โจทย์เศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ … พลิกฟื้นความเชื่อมั่น ผลักดันการใช้จ่ายภายในประเทศ

ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นความขัดแย้งที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนในทางการเมืองและนโยบายการบริหารประเทศที่ขาดความต่อเนื่อง อันมีผลทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และการเติบโตของการใช้จ่ายในภาคเอกชน ทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุน ทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ มีเพียงภาคการส่งออกที่เติบโตสูงตามการขยายตัวแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 4-5 มาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนานนี้เป็นสิ่งที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ และล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย

การเลือกตั้งที่เสร็จสิ้นไปเป็นเสมือนก้าวย่างแรกของเส้นทางที่จะนำพาการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ นับจากวันนี้ไป ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาการเลือกตั้ง โดยกระบวนการอย่างเป็นทางการคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และไม่เกินต้นเดือนมีนาคมเราน่าจะได้เห็นนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นที่คาดหวังกันว่าน่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กลับฟื้นคืนมาได้ อันจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และเข้ามาเป็นแรงผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551 ที่การส่งออกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท ภารกิจของรัฐบาลชุดใหม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่คือ นอกจากจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศแล้ว ยังต้องเตรียมรับมือกับปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศหลายด้าน ซึ่งประเด็นเฉพาะหน้าที่สำคัญมีดังนี้

การสร้างความสมานฉันท์ในการร่วมมือทางการเมืองและความชัดเจนของนโยบาย : พื้นฐานสำคัญที่สุดที่จะทำให้นโยบายเศรษฐกิจดำเนินไปได้ จำเป็นที่การเมืองจะต้องมีเสถียรภาพ รัฐบาลจะต้องมีเอกภาพในการผลักดันการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยไม่ว่าพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคฝ่านค้านควรร่วมมือกันโดยมุ่งที่ประโยชน์ของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ และจากเงื่อนเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล จะเห็นได้ว่ากว่าที่รัฐบาลใหม่จะสามารถเริ่มต้นดำเนินนโยบายในด้านต่างๆก็ใกล้เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีแล้ว ดังนั้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงักในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลใหม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดนโยบายที่มีแนวทางชัดเจนและปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งดำเนินการตามนโยบายที่ได้มีการสัญญาไว้กับประชาชนทันที โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในการดำรงชีพและการมีงานทำของประชาชน และการวางรากฐานเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากประเทศก้าวช้ามานานพอสมควรแล้ว สิ่งที่เป็นข้อกังวลต่อรัฐบาลใหม่คือการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งการผสมผสานนโยบายของแต่ละพรรคเข้าด้วยกันจึงอาศัยเวลามากกว่าการที่มีรัฐบาลพรรคเดียว

การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ : ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ทะยอยปรับขึ้นราคามาเป็นลำดับ โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน 2550 มีระดับสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 3.0 และมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะขึ้นไปมีค่าเฉลี่ยเหนือร้อยละ 3.5 ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2551 หากราคาน้ำมันยังคงยืนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ภารกิจในการดูแลเงินเฟ้อจึงมีความสำคัญเพราะเป็นตัวแปรที่จะมีผลต่อการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อที่มีต้นเหตุจากราคาพลังงานนี้ รัฐบาลใหม่จะต้องมีแนวทางชัดเจนต่อการดูแลกลไกราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม แต่ขณะเดียวกัน แนวทางดำเนินการควรคำนึงถึงผลกระทบไม่ให้ส่งผลต่อภาระการคลัง หรือทำให้ผู้บริโภคหรือธุรกิจไม่ตอบสนองแนวทางประหยัดพลังงานอย่างที่ควรจะเป็น

การผลักดันการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ : บทบาทของภาครัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนอันจะก่อให้เกิดผลทวีคูณไปสู่การผลักดันภาคการผลิต การจ้างงาน และการบริโภคให้เดินหน้าได้ ภารกิจเฉพาะหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้เม็ดเงินไหลไปสู่ระบบเศรษฐกิจตามเป้าหมายกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 (ที่จัดทำไว้โดยรัฐบาลชุดก่อน) โดยเร็ว ขณะเดียวกัน ในด้านภารกิจที่จะก่อผลในระยะปานกลางแต่ต้องเริ่มดำเนินการทันที รัฐบาลควรต้องมีแผนชัดเจนในการดำเนินโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจในอนาคต อาทิ โครงการด้านโลจิสติกส์ พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างก็ได้รณรงค์หาเสียงชูนโยบายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการลงทุนระบบรถไฟฟ้า ระบบรถไฟทางคู่ ระบบน้ำ ควบคู่ไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และนโยบายด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หรือ เป็นที่เรียกกันว่า นโยบายประชานิยม

