สินค้าปลอมปนสารพิษ : บทเรียนจากจีนสู่ไทย

ปี 2550 เป็นต้นมา เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสินค้าจีนได้ส่งผลให้จีนตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักจากสื่อมวลชนในต่างประเทศ โดยแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินแต่ยังได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ยาและเวชภัณฑ์ ของใช้ในครัวเรือน ฯลฯ

ในเดือนพฤษภาคม 2550 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ เริ่มดำเนินการสืบสวนกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในมณฑลซานตงทางตอนเหนือของประเทศจีน เนื่องจากตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสาร
เมลามีนในอาหารสัตว์เลี้ยงที่ส่งไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ ทั้งนี้ เมลามีนถือเป็นโปรตีนเทียมชนิดหนึ่ง (Fake Protein) เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้สุนัขและแมวในสหรัฐฯ ที่ทานอาหารสัตว์เลี้ยงดังกล่าวล้มป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว สหรัฐฯได้ประกาศระงับการนำเข้ากลูเตนที่ผลิตได้จากแป้งสาลีจากจีน รวมทั้งเรียกคืนสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากจีนรวมกว่า 60 ล้านกล่อง ครอบคลุมสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงประมาณ 100 ยี่ห้อ ส่วนทางการจีนเองก็ได้สั่งยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการของทั้ง 2 บริษัท เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอีกด้วย

หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญผู้บริโภคอีกครั้ง โดยในเดือนมิถุนายน 2550 มีผู้บริโภคชาวโดมินิกันและปานามาเสียชีวิตจากการใช้ยาสีฟันจีนยี่ห้อ Excel และ Mr Cool หลังการตรวจสอบพบว่ายาสีฟันยี่ห้อดังกล่าวมีส่วนผสมของสารพิษไดเอทธิลีนไกลคอล หรือดีอีจี ส่วนในแคนาดาเองได้มีการออกคำเตือนให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันจีนเช่นกันเนื่องจากพบว่ามีถึง 21 ยี่ห้อที่มีการปนเปื้อนสารดีอีจีในปริมาณที่เป็นอันตราย ส่วนในสหรัฐฯเอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ตรวจพบยาสีฟันที่ต้องสงสัยว่ามีการปนเปื้อนสารเคมีมีพิษวางจำหน่ายในร้านต่าง ๆ ตามชุมชนกว่า 10 แห่ง รวมถึงยาสีฟันที่ลอกเลียนแบบยี่ห้อดังของสหรัฐฯเองซึ่งต้องสงสัยว่าผลิตในจีน จนทางการสหรัฐฯ ต้องออกมาเตือนผู้บริโภคเช่นกัน ล่าสุดหลายๆประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้สั่งชะลอการนำเข้ายาสีฟันที่ผลิตในจีนแล้ว

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น สื่อมวลชนของสหรัฐฯได้เปิดโปงการกระทำของผู้ประกอบการจีนอันขัดต่อหลักความปลอดภัยด้านอาหาร ทางการจีนเองก็ได้ออกมาตอบโต้สหรัฐฯโดยเรียกร้องให้ยุติการโจมตีหรือการทำให้สินค้าจีนได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยไม่มีหลักฐาน พร้อมกันนี้ยังระบุอีกว่าจีนมิได้เพิกเฉยหรือพยายามจะปกปิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กำลังดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขกรณีอื้อฉาวต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภคของจีน อีกทั้งยังกล่าวว่าที่ผ่านมาสื่อมวลชนมีการเผยแพร่ข่าวเกินความเป็นจริง เนื่องจากสถิติการส่งออกอาหารจีนไปยังสหรัฐฯในปี 2549 มีสินค้าจีนที่ได้มาตรฐานตามที่สหรัฐฯ กำหนดถึงร้อยละ 99.2 ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมที่สื่อมวลชนจะมุ่งโจมตีประเด็นด้านความปลอดภัยของสินค้าจีน เนื่องจากจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

