โรงพยาบาลเอกชนไทยโตต่อ เร่งพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยีการรักษา และบริการหนีคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ แนวโน้มเน้นเปิดศูนย์การรักษาเฉพาะทางมากขึ้น ล่าสุด โรงพยาบาลเจ้าพระยา ขยับเปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืน สร้างความแตกต่างรับวิถีชีวิตคนเมือง ที่ไม่สะดวกในการเข้ารับการรักษาในเวลาปกติ และการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง
น.พ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวถึง การเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนว่า แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อธุรกิจโรงพยาบาลมากนัก เพราะไทยยังมีหมอและพยาบาลไม่เพียงพอ อีกทั้งการป่วยไข้และการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลยังเติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษากว่า 40% มาจากต่างจังหวัด เพราะความเชื่อมั่นและจำนวนแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นชาวต่างชาตินั้น มีทั้งที่เข้ามารับการรักษาโดยตรง และที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในประเทศไทย
ด้านการผลักดันให้ไทยเป็น เมดิคัล ฮับ นั้น ก็มีส่วนช่วยให้เราเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันถือว่านำหน้าคู่แข่งอย่างสิงค์โปร์ไปแล้ว จากความสามารถของบุคลากร เทคโนโลยี และวิทยาการการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย เป็นรองเฉพาะญี่ปุ่น หากเทียบกับสิงคโปร์แล้วประเทศไทยมีโรงพยาบาลและแพทย์มากกว่า และมีหัวใจด้านบริการที่เหนือกว่า ที่สำคัญค่ารักษาพยาบาลซึ่งถูกกว่าอเมริกาถึง 10 เท่า และถูกกว่าสิงคโปร์กว่า 5 เท่า โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้ป่วยต่างประเทศประมาณ 10% เพิ่มขึ้นปีละกว่า 20% เฉพาะช่วงสองปีที่ผ่านมามีชาวอเมริกันที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดระยะสุดท้าย มาขอเข้ารับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด หรือ Stem Cells ไปแล้วกว่า 100 ราย สิ่งที่ต้องเร่งทำต่อไปก็คือการพัฒนาศักยภาพและความสามารถด้านต่างๆ ของบุคลากรมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องภาษา หากรัฐต้องการให้เราสามารถเป็น เมดิคัลฮับ ที่ยั่งยืน ก็ต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะคู่แข่งที่น่ากลัวขณะนี้คือ อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ส่วนแผนพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลเจ้าพระยานั้น ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการเน้นการรักษาผู้ป่วยทั่วไปด้วยแพทย์เฉพาะทาง มีการลงทุนด้านสถานที่ เครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนจุดเด่นของโรงพยาบาลฯ นั้น อยู่ที่การมีอาจารย์แพทย์ชั้นนำ โดยเฉพาะจากศิริราชและอีกหลายสถาบันมาออกตรวจรักษาผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ทั้งยังอยู่บนทำเลที่ดี ใกล้แหล่งชุมชนและแหล่งธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเยาวราช บางลำพู เขตฝั่งธนบุรี รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง นนทบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และราชบุรี
สำหรับการเปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืน ซึ่งเป็นบริการใหม่ของทางโรงพยาบาลฯ นั้น เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า การเจ็บป่วยเลือกเวลาไม่ได้ บ่อยครั้งผู้ป่วยไม่ทราบว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายหรือไม่ จนกว่าจะพบกันแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งหากเกิดเจ็บป่วยนอกเวลาทำการก็จะพบแต่หมอเวร หรือแพทย์ฝึกหัด ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการรักษา ก็ต้องรอจนถึงเช้าเพื่อไปพบแพทย์เฉพาะทาง แต่บางครั้งการเจ็บป่วยรอไม่ได้หรือตัวผู้ป่วยเองก็ไม่มีเวลาในช่วงกลางวัน ทางโรงพยาบาลฯ จึงนำแนวคิดนี้มาพัฒนาเพื่อตอบสนองกับกลุ่มคนดังกล่าว และจากการเปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทางก่อนหน้านี้ทั้ง ศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง ศูนย์กุมารเวช 24 ชั่วโมง และศูนย์จักษุ 24 ชั่วโมง ไปแล้ว พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งความสำเร็จของการตอบสนองผู้มารับบริการช่วงกลางคืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการร่วมแรงใจของทีมงาน โดยเฉพาะทีมแพทย์ที่สมัครใจ เสียสละเวลาส่วนตัว เวลากับครอบครัว มาทำงานในตอนกลางคืน เพื่อร่วมพัฒนาบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนกับเรา
ด้านบริการของศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืนนั้น ประกอบไปด้วยการให้บริการเฉพาะทางด้านอายุรแพทย์, อายุรแพทย์โรคหัวใจ, ศัลยแพทย์, ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ, จักษุแพทย์, สูตินรีเวช และกุมารแพทย์ และเร็วๆ นี้จะมีการเปิดคลินิกตรวจสุขภาพเที่ยงคืน และคลินิกความเครียดเที่ยงคืน อีกด้วย ส่วนค่ารักษาพยาบาลและการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายต่างๆ ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลกับศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืนนั้น ทุกอย่างเป็นตามอัตราปกติเหมือนภาคกลางวัน รวมถึงค่าห้องปฏิบัติการ ห้องเอ็กซเรย์ ห้องผ่าตัด และสามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายได้เช่นเดียวกับเวลาปกติด้วย
น.พ.พงษ์พัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากการเปิดศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาว่า ความสำเร็จของศูนย์แพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืนจะเป็นแนวทางและแรงกระตุ้นให้หลายๆ โรงพยาบาลในต่างจังหวัดและโรงพยาบาลรัฐเปิดบริการในลักษณะเดียวกันมากขึ้น ถือเป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม เนื่องจากสามรถใช้สถานที่ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพงได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ดีกว่าการไปสร้างโรงพยาบาลใหม่หรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ราคาแพงแต่ใช้งานได้ไม่คุ้มค่า