ราคาน้ำมันดิบโลกผันผวน : ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือ

“น้ำมัน” เป็นพลังงานที่สำคัญประเภทหนึ่งที่ประชาชนทุกกลุ่มล้วนต้องเกี่ยวข้องทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในการเดินทาง รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตต่างๆ ที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบในขั้นตอนการผลิต ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทต่างๆ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการที่จะเชื่อมโยงสู่ราคาสินค้าและบริการที่จะปรับสูงขึ้นจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากพิจารณาแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (ดังแสดงในภาพที่ 1) จะพบว่าการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงเวลาในอดีตและปัจจุบันมีลักษณะค่อนข้างแตกต่างกัน โดยในอดีตนั้นการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันจะเกิดจากสถานการณ์ที่ผิดปกติ เช่น ภาวะสงครามในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลาง การจลาจลหรือประท้วงหยุดการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะมีผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเพียงระยะเวลาหนึ่ง และจะปรับตัวลดลงหลังจากเหตุการณ์ยุติลง ขณะที่ในช่วงเวลาประมาณปี 2545 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกิดจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติบ้างบางระยะ แต่เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ต่างๆ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับไม่ลดลงเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่กลับทรงตัวและเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่งคือ หากพิจารณาราคาน้ำมันดิบที่ขจัดผลของอัตราเงินเฟ้อออกไป ซึ่งเป็นการเทียบราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกในแต่ละช่วงเวลาภายใต้ฐานราคาในช่วงเวลาเดียวกัน (ดังแสดงในภาพที่ 2) จะสังเกตได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงเวลาปัจจุบันได้ขยับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ในช่วงปี 2522 – 2524 ซึ่งในอดีตราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบได้ขึ้นไปสูงสุดในเดือนมกราคม 2524 ที่ 38.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเท่ากับ 90.02 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ ราคาปี 2549 ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบตลาด WTI สหรัฐอเมริกา และตลาด Brent อังกฤษในเดือนพฤศจิกายน 2550 อยู่ที่ 93.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเท่ากับ 90.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ ราคาปี 2549 ซึ่งการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนี้ เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา

โดยทั่วไปตามกลไกตลาดในช่วงเวลาใดที่เศรษฐกิจโลกขยายตัว หรือมีปริมาณความต้องการน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มากกว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้ ย่อมส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เช่น ภาวะสงครามในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วย ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาน้ำมันดิบ กล่าวคือเมื่อใดที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อ้างอิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐให้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันจะขยับขึ้นราคาน้ำมันที่จะขายให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยกับมูลค่าที่จะได้รับที่ลดลงจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้จากการศึกษาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขจัดความแตกต่างจากอิทธิพลของอัตราเงินเฟ้อออกไปแล้ว และปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าจะกำหนดราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในตลาดโลกในแต่ละช่วงเวลาสามารถสรุปได้ดังนี้

ปี พ.ศ. 2513 – 2528 ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาการเกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 และ 2 ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Fundamental Factors) ทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่แท้จริง รวมถึงปริมาณความต้องการบริโภคและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงปัจจัยทางความรู้สึกของผู้ซื้อและผู้ขาย (Sentimental Factors) คือ สถานการณ์ผิดปกติที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การเกิดสงครามอิรัก-อิหร่าน จะมีความสัมพันธ์เชิงกำหนดต่อราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สามารถสังเกตได้และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันทางสถิติ เช่น ในปี 2519 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 5.1 % ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 3 % ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 4 % ขณะที่ในปี 2520 การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 4.3 % ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 0.8 % ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 1.3 % ในส่วนของปี 2523 ซึ่งเป็นปีที่เกิดสงครามอิรัก – อิหร่าน ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเพื่อการจำหน่ายในตลาดโลกลดต่ำลงถึง 4.5 % จากปี 2522 ที่กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 66.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเหลือ 63.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งกระทบต่อราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 137.44% จากปี 2519 ที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 13.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเท่ากับ 37.04 ดอลลาร์สหรัฐ ณ ราคาปี 2549 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 35.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเท่ากับ 87.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ ราคาปี 2549