สำหรับประเทศไทยเองก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เฉพาะในส่วนของสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ในปี 2549 ไทยสามารถส่งออกคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 8.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 14.93 ปัจจุบันผู้นำเข้ารายใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ เริ่มตื่นตัวในด้านความปลอดภัยของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น และกดดันให้รัฐบาลของตนดำเนินมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้ไทยเองในฐานะผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคจะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

จีนเร่งจัดการปัญหาด้านความปลอดภัยของสินค้า

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อการกวาดล้างการทุจริตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจับกุมและลงโทษผู้ผลิตยาปลอม เฉพาะในปี 2544 คาดว่ามีชาวจีนถึง 192,000 รายที่ต้องเสียชีวิตลงจากการใช้ยาปลอม ในปีเดียวกันนั้นทางการจีนได้สั่งปิดโรงงาน 1,300 แห่งที่เป็นแหล่งผลิตยาปลอมมากถึง 48,000 รายการ คิดเป็นมูลค่า 57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,280 ล้านบาท นอกจากนี้ ทางการจีนยังกำหนดบทลงโทษสำหรับบริษัทยาที่จ่ายเงินสินบนไม่ให้ทำธุรกิจกับสถาบันการแพทย์ทุกแห่งของรัฐบาลนานถึง 2 ปี และยังเพิ่มบทลงโทษสำหรับแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเงินสินบนด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์อีกด้วย จากเดิมที่เป็นการปรับเงินแต่เพียงอย่างเดียว

ในเดือนมิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้สั่งประหารชีวิตนายเจิ้งเสี่ยวยวี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยาของจีน ด้วยข้อหาว่าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่นั้น เขารับเงินสินบน 6.49 ล้านหยวนเพื่อแลกกับการอนุมัติให้บริษัทยาหลายแห่งเดินหน้าโครงการผลิตยาตัวใหม่ๆ ออกสู่ตลาด นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการบริโภคยาปฏิชีวนะที่ได้รับใบอนุญาตในช่วงที่นายเจิ้งดำรงตำแหน่งอีกด้วย ส่งผลให้รัฐบาลจีนทบทวนใบอนุญาตยากว่า 100,000 รายการ และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการจีนยังได้ออกมาแก้ข่าวกรณีที่มีผู้สื่อข่าวของจีนกุเรื่องว่ามีโรงงานผลิตซาลาเปาแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งผลิตไส้หมูโดยใช้ลังกระดาษแช่โซดาไฟผสมกับเนื้อหมู โดยทางการจีนได้ทำการลงโทษนักข่าวที่ทำให้ชื่อเสียงของประเทศต้องเสื่อมเสียอีกด้วย

อนึ่ง มาตรการปราบปรามการทุจริตที่เด็ดขาดของรัฐบาลจีนสะท้อนให้เห็นว่าทางการจีนให้ความสำคัญต่อการควบคุมคุณภาพอาหารและยาของจีนรวมถึงภาพลักษณ์ความปลอดภัยของสินค้าจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากการสุ่มตรวจของรัฐบาลจีนเอง พบว่ายังมีผู้ผลิตอาหารของจีนถึงร้อยละ 60 ที่ยังไม่มีระบบตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตน ดังนั้นปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในอาหารสัตว์และยาสีฟันอาจเป็นเพียงกระจกบานเล็กๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคอีกยาวไกลที่รัฐบาลจีนต้องเผชิญในการพัฒนาและเสริมสร้างความโปร่งใสและความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบธุรกิจ

การนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศของไทย

ปัญหาด้านความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ของจีนยังส่งผลกระทบถึงไทยด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาไทยนำสินค้าจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศค่อนข้างมาก โดยในปี 2549 เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไทยนำเข้าจากจีนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 70,681 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปี ซึ่งยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่ไทยนำเข้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า 3,096.20 ล้านบาทในปี 2549 หรือขยายตัวจากปี 2548 ร้อยละ 28.30 ในแต่ละปีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคและเวชภัณฑ์จากจีนมีอัตราการขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับแหล่งนำเข้าที่สำคัญอื่นๆ

ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในไทยโดยตรง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการควบคุมมาตรฐานสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ในช่วงปี 2547-2549 คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ตรวจพบการลักลอบนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพหรือสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากหลายๆ ประเทศ เช่นยาลอกเลียนแบบจากอินเดีย จีน ปากีสถาน ฯลฯ ในปี 2547 ด่านอาหารและยาของไทยตรวจพบสินค้าที่มีข้อบกพร่องคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7,379 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านบาทในปี 2548 ในส่วนของสินค้าจีนที่พบว่าไม่ตรงตามมาตรฐานหรือสินค้าต้องห้ามคิดเป็นส่วนน้อยของมูลค่าการนำเข้าจากจีนทั้งหมด โดยสินค้าที่ตรวจพบรวมไปถึงวัคซีนไข้หวัดนก ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงยาลดความอ้วนปลอม ฯลฯ สินค้าเหล่านี้พบมากที่ด่านทางภาคเหนือของไทย ในส่วนของยาเสริมสมรรถภาพทางเพศที่มีการลักลอบนำเข้าจากประเทศจีน หลังการตรวจสอบส่วนประกอบทางเคมีของยาเหล่านี้พบว่าโดยเฉลี่ยจะมีส่วนประกอบของตัวยาที่ออกฤทธิ์จริงเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ในขณะที่เนื้อยาส่วนใหญ่จะเป็นแป้งและน้ำตาลแลคโตสซึ่งไม่ใช่ตัวยาแต่อย่างใด

บทเรียนสำหรับไทยในการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศรวมถึงไทยเองต้องเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจอย่างหนักจากจีน โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าส่งออกที่ต้องใช้แรงงานค่อนข้างมากเช่น อาหารแปรรูป สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ของเล่น ฯลฯ จีนจะมีความได้เปรียบไทยทั้งในด้านทรัพยากรและต้นทุนแรงงาน จึงทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคของจีนหลายๆประเภทมีราคาถูกกว่าสินค้าไทย อย่างไรก็ตาม วิกฤติด้านความเชื่อมั่นที่มีต่อสินค้าจากจีนในครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับไทยในด้านการส่งออก โดยในอนาคตไทยควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับจีนในด้านต้นทุนและราคาของสินค้า แต่ควรชูประเด็นด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าไทยให้มากขึ้น และใช้ภาพลักษณ์ของสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยอีกหลายๆ ประเภทที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ อาทิ ข้าวหอมมะลิ เนื้อไก่ปรุงสุก เวชภัณฑ์สมุนไพรไทย ฯลฯ เพื่อปูภาพลักษณ์คุณภาพและมาตรฐานสินค้าประเภทอื่นๆต่อไป

อนึ่ง ที่ผ่านมาไทยเองก็มีสินค้าบางประเภทที่ถูกระบุว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อาทิ ผลผลิตทางการเกษตร ยาและเวชภัณฑ์ ฯลฯ ดังที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่าผักผลไม้ส่งออกของไทยมีการปนเปื้อนสารเคมีเกินอัตราที่กำหนดจนต้องถูกส่งกลับประเทศ หรืออย่างเช่นกรณีเนื้อหมูที่วางขายในประเทศมีการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง หรืออาหารสดอาหารทะเลของไทยปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน สารฟอกขาว เป็นต้น รวมถึงกรณียาลูกกลอนของไทยที่มีการตรวจพบเชื้อรา เครื่องสำอางของไทยมีการเจือปนสารปรอท ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาพลักษณ์ความปลอดภัยของสินค้าไทยโดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าทุกภาคส่วนของไทยควรร่วมมือกันในการทบทวนมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสินค้าที่ผลิตในประเทศให้เข้มงวดรัดกุมกว่าเดิม และในส่วนของภาครัฐเองอาจพิจารณาประเด็นข้อเสนอแนะดังนี้

