เคทีซีชี้ธุรกิจสินเชื่อบุคคลฉลุย ส่งผล 9 เดือน กำไรสุทธิ 448 ล้านบาท

เคทีซีเผยผลประกอบการสิ้นสุด 30 กันยายน 2550 กำไรสุทธิ 9 เดือนแรก 448 ล้านบาท รายได้รวมทะลุ 7,777 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ถึง 29% และ 35% ตามลำดับ มีฐานสมาชิกรวมกว่า 1.92 ล้านบัญชี ผลจากการขยายตัวของพอร์ตสมาชิกใหม่สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บวกกับความสามารถในการบริหารคุณภาพลูกหนี้และควบคุมอัตราการค้างชำระได้ต่ำกว่าเกณฑ์ เดินหน้า กลยุทธ์ไตรมาสสุดท้ายรับมือสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขยายฐานสมาชิกไปที่ตลาดภูมิภาคมากขึ้น ควบคู่กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในชีวิตประจำวันแบบเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Lifestyle Segmentation) โดยเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ระหว่างเคทีซีกับพันธมิตรเพื่อสร้างความคุ้มค่าให้สมาชิก ทั้งสิทธิพิเศษในการผ่อนชำระสินค้า การใช้คะแนนสะสมที่น้อยกว่าในการแลกสินค้าและบริการ

นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “แม้ว่าผู้บริโภคจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และการได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น แต่เคทีซียังคงความสามารถในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จากการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในหลายด้านให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านการบริหารคุณภาพลูกหนี้ และการกระตุ้นให้สมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเลือกที่จะใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันและใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จดีกับธุรกิจในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2550 บริษัทฯ มีฐานสมาชิกรวม 1,924,434 บัญชี โดยสมาชิกใหม่ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อบุคคล เคทีซี แคช (KTC CASH) โดยเฉพาะสินเชื่อพร้อมใช้ เคทีซี แคช รีโวล์ฟ (KTC CASH Revolve) สำหรับจำนวนบัตรเครดิตรวม ณ 30 กันยายน 2550 เท่ากับ 1,453,270 บัตร และเคทีซี แคช เท่ากับ 467,575 บัญชี และสินเชื่อเจ้าของกิจการ เคทีซี มิลเลี่ยน เท่ากับ 3,589 บัญชี ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมยังคงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2549 และบริษัทฯ มีอัตราการค้างชำระ 30-179 วัน (Delinquency Rate) ของลูกหนี้ทุกธุรกิจต่ำกว่าเกณฑ์ของอุตสาหกรรม”

“สำหรับฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 44,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากสิ้นปี 2549 ในขณะที่พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิ 42,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จาก 39,120 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 เนื่องจากการให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการเพิ่มยอดชำระหนี้ขั้นต่ำจาก 5% เป็น 10% ของยอดหนี้ค้างชำระ จึงส่งผลให้มูลค่ารวมของพอร์ตเคทีซีเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ประกอบด้วยยอดลูกหนี้ บัตรเครดิตสุทธิ 28,245 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล เคทีซี แคช สุทธิ 11,288 ล้านบาท และสินเชื่อเจ้าของกิจการ เคทีซี มิลเลี่ยน สุทธิ 2,270 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 9 เดือนเท่ากับ 448 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.74 บาท และกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2550 เท่ากับ 169 ล้านบาท เติบโตจากปี 2549 เท่ากับ 28%”

“ในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปี 2549 สำหรับรายได้รวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 7,777 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 35% เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน และรายได้ค่าธรรมเนียมที่มีสัดส่วนคิดเป็น 71% และ 26% ของรายได้รวม อย่างไรก็ตาม สำหรับงวด 9 เดือนนี้ ต้นทุนเงินทุนของบริษัทฯ เริ่มจะทยอยลดลงโดยมีค่าเท่ากับ 4.87% จากครึ่งปี 2550 ที่มีค่า 5.06% ขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้รับอัตรารายได้ดอกเบี้ยรับเฉลี่ยสูงขึ้นจากการคิดอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตที่อัตรา 20% จากเดิมที่ 18% ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ของบริษัทฯ สำหรับงวด 9 เดือนเพิ่มขึ้นเป็น 13.1% จากครึ่งปี 2550 ที่มีค่า 12.3% และจากสิ้นปี 2549 ที่มีค่าเท่ากับ 11.7%”

“ส่วนของค่าใช้จ่ายรวม (รวมดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้) ในไตรมาสที่ 3 นี้ เท่ากับ 2,607 ล้านบาท เติบโต 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2550 เท่ากับ 52% ลดลงจาก 56% ณ สิ้นปี 2549 เป็นผลมาจากอัตราเติบโตของรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงาน และบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายด้านการจัดหาสมาชิกใหม่ในจำนวนที่ลดลงกว่าช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน”

สำหรับการดำเนินงานไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 บริษัทฯ จะขยายฐานสมาชิกสู่ตลาดภูมิภาคให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของเคทีซีเอง หรือผ่านงานแฟร์ต่างๆ เพราะเห็นถึงโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เนื่องจากผู้บริโภคตามจังหวัดในหัวเมืองใหญ่มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย และยังมีไลฟ์สไตล์ที่ใกล้เคียงกับสังคมเมืองในกรุงเทพฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะยังคงให้ความสำคัญต่อความเข้มงวดในการอนุมัติสมาชิกใหม่อย่างรอบคอบและรัดกุม โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระคืนของสมาชิกเป็นสำคัญ อีกทั้งการบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ในการสร้างฐานรายได้ที่มั่นคงแก่บริษัทฯ และระบบการเงินของประเทศในระยะยาว” นายนิวัตต์กล่าวปิดท้าย