บอร์ดตลท. อนุมัติขยายเวลากำหนดเงื่อนไขซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตและผ่อนผันการจ่าย

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติให้ขยายเวลาการกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตโดยคิดอัตราค่าธรรมเนียมซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตขั้นต่ำร้อยละ 0.15 สำหรับผู้ลงทุนบุคคลที่ใช้บัญชีแบบวางเงินล่วงหน้า (Cash Balance) และบัญชี เงินกู้ยืม (Credit Balance) ส่วนผู้ลงทุนที่ไม่ใช้บัญชีดังกล่าวยังคงใช้อัตราขั้นต่ำร้อยละ 0.20 และผ่อนผันให้โบรกเกอร์จ่าย ผลตอบแทนเจ้าหน้าที่การตลาดไม่เกินร้อยละ 27.5 ของรายได้ค่านายหน้าได้ทุกเดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดปี 2550 ไปจนถึงสิ้นปี 2552 นอกจากนี้ ให้คงข้อบังคับฯ ในกรณีการคิดค่าธรรมเนียมกับโบรกเกอร์ต่างประเทศในลักษณะคู่ค้าหรือ Exclusive Partner

นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติในการประชุมวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ให้ขยายเวลาการกำหนดเงื่อนไขการซื้อขาย หลักทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ตของผู้ลงทุนทั่วไป ที่ซื้อขายผ่านบัญชี Cash Balance และบัญชี Credit Balance เสียค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.15 ของมูลค่าซื้อขาย (ร้อยละ 60 ของอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายทั่วไป) ส่วนผู้ลงทุนที่ซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตผ่านบัญชีที่ไม่ต้องวางเงินสดล่วงหน้า เสียค่าธรรมเนียมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.20 เช่นเดิม ทั้งนี้ แนวทางขยายค่าธรรมเนียม ดังกล่าว จะมีผลจนถึงสิ้นปี 2552

“คณะกรรมการเห็นว่าการคิดค่าธรรมเนียมตามแนวทางดังกล่าว มีส่วนขยายฐานผู้ลงทุนที่ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2549 ประมาณร้อยละ 17 ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตต่อมูลค่าการซื้อขายรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ ยังเป็นแนวทางในการช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทสมาชิก และยังเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนระยะยาวแก่ผู้ลงทุนด้วย” นายสุทธิชัยกล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีมติขยายเวลาให้บริษัทสมาชิกจ่ายผลตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่การตลาดได้ตามจำนวนเดิม คือไม่เกินร้อยละ 27.5 ของรายได้ค่านายหน้าของบริษัท และจ่ายได้ทุกเดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2550 ออกไปอีก 2 ปี เป็นสิ้นสุดปี 2552 ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่การตลาด เนื่องจากสภาพการซื้อขายยังไม่เอื้ออำนวยต่อการกำหนดให้สมาชิกจ่ายผลตอบแทนส่วนหนึ่งในอัตราร้อยละ 25 ทุก 6 เดือน ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยด้านคุณภาพประกอบ

อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเห็นว่า การพิจารณาปัจจัยด้านคุณภาพประกอบกับปัจจัยด้านมูลค่าการซื้อขายนั้น เป็นหลักการที่ดีที่จะช่วยพัฒนาการให้บริการ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าโดยรวม จึงได้ขอให้บริษัทสมาชิกได้พิจารณาทบทวนผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่การตลาด โดยใช้ปัจจัยอื่นประกอบการจ่ายผลตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่การตลาดในเชิงภาพรวมด้วย

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกในประเด็นที่กล่าวข้างต้น โดยจะจัดประชุมวิสามัญสมาชิกและนำเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการก.ล.ต.ต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้มีมติให้คงข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศในลักษณะคู่ค้า หรือ Exclusive Partner ซึ่งกำหนดให้คิดในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของอัตราขั้นต่ำ โดยมีเงื่อนไขสำคัญให้สมาชิกทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศในลักษณะ 1:1 และให้บริษัท หลักทรัพย์ต่างประเทศต้องคิดค่าธรรมเนียมจากลูกค้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.25 และต้องมีการถ่ายทอดความรู้ บทวิเคราะห์ หลักทรัพย์ และ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ในอนาคต

ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการสร้างโอกาสให้แก่บริษัทสมาชิกได้ทำธุรกิจกับต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายฐานผู้ลงทุนต่างประเทศ และยังเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เตรียมตัวสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจเพื่อ รองรับและให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 นอกจากนี้ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนโดยในช่วงปี 2553 – 2554 อัตราค่าธรรมเนียมจะเปลี่ยนเป็นแบบขั้นบันได ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท สามารถต่อรองได้โดยเสรี ดังนั้นการมี Exclusive Partner เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเสรีในอนาคต และเป็นประโยชน์สำหรับตลาดทุนโดยรวม