลคาดว่าจะมีผู้ใช้ไวแม็กซ์เป็นจำนวนกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2555
การใช้งานไวแม็กซ์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งความพยายามของอินเทลในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีประมวลผลไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาผ่านโครงการ World Ahead ของอินเทล และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความก้าวหน้า เช่น โปรเซสเซอร์ในชื่อรหัสSilverthorne จะช่วยให้ประชากรมีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก
ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมซิลิกอน อินเทลได้พัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และริเริ่มสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการทำงานและการดำรงชีวิตของผู้คน ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทล ได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/pressroom และ blogs.intel.com