กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน “เทศกาลวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ ๑๒๐ ปี ไทย-ญี่ปุ่น”

กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ประกอบกับเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง ๑๒๐ ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย – ญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ระหว่างสองราชวงศ์ ปิดพารากอนจัดงาน “เทศกาลวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น” ขึ้นในวันที่ 14-16 ธันวาคม 2550 มีการจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น การประชันดนตรีไทย-ญี่ปุ่น โดยวงขุนอิน และการแข่งขันกินข้าวปั้น/กินราเม็ง/กินขนมจีน และความบันเทิงอีกมากมาย

คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ประกอบกับเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง ๑๒๐ ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย – ญี่ปุ่น กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดงาน “เทศกาลวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ ๑๒๐ ปี ไทย-ญี่ปุ่น” ขึ้นในวันที่ ๑๔–๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ ณ บริเวณลานกิจกรรม ศูนย์การค้าพารากอน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ และส่งเสริมการเรียนรู้และประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน

สำหรับงาน “เทศกาลวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ ๑๒๐ ปี ไทย-ญี่ปุ่น” จะมีขึ้นทั้งหมด ๓ วัน โดยวันแรก วันที่ ๑๔ ธ.ค. ๕๐ เวลา ๑๗.๓๐ น. เป็นวันเปิดงานและพิธีเปิดด้วยความตื่นตา ตื่นใจ ยิ่งใหญ่อลังการด้วยการแสดงชุด “ผสมผสาน วัฒนธรรมสองแผ่นดิน” การแสดงรวมสุดยอดแห่งศิลปะ และวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ ที่มีความคล้ายคลึงกันเกือบทุกด้าน การแสดงเปิดด้วยกลองสะบัดชัย และกลองไทโกะ ตามด้วยการแสดงที่สื่อถึงวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศ มีความเหมือนที่แตกต่าง คือ ธนูไทยและคูโดญี่ปุ่น การแสดงจะเปรียบเสมือนอาวุธที่สองประเทศใช้เหมือนกัน ในการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชในอดีต การร่ายรำพัดวิชนี

วันที่ ๑๕ ธ.ค. ๕๐ เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๐.๓๐ น. ชมการประชันดนตรี ระหว่างไทย และญี่ปุ่น ซึ่งขุนอินออกโรงเอง เป็นการประชันระหว่างกลองไทโกะของญี่ปุ่น และเครื่องดนตรีไทย และในวันที่ ๑๖ ธ.ค. ๕๐ เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. มีการแสดงไฮไลท์ชุด “ถักสายรัก..ทอสายใย ไทย-ญี่ปุ่น” เน้นความสวยงามประกอบกับ Multimedia แสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ยาวนาน โดยการใช้สายผ้าสีสวย พริ้วไหวเป็นสัญลักษณ์

ทั้งนี้ในแต่ละวันจะมีการแสดงต่าง ๆ มากมาย อาทิ การแสดงโปงลางเด็ก, การแสดงมวยไทยไชยา การแสดงตลีราบานา การแสดงรำสี่ภาค, การแสดงหุ่นโจ-หลุยส์, การแสดงกลองไทโกะ, การแสดงโคไทโกะ การแสดงระบำพัดมินโย การแสดงหุ่นยนต์ชาย – หญิงจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันกินข้าวปั้น/กินราเม็ง/กินขนมจีนอีกด้วย

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ทั้ง 2 ประเทศนั้น ในช่วง ๑๒๐ ปี นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต พระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศทรงแลกเปลี่ยนการเสด็จฯ เยือนอย่างสม่ำเสมอ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ พ.ศ.๒๔๗๔ และ พ.ศ.๒๕๐๖ ตามลำดับ โดยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงปลูกต้นสนไว้ที่วัดโคโตคุอิน คามาคุระ และในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปลูกต้นสนอีกต้นหนึ่งที่วัดแห่งนี้ ขณะนี้จึงมีต้นสนที่พระราชวงศ์ของไทยทรงปลูกที่วัดโคโตคุอินถึง ๓ ต้น

พระราชวงศ์ญี่ปุ่นเสด็จเยือนไทยอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๙ คนไทยได้ชื่นชมพระบารมีแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีในระหว่างเสด็จฯ ประเทศไทย เพื่อทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมาชิกในพระราชวงศ์ทรงเยือนกันอย่างต่อเนื่องในพระราชภารกิจทางด้านการวิจัยและการศึกษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงบรรยายในสถาบันต่างๆ ของญี่ปุ่นบ่อยครั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ก็เช่นกัน และขณะนี้ทรงดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการของอธิการบดี (President’s Council) ของมหาวิทยาลัยโตเกียว การวิจัยเรื่องปลาบึกของเจ้าชายอะคิชิโนเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่วงการประมงน้ำจืดในไทย และในปีฉลอง ๑๒๐ ปีแห่งความสัมพันธ์ฯ จะทรงสรุปผลการวิจัยร่วมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในเรื่องความสัมพันธ์หลากหลายระหว่างไก่และมนุษย์ ซึ่งทรงร่วมวิจัยกับนักวิจัยไทย ภายใต้พระราชูปถัมภ์แห่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

คุณหญิงไขศรี กล่าวต่อว่า จากความสัมพันธ์อันยาวนาน ที่แสดงให้เห็นถึงความกลมกลืนทางด้านวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ จึงได้จัดให้มีกิจกรรม “เทศกาลวัฒนธรรมเชื่อมสัมพันธ์ ๑๒๐ ปี ไทย-ญี่ปุ่น” ขึ้น เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของทรงจำที่ดี และแสดงถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ ให้คงอยู่ตลอดไป