ตลาดรถจักรยานยนต์ ส.ค. หดตัวต่อเนื่อง ส่งผลยอดจดทะเบียนสะสม 8 เดือน ลดลง 17%

ตลาดรถจักรยานยนต์ยังคงเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ส.ค. มียอดจดทะเบียนหดตัวถึง 23% ส่งผลให้ปริมาณสะสม 8 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 17% ซึ่งสะท้อนถึงสภาวะถดถอยของตลาด อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประกอบกับเป็นช่วงนอกฤดูการขาย ในขณะที่ฮอนด้าเน้นกลยุทธ์หลากหลาย เพื่อกระตุ้นและสร้างความตื่นตัวให้กับตลาด

นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมของรถจักรยานยนต์โดยรวมในช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีปริมาณทั้งสิ้น 136,716 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 178,667 คันแล้ว มีปริมาณจดทะเบียนลดลงถึง 41,951 คัน เป็นผลให้มีอัตราการเติบโตหดตัวลง 23% สะท้อนถึงสภาวะถดถอยของตลาดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาพชะลอตัว และส่งผลกระทบถึงกลุ่มผู้บริโภคในระดับรากหญ้าอันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ประกอบกับในระยะนี้เป็นช่วงของฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูการขายสำหรับตลาดรถจักรยานยนต์

จากการหดตัวลงของยอดจดทะเบียนในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณจดทะเบียนสะสมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ คือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ส.ค. มีจำนวนเพียง 1,122,603 คัน ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีจำนวน 1,349,028 คัน ส่งผลให้มีปริมาณการจดทะเบียนลดลงถึง 226,425 คัน ซึ่งเท่ากับมีอัตราการเติบโตลดลง 17%

ในส่วนรายละเอียดของยอดการจดทะเบียนประจำเดือน ส.ค. นั้น รถจักรยานยนต์แบบครอบครัวยังคงได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องมาจากมีคุณสมบัติโดดเด่นในด้านประหยัดน้ำมัน สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณจดทะเบียน 70,867 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 52% ในขณะที่รถจักรยานยนต์แบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือแบบเกียร์อัตโนมัติ ซึ่งมีอัตราการเติบโตชะลอตัวนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของไตรมาสที่สอง ยังคงมีสัดส่วนตลาดลดน้อยลง โดยมียอดจดทะเบียน 60,016 คัน สัดส่วนตลาด 44% ส่วนรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวกึ่งสปอร์ตมีจำนวน 4,409 คัน สัดส่วนตลาด 3% รถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 986 คัน สัดส่วนตลาด 1% และรถจักรยานยนต์ประเภทอื่นๆ 438 คัน

สำหรับรถจักรยานยนต์ฮอนด้านั้น ยังคงได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นอย่างดี โดยปริมาณจดทะเบียนสะสมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีทั้งสิ้น 792,012 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 71% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีปริมาณ 904,310 คัน และมีสัดส่วนตลาด 67% ปรากฏว่ามีอัตราการเติบโตลดลงเพียง 12% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเติบโตลดลงของตลาดโดยรวม

โดยทั้งนี้มีส่วนสำคัญมาจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ พร้อมกับแคมเปญด้านส่งเสริมการจำหน่ายที่สามารถตอบสนองตรงกับความต้องการและเข้าถึงไลฟ์สไตล์ ของกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมา ทางฮอนด้าได้ใช้กลยุทธ์การตลาดหลากหลาย ทั้งในรูปแบบของกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ด้วยการพัฒนารูปลักษณ์โฉมใหม่ให้กับรถจักรยานยนต์แบบ เอ.ที. รุ่นยอดนิยม ฮอนด้า แอร์เบลด ตลอดจนการทำตลาดในรูปแบบ Sponsorship Marketing เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์รวมทั้งเป็นกลยุทธ์ที่เข้าตรงสู่ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากการจัดกิจกรรมร่วมกับเกมออนไลน์ “คาบาล” เพื่อชิงรางวัลรถจักรยานยนต์ฮอนด้ารุ่น คลิก เพลย์ พร้อมทั้งเป็นผู้สนับสนุนหลักการถ่ายทอดสดศึกแข่งขันฟุตบอลรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และสนับสนุนการกีฬาแห่งประเทศไทยในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติรายการต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้วยังได้จัดแคมเปญในด้านความประหยัด ภายใต้สภาวะราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ แคมเปญ “ขี่เวฟ…เซฟสุดสุด” ซึ่งเป็นแคมเปญด้านการประชาสัมพันธ์ โดยนำคุณสมบัติเด่นด้านประหยัดน้ำมันของรถจักรยานยนต์ฮอนด้าตระกูลเวฟ มาประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สู่กลุ่มผู้บริโภค ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำความประหยัดสู่กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์แล้ว ยังเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นและสร้างความตื่นตัวให้กับตลาดด้วยเช่นกัน