ปี พ.ศ. 2529 – 2539 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์ที่สามารถอธิบายถึงการเคลื่อนไหวของราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลง โดยสถานการณ์ที่ผิดปกติจะเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงกำหนดต่อราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างชัดเจนมากขึ้น เช่น ในปี 2533 ที่สหรัฐอเมริกาบุกอิรัก ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกมีค่าเท่ากับ 22.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเท่ากับ 35.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ ราคาปี 2549 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 22 % จากปี 2532 ที่มีราคาเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 18.89 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือมีค่าเท่ากับ 29.12 ดอลลาร์สหรัฐ ณ ราคาปี 2549

ปี พ.ศ. 2540 – 2550 อันเป็นช่วงเวลานับตั้งแต่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ถึงปี 2550 ที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่แท้จริง รวมถึงปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันดิบในตลาดโลก และปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเพื่อการจำหน่ายในตลาดโลก กับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน กล่าวคือ ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 11.66 % ขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันดิบในตลาดโลก ปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดโลก และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของโลก มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีเพียง 1.6 % 1.65 % และ 4.18 % ตามลำดับ ซึ่งการสูงขึ้นอย่างมากของราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะเกิดจากอิทธิพลที่เด่นชัดของปัจจัยอื่นมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

หากพิจารณาในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงเวลาที่ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยทางการเงินและการลงทุน อาทิ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่พิจารณาผ่านดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แท้จริง และความผันผวนของตลาดหุ้นพิจารณาจากส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของดัชนี S&P 500 จะสามารถพบความสัมพันธ์เชิงกำหนดต่อราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างชัดเจน (ดังภาพที่ 3) และมีความสัมพันธ์ในทางสถิติ ซึ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกนั่นคือ โดยเฉลี่ยแล้วเมื่อดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าลดลง 1 จุดเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆ จะส่งผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2.36 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการเก็งกำไรของผู้ค้าน้ำมัน ด้วยลักษณะของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อ้างอิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอันหมายถึงผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันจะได้รับในรูปเงินดอลลาร์จะมีค่าลดลง ผู้ค้าน้ำมันจึงพยายามชดเชยผลตอบแทนที่จะสูญเสียไปจากค่าเงินด้วยการปรับขึ้นราคาน้ำมันให้สูงขึ้น ขณะที่ความผันผวนของดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลก กล่าวคือ เมื่อดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาหนึ่งมีการกระจายตัว เพิ่มมากขึ้น 1 จุด จะส่งผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่บ่งชี้เบื้องต้นถึงความไม่เชื่อมั่นในภาวะตลาดหุ้นของนักลงทุน เมื่อตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจึงหันมาถือครองสินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากกว่า เช่น น้ำมัน ปัจจัยทั้งสองจึงเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกในระยะหลังนี้

การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในระยะหลัง จากอิทธิพลที่เด่นชัดของปัจจัยทางการเงิน และการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงนี้ อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงเวลาปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องและอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกหากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เช่น สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคการผลิต รวมถึงค่าครองชีพของประชาชนผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการบริโภคน้ำมันเมื่อเทียบกับ GDP ที่สูงกว่าประเทศอื่นทั้ง อินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น (ดังแสดงในภาพที่ 4) อันแสดงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่ประเทศไทย หากราคาน้ำมันดิบยังคงสูงขึ้นย่อมจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่น