ภาครัฐควรกำหนดประเด็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าที่ผลิตหรือวางจำหน่ายในประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวต่อภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าด้อยคุณภาพ และเพื่อสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยของสินค้าทั้งแก่ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้บริโภค โดยในส่วนของผู้นำเข้า / ผู้ส่งออกควรเอาใจใส่คุณภาพของสินค้าที่ตนนำเข้าและส่งออก และประสานกับหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพของภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าเหล่านี้ตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยของไทยหรือประเทศปลายทางที่ส่งออก และในส่วนของผู้บริโภคเอง ภาครัฐควรมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของสินค้าที่ปลอดภัยเป็นสำคัญ เนื่องจากทุกวันนี้ภาวะทางเศรษฐกิจมักจะกดดันให้ผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำหาทางออกด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกที่สุดโดยบางครั้งอาจลืมคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าจนส่งผลกระทบตามมาในภายหลัง

ภาครัฐควรจะกวดขันให้ผู้ผลิตเอาใจใส่ในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลการผลิตและเทคโนโลยีเพื่อให้ผลผลิตตรงตามมาตรฐานความปลอดภัย นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อให้ผู้ผลิตปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตของไทยเองควรตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยและให้ได้มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

 ที่ผ่านมาเคยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมหารือกันถึงความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรกลางโดยเฉพาะเพื่อควบคุมมาตรฐานของสินค้าส่งออก จากเดิมที่หน่วยงานที่ดูแลด้านมาตรฐานสินค้าของไทยมีหลายหน่วยงาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองเวลา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการจัดตั้งองค์กรกลางที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมมาตรฐานของสินค้าส่งออกจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกของไทย ช่วยร่นระยะเวลาในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และแก้ปัญหากระบวนการตรวจสอบคุณภาพที่ซ้ำซ้อนกันของหน่วยงานต่างๆ ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งรัดจัดตั้งองค์กรในรูปแบบที่รวมเอาความเชี่ยวชาญของหลายๆหน่วยงานของรัฐ เช่นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อรับผิดชอบด้านการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งออกอย่างเบ็ดเสร็จอันจะช่วยให้กระบวนการตรวจสอบสินค้าส่งออกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ภาครัฐควรเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ผลิต / ผู้นำเข้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เช่นสินค้าเกษตร ปศุสัตว์ ประมง เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง ฯลฯ รวมถึงลงโทษผู้ที่ลอกเลียนแบบสินค้าของผู้ผลิตไทยอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้สินค้าด้อยคุณภาพส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตลูกอมชื่อดังยี่ห้อหนึ่งของจีน เป็นต้น โดยลูกอมดังกล่าวถูกทางการฟิลิปปินส์ตรวจสอบพบการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน ซึ่งต่อมาได้มีการหยิบยกประเด็นที่ว่าตัวอย่างสินค้าที่ตรวจสอบอาจเป็นสินค้าลอกเลียนแบบ ทั้งนี้ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะชี้ให้เห็นว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าลอกเลียนแบบจริงหรือไม่ แต่ข่าวที่เผยแพร่ออกไปก็ได้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสินค้าแล้ว

แม้ว่าวิกฤติด้านความเชื่อมั่นที่มีต่อสินค้าจากประเทศจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง แต่ก็น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้ประกอบการไทยได้เช่นกัน ที่ผ่านมาประเด็นด้านความปลอดภัยของสินค้าไทยเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ เช่นสหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น มักหยิบยกขึ้นบ่อยครั้งเพื่อเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าของไทย ดังนั้น การยกระดับคุณภาพสินค้าของไทยให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นจึงไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญอื่นๆ อาทิ จีน มาเลเซีย และเวียดนามเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสให้การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย