จีน : ตลาดปิโตรเคมีสำคัญของไทย

ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดปิโตรเคมีของจีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคเกษตรกรรมที่มีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชมากขึ้น และการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่ทำให้ความต้องการใช้สินค้าปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้นมาก อาทิเม็ดพลาสติกและเรซิน หมึกสี ใยเคมีและยางสังเคราะห์ เป็นต้น อุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของจีนเองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ประกอบการของจีนเองก็เร่งขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น โดยภาพรวมในปี 2550 อุตสาหกรรมดังกล่าวน่าจะมีผลกำไรที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนน้ำมันดิบที่ลดลงจากปีก่อนหน้าและอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันจีนได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเข้าสินค้าปิโตรเคมีรายใหญ่ของโลก เฉพาะในส่วนของเม็ดพลาสติก จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นตลาดค้าเม็ดพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในแต่ละปีจีนนำเข้าเม็ดพลาสติกถึงหลายล้านตัน หลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าปิโตรเคมีอันดับต้นๆ ของไทย และยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย

ปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของจีน : โอกาสส่งออกของไทย

ปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของจีนต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายๆ ด้าน ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทย ปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของจีนที่สำคัญได้แก่

1. การผลิตไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าจีนจะเร่งขยายกำลังการผลิตสินค้าปิโตรเคมีอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณการผลิตยังคงไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในแต่ละปีจีนต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากต่างประเทศค่อนข้างมากเช่น เอทิลีน โพรพิลีน โพลิสไตรีน PVC ฯลฯ เฉพาะในปี 2548 จีนต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีคิดเป็นมูลค่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจีนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการผลิตที่ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในประเทศไปอีก 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย

2. โครงสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำที่ถูกผูกขาดโดยภาครัฐ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำซึ่งได้แก่อุตสาหกรรมการกลั่นและแปรรูปน้ำมันดิบถูกผูกขาดโดยวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐ ทำให้วิสาหกิจเอกชนซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมปลายน้ำต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ และก่อให้เกิดปัญหาการผลิตที่ไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ในประเทศ

3. ปัญหาการตรวจสอบการทุ่มตลาด ที่ผ่านมาจีนต้องประสบกับปัญหาการร้องเรียนกรณีการทุ่มตลาดสินค้าปิโตรเคมีบางประเภทที่จีนส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวของจีนเป็นสินค้าที่ถูกร้องเรียนว่ามีการทุ่มตลาดมากที่สุดในบรรดาสินค้าส่งออกของจีนทุกประเภท ปัจจุบันมีหลายรายการที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาและหาข้อยุติ

หลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2544 การนำเข้าสินค้าปิโตรเคมีของจีนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เรซินเพิ่มขึ้นจาก 11.67 ล้านตันในปี 2544 เป็น 13.35 ล้านตันในปี 2548 ส่วนการนำเข้ายางสังเคราะห์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 7.53 แสนตันในปี 2544 เป็น 1.09 ล้านตันในปี 2548 แหล่งนำเข้าสินค้าปิโตรเคมีที่สำคัญของจีนได้แก่เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เป็นต้น ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราภาษีนำเข้าที่ลดลง หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จีนได้ทยอยปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าปิโตรเคมีประเภทต่างๆ อาทิ เอทิลีนจากร้อยละ 3.5 เหลือร้อยละ 2.0 โพลิเอทิลีนจากร้อยละ 15.4 เหลือร้อยละ 9.1 ส่วนโพลิโพรพิลีนและ PVC ลดลงจากร้อยละ 13.9 เหลือร้อยละ 8.6 เป็นต้น ในส่วนของอาเซียน เนื่องจากได้ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทำให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลายรายการที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนส่งออกไปจีนได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่าที่จีนกำหนดตามเงื่อนไขของ WTO อีกด้วย เช่นการส่งออก PVC และโพลิสไตรีนไปจีน จะได้รับภาษีลดลงจากเดิมร้อยละ 7.6 เหลือเพียงร้อยละ 7.1 เท่านั้น

เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวกว่าร้อยละ 10 ต่อปีจะเป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้จีนยังคงต้องนำเข้าสินค้าปิโตรเคมีค่อนข้างมากต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี และหลังจากปี 2553 เป็นต้นไป จีนจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าปิโตรเคมีจนตอบสนองความต้องการในประเทศได้อย่างพอเพียงยิ่งขึ้น

การส่งออกสินค้าปิโตรเคมีของไทยไปจีน

ในแต่ละปี ไทยสามารถส่งออกสินค้าปิโตรเคมีไปยังจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในส่วนของเม็ดพลาสติก ในช่วงระหว่างปี 2546 – 2549 มูลค่าการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 134.4 และในปี 2549 จีนได้ก้าวขึ้นมาแทนที่ฮ่องกงในฐานะตลาดส่งออกเม็ดพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับไทย ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 909.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 19.0 ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมถึงเม็ดพลาสติกที่ไทยส่งออกไปฮ่องกงซึ่งส่วนหนึ่งมีการส่งต่อไปยังจีนเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อนึ่ง ในปัจจุบันประมาณร้อยละ 25-30 ของเม็ดพลาสติกที่ไทยผลิตได้สามารถส่งออกไปยังตลาดจีนและฮ่องกง ตลาดดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับไทย

สินค้าปิโตรเคมีที่ไทยสามารถส่งออกไปจีนค่อนข้างมากได้แก่เอทิลีนและโพลิอะซิทัล ด้วยมูลค่าการส่งออก 298.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 232.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 29.3 และ 17.9 อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าบางประเภทไปจีนกลับมีแนวโน้มลดลง เช่นไวนิลคลอไรด์ เป็นต้น ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงจากเดิม 64.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2548 เหลือเพียง 46.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2549 หรือลดลงร้อยละ 26.9

ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2550 การส่งออกเม็ดพลาสติกไปจีนมีมูลค่าทั้งสิ้น 524.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 7.29 ประเภทของเม็ดพลาสติกที่ไทยสามารถส่งออกไปจีนได้มากเป็นพิเศษได้แก่โพลิอะซิทัลและเอทิลีน ด้วยมูลค่าการส่งออก 144.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 131.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่มีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากได้แก่ อะมิโนเรซิน และสไตรีน โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 40.2 และ 30.7 ตามลำดับ

อุปสรรคและโอกาสสำหรับไทยในธุรกิจปิโตรเคมีของจีน

ที่ผ่านมาการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทยไปจีนต้องเผชิญกับอุปสรรคบางประการทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. ปัญหาด้านต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้น : อุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และได้ส่งผลต่อเสถียรภาพด้านต้นทุนและราคาสินค้าปิโตรเคมีค่อนข้างมาก และได้สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปิโตรเคมีของไทยปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ในช่วงปี 2549-2550 ไทยยังต้องประสบกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นในเอเชีย แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะช่วยให้ไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง แต่ก็กระทบต่อต้นทุนส่งออกของสินค้าปิโตรเคมีทำให้มีราคาสูงขึ้นกว่าคู่แข่งจากต่างประเทศ

2. ปัญหาด้านการแข่งขันจากต่างประเทศ : สินค้าปิโตรเคมีจัดเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีความแตกต่างของสินค้า (Product Differentiation) ในระดับต่ำและมีผู้ผลิตหลายรายทำให้มีการแข่งขันกันสูง ในขณะที่คู่แข่งทุกรายต่างพยายามรุกตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดสินค้าปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเฉพาะในส่วนของตลาดวัสดุปิโตรเคมีพื้นฐาน อาทิ โพลิโพรพิลีน โพลิเอทิลีน โพลิสไตรีน เป็นต้น ในปี 2549 ไทยเป็นแหล่งนำเข้าโพลิโพรพิลีนอันดับที่ 5 และแหล่งนำเข้าโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) อันดับที่ 9 ของจีน อนึ่ง ผู้นำเข้าสินค้าปิโตรเคมีของจีนมีอำนาจในการต่อรองสูงเนื่องจากมีตัวเลือกในการนำเข้ามาก เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนต้องเน้นการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างมาก

3. ปัญหาด้านกำลังการผลิตในประเทศต่างๆ ที่กำลังขยายตัว : ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ประเทศได้เร่งขยายกำลังการผลิตสินค้าปิโตรเคมี โดยส่วนหนึ่งตั้งเป้าว่าจะสามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ไปยังต่างประเทศที่มีความต้องการสูง เช่นสหรัฐอเมริกา อินเดียและจีน ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของเกาหลีใต้ที่ปัจจุบันมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตโพรพิลีนจาก 325,000 ตันต่อปีเป็น 500,000 ตันต่อปีภายในปี 2551 หรือการ์ตาซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังผลิต EDC จาก 200,000 ตันต่อปี เป็น 500,000 ตันต่อปี เป็นต้น สำหรับจีนเองก็กำลังเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน อาทิ จีนมีการสร้างเอทิลีนแครกเกอร์ขนาด 800,000 ตันต่อปี และหน่วยผลิตโพลิเอทิลีน โพลิโพรพิลีน และพาราไซลีน กำลังผลิตรวม 300,000 ตันต่อปี, 400,000 ตันต่อปี และ 700,000 ตันต่อปีตามลำดับ คาดว่ากำลังผลิตใหม่ของจีนจะทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงปี 2550 – 2552 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้ากำลังการผลิตปิโตรเคมีทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันอุปสงค์ปิโตรเคมีในตลาดโลกกลับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นในช่วงปี 2552 – 2554 การส่งออกสินค้าปิโตรเคมีของไทยไปต่างประเทศรวมถึงจีนเองอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น และหลังจากปี 2554 เป็นต้นไป อุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจะช่วยผ่อนคลายภาวะการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมดังกล่าว

4. ปัญหาการตรวจสอบการทุ่มตลาด : การส่งออกสินค้าปิโตรเคมีของไทยไปจีนต้องเสี่ยงกับปัญหาด้านการตรวจสอบการทุ่มตลาดจากจีน เช่นในกรณีการส่งออกโพลิสไตรีน เป็นต้น ในเดือน ก.พ. 2544 จีนมีการตรวจสอบการทุ่มตลาดสินค้าโพลิสไตรีนจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไทย ในส่วนของไทยเอง มีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 6 รายที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และร้อยละ 42 ของวัสดุโพลิสไตรีนทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปจีนเข้าข่ายการตรวจสอบในครั้งนี้ ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยในปี 2544 ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกสไตรีนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับโพลิสไตรีนลดลงจาก 31.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2543 เหลือเพียง 22.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2544 หรือลดลงร้อยละ 30.2 อย่างไรก็ตามในเดือน ธ.ค. 2544 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิก WTO จีนได้ยุติการดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว และส่งผลให้ในปี 2545 ไทยสามารถส่งออกเม็ดพลาสติกสไตรีนไปจีนเพิ่มเป็น 30.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0

5. ปัญหาการลงทุนในจีนที่ไทยเสียเปรียบต่างประเทศ : หลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิก WTO จีนก็ได้อนุญาตให้บริษัทปิโตรเคมีจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนก่อตั้งโรงงานในจีนเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมา มีผู้ผลิตสินค้าปิโตรเคมีรายใหญ่ของโลกจำนวนไม่น้อย อาทิ BASF และ BP เป็นต้น ได้เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทิลีนขนาดใหญ่ และสามารถเข้ายึดครองตลาดเอทิลีนของจีนได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 นอกจากนี้บริษัทข้ามชาติยังได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตวัสดุปิโตรเคมีอื่นๆ เช่น โพลิสไตรีน, ABS, PTA ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการของไทยยังเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ฯลฯ เนื่องจากผู้ประกอบการจากประเทศเหล่านี้มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงกว่าไทย จึงมีโอกาสได้รับการอนุมัติให้ลงทุนในจีนมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยของไทยที่มีเงินลงทุนและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีน้อยกว่า

แม้ว่าผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับปัญหานานัปการดังกล่าวข้างต้น แต่ไทยก็ยังมีโอกาสได้ประโยชน์จากตลาดปิโตรเคมีของจีนที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออก ซึ่งแม้ว่ากำลังผลิตใหม่ของจีนจะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงปี 2550-2552 นี้ แต่อุปสงค์ในประเทศในช่วงดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นเช่นกันทำให้คาดว่าจีนต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่ปริมาณการนำเข้าของจีนจะเริ่มลดระดับลง ดังนั้น ในระยะสั้นไทยยังคงมีโอกาสส่งออกสินค้าปิโตรเคมีไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าที่ยังมีแนวโน้มส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคตได้แก่อะมิโนเรซิน และสไตรีน และโพรพิลีน เป็นต้น ส่วนในระยะยาวการส่งออกของไทยอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งในด้านของอุปทานที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกและจากการที่จีนเองก็สามารถผลิตให้เพียงพอต่ออุปสงค์ในประเทศมากขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้เอง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยทุกภาคส่วนควรเร่งพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อการปรับตัวดังต่อไปนี้

1. ภาครัฐอาจพิจารณาจัดตั้งคณะศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าปิโตรเคมีที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้น และให้สามารถผลิตสินค้าปิโตรเคมีที่การแข่งขันไม่สูงมากนัก

2. ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาจัดตั้งหรือขยายสาขาสำนักงานในจีนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นำเข้าของจีน เช่นที่ผ่านมา พีทีทีโพลิเมอร์ฯ มีการเปิดสาขากวางเจา และอยู่ในช่วงขยายสาขาสู่เซี่ยงไฮ้และเฉิงตู เป็นต้น เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเม็ดพลาสติก ทั้งนี้ การตั้งสาขาในประเทศจีนยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น และทำให้สามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีนได้มากขึ้นด้วย

3. ภาครัฐควรดำเนินนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนของไทยขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการลงทุนและมีความพร้อมด้านทรัพยากรแรงงานและวัตถุดิบ เช่นเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรและวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

จากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดปิโตรเคมีของจีนอย่างต่อเนื่องในอนาคต ผู้ประกอบการไทยจึงยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกไปจีนให้มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์และสร้างความเข้าใจด้านกฎระเบียบและความต้องการของตลาดปิโตรเคมีของจีนให้มากขึ้นเพื่อรักษาตลาดส่งออกที่สำคัญดังกล่าวให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อนึ่ง แม้ว่าจีนจะเป็นตลาดส่งออกสินค้าปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของไทย แต่ผู้ประกอบการของไทยเองก็ไม่ควรละเลยตลาดในประเทศใกล้เคียงอื่นๆ อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยเช่นกัน อันจะช่วยกระจายความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดปิโตรเคมีของจีนมีความผันผวนได้อีกด้วย