อีกทั้งประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศในปริมาณค่อนข้างสูงในแต่ละปี โดยในปี 2549 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 48,000 ล้านลิตร ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 753,783 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศที่สูงถึงประมาณร้อยละ 87 ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งแม้ว่าในปี 2548 ประเทศไทยจะมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง และค่อนข้างทรงตัวในปี 2549 แต่มูลค่าการนำเข้ากลับเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งการที่ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2550 ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทยทั้งในส่วนของต้นทุนการผลิตของภาคการผลิต และค่าครองชีพของประชาชนทั้งทางตรงจากการเดินทาง และทางอ้อมจากการผลักภาระต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตมายังผู้บริโภคผ่านทางราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งประชาชนและภาครัฐควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและตื่นตัวในการหาแนวทางป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้จากนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศในช่วงปีที่ผ่านมาทั้งมาตรการส่งเสริมการสำรวจพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งในประเทศและเขตพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทน (Alternative energy) ทั้งการใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) และก๊าซโซฮอล์ (Gasohol) ซึ่งนำแอลกอฮอล์สัดส่วน 10% ที่สกัดได้จากวัตถุดิบทางการเกษตรภายในประเทศ อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดมาผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 90 % รวมถึงไบโอดีเซล (Biodiesel) ซึ่งผลิตจากน้ำมันพืชต่างๆ ทั้งน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันละหุ่ง น้ำมันถั่วลิสง รวมถึงน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันหมู โดยมาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือที่ดีจากประชาชนและภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมมือกันประหยัด ลดการใช้พลังงาน ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รวมถึงการแสวงหาพลังงานทดแทนด้วยศักยภาพภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรให้การสนับสนุนและดำเนินการตามแผนนโยบายที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกันใช้พลังงานอย่างประหยัด รวมถึงกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น อาทิ การขยายสถานีบริการและให้เงินอุดหนุนการติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติ(NGV) ในรถยนต์ นอกจากนั้นควร สนับสนุนกระบวนการวิจัยพลังงานทดแทนทั้งกระบวนการผลิตเอทานอลจากพืชต่างๆ เช่น อ้อย และ มันสำปะหลัง ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณเอทานอลต่อหน่วยวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีความบริสุทธิ์มากขึ้นเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยจากพลังงานทั้งสองต่ำลง อันจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการผลิตและบริโภคเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น รวมถึงการสนับสนุนพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ทันสมัยให้ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศให้มากขึ้น และระบบการจัดการขนส่ง logistic ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะเป็นการลดปริมาณการใช้น้ำมันจากการขนส่งทางถนน

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยที่กำหนดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในอดีตปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่กำหนดค่อนข้างชัดเจน จนถึงในช่วงเวลาปัจจุบันที่ปัจจัยทางการเงินและการลงทุนเป็นปัจจัยกำหนดอย่างเด่นชัดแทน และในช่วงเวลาสามถึงสี่ปีที่ผ่านมานี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2550 ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลก ณ ราคาปี 2549 ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงเวลาปัจจุบันอาจจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2551 อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้อีก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงไม่ฟื้นตัวจากปัญหาซับไพร์ม อีกทั้งสถานการณ์การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันหรือโอเปกที่อาจจะมีมติเปลี่ยนการอ้างอิงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากดอลลาร์สหรัฐมาเป็นยูโร อันจะส่งผลให้อิทธิพลของปัจจัยทางการเงินและการลงทุนเพื่อเก็งกำไรทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และความผันผวนในตลาดทุนที่มีต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงดำรงอยู่ต่อไป รวมถึงหากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติมาสนับสนุน อาทิ สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาน้ำมันในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นได้อีก ซึ่งหากสถานการณ์ต่างๆ ในปี 2551 ยังคงมีลักษณะไม่แตกต่างจากในปี 2550 คือ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าลงประมาณ 4.3 จุดเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆ และความผันผวนของตลาดหุ้น (พิจารณาผ่านทางดัชนี S&P 500) ยังคงอยู่ที่ประมาณ 20 จุด จะส่งผลให้ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในตลาด WTI สหรัฐอเมริกา และตลาด Brent อังกฤษในปี 2551เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 13.4 % จากปี 2550 คือจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 82.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปี 2550 ที่มีราคาเฉลี่ยประมาณ 72.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ทางบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยังคงเห็นด้วยกับนโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของภาครัฐในช่วงปีที่ผ่านมาและหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไว้อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นด้านการจัดหาพลังงานเพิ่มเติม เพื่อให้พลังงานมีความเพียงพอและมั่นคงด้วยการส่งเสริมการสำรวจพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งในประเทศและเขตพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และการส่งเสริมการใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัด รวมถึงการสนับสนุนและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทนทั้งจาก ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซโซฮอล์ และไบโอดีเซล ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการสำรวจและขยายการผลิตรวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายพลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบ Logistics การวิจัยพัฒนายานยนต์ประหยัดพลังงาน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มากขึ้น นอกจากนั้นมาตรการด้านพลังงานสะอาดอันจะเป็นการช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย ซึ่งมาตรการต่างๆ ควรเร่งดำเนินการโดยด่วน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาคการผลิต และประชาชนผู้บริโภค อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถฝ่าพ้นวิกฤตราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างยั่งยืน