ประเด็นพิจารณาด้านสถานะการคลัง การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้ประกาศไว้นั้นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนหลายแสนล้านบาท แต่การจัดหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อใช้ในโครงการต่างๆนั้นจะมีข้อจำกัดที่สำคัญคือ แหล่งที่มาของเงินทุนและการรักษาวินัยทางการคลัง ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลใหม่มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณและโครงการลงทุนที่เพิ่มเติมไปจากกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 อาจมีข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากจะต้องมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หากพิจารณาจากสถานะทางการคลังในปัจจุบัน รัฐบาลยังสามารถที่จะขยายกรอบวงเงินใช้จ่ายเพิ่มเติมได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งภายใต้กรอบงบประมาณปี 2551 รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุล 165,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.8 ของจีดีพี ขณะที่ถ้าเพิ่มวงเงินขาดดุลเพิ่มไปถึงร้อยละ 2.5 ของจีดีพี (ระดับที่กระทรวงการคลังเห็นว่าน่าจะอยู่ในวิสัยที่ภาระหนี้รองรับได้) จะมีวงเงินใช้จ่ายเพิ่มอีกประมาณ 62,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดดุลงบประมาณรวม 227,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็นประมาณร้อยละ 39 จากร้อยละ 38 ในปัจจุบัน

การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของภาคเอกชน : ประเด็นที่ควรจะต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนคือการแก้ไขความไม่ชัดเจนในด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ที่สำคัญได้แก่ มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (การสำรองร้อยละ 30) ของธนาคารแห่งประเทศไทย การแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมองว่ามีข้อกำหนดที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสความสนใจของนักลงทุนต่างชาติต่อตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการเจริญเติบโตสูง อย่างจีน อินเดีย และเวียดนาม รัฐบาลใหม่ควรเร่งจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของประเทศ เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดของประเทศไทยในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคได้ โดยนโยบายส่งเสริมการลงทุนจะต้องครอบคลุมถึงแนวทางการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานรองรับการลงทุนในอนาคตด้วย ซึ่งนอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนแล้ว รัฐบาลยังต้องวางเป้าหมายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ขณะที่มีแนวทางการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและด้านทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและสร้างมูลค่ามากขึ้น ที่สำคัญจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความรู้ให้ทันกับเทคโนโลยี เพื่อทดแทนกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น

ดูแลภาคเกษตรและเศรษฐกิจฐานราก : นอกจากดูแลด้านราคาสินค้า ซึ่งเป็นด้านรายจ่ายของผู้บริโภคแล้ว ในการแก้ไขปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลจะต้องมีนโยบายสร้างรายได้ที่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจะเข้มแข็งได้ ต้องสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกภาคส่วน เมื่อประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีจะทำให้ตลาดภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เศรษฐกิจสามารถพึ่งพาตัวเองจากภายในประเทศ ลดผลกระทบของความผันแปรของวัฏจักรเศรษฐกิจภายนอกประเทศได้ สำหรับการดูแลเศรษฐกิจฐานรากต้องให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่

o ภาคเกษตร หัวใจสำคัญคือการดูแลรายได้เกษตรกร โดยดูแลราคาสินค้าให้ผลผลิตมีราคาดีอย่างทั่วถึง โดยแนวโน้มในปี 2551 ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการส่วนใหญ่มีทิศทางที่ดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากความต้องการอาหารในจีน อีกทั้งมาจากกระแสความต้องการพลังงานทดแทนทั่วโลกทำให้พืชผลมีราคาสูงขึ้น จากการที่มีการนำพืชอาหารไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตพลังงานทดแทน และการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานที่เข้ามาแย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหาร อย่างไรก็ตาม นโยบายสนับสนุนการผลิตผลิตผลทางการเกษตร ในการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชพลังงานควรต้องให้มีความสมดุลเพื่อไม่ให้กลายเป็นการสร้างปัญหาในด้านความมั่นคงทางอาหาร และส่งผลกระทบในด้านต้นทุนต่อการผลิตสินค้าประเภทอื่นมากจนเกินไป ขณะเดียวกันควรต้องส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาด ด้วยการนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตรให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการปรับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป โดยควรปรับมุมมองของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตั้งต้นจากความต้องการของตลาดแล้วผลิตสินค้าที่มีศักยภาพทางการตลาดสูง เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงในด้านราคา นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะมีผลต่อภาคเกษตรคือการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นเร็วเกินไป เพราะจะกระทบต่อรายได้การส่งออกสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก

o แรงงาน ในภาพรวมการกระตุ้นการลงทุนจะทำให้มีความต้องการตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นความท้าทายอยู่ที่ความสอดคล้องกันระหว่างความต้องการแรงงานและอุปทานแรงงานที่มีอยู่ สิ่งที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์การลงทุน มุ่งไปที่การดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพสูงขึ้น ความต้องการแรงงานจึงเปลี่ยนแปลงไปจากแรงงานด้อยฝีมือที่อาศัยค่าจ้างแรงงานต่ำ ไปเป็นแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพเฉพาะทางมากขึ้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การพัฒนาแรงงานทักษะฝีมือให้เพียงพอต่ออุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น และการดูแลแรงงานด้อยฝีมือในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงาน เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยแรงงานไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า การแก้ปัญหานี้อาจต้องสร้างการจ้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อดึงแรงงานที่มาจากต่างจังหวัดให้กลับภูมิลำเนา โดยมีงานรองรับและมีรายได้เพียงพอ ซึ่งหากมีการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ดีในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการเกษตร จะทำให้ความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจนี้มีอยู่อีกมาก

o ธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากเอสเอ็มอี เป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ และอาจมีความทานทนต่อผลกระทบจากปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปีข้างหน้าน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน การแข็งค่าของเงินบาท และปัญหาการชะลอตัวของตลาดสหรัฐ) บทบาทในการสนับสนุนเอสเอ็มอีคงต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐเป็นแกนนำ โดยกระทรวงเศรษฐกิจหลักจะต้องมีแนวทางชัดเจนในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีให้แข่งขันกับคู่แข่งต่างประเทศได้ รวมทั้งพัฒนาช่องทางการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพได้มากขึ้น ให้การสนับสนุนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ขณะเดียวกัน ควรสร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น

โดยสรุป เป็นที่คาดหวังกันว่าหลังจากที่ประเทศไทยได้มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นให้กลับฟื้นคืนมาได้ อันจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551 ที่การส่งออกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ภารกิจเฉพาะหน้าด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะต้องเริ่มจากการฟื้นความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน โดยสิ่งรอคอยการตัดสินใจและการดำเนินการจากรัฐบาลใหม่โดยทันที ได้แก่

การประกาศวาระนโยบาย รัฐบาลชุดใหม่จะต้องกำหนดวาระเร่งด่วนที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งกำหนดเจตน์จำนงในด้านงบประมาณว่าจะยืนกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ตามที่รัฐบาลชุดก่อนจัดทำไว้ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงกรอบงบประมาณหรือไม่และอย่างไร

การกำหนดแผนบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะนำมาสู่ประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ดำเนินการตามแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเร่งด่วน นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ได้แก่ การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งที่สำคัญจะต้องแสดงความชัดเจนในประเด็นที่นักลงทุนมีความกังวล โดยเฉพาะกฎระเบียบและกฎหมายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่สำคัญ คือ มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (การสำรองร้อยละ 30) ของธนาคารแห่งประเทศไทย การแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องมีนโยบายดูแลภาคเกษตร แรงงาน และธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจัยทางการเมืองจะเป็นปัญหาระยะสั้นที่มีผลต่อเศรษฐกิจ แต่หากการเมืองยังตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนต่อเนื่องต่อไปอีกจะกลายเป็นตัวแปรที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคกำลังวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ถ้าการเมืองฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยยังหยุดอยู่กับที่ จะยิ่งทำให้สถานะทางการแข่งขันของไทยเผชิญปัญหาที่แก้ไขได้ยากขึ้นจึงควรที่จะหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ในการร่วมมือทางการเมืองและกระบวนการทางการเมืองที่สันติ อันจะเกื้อหนุนให้ภาครัฐสามารถทำหน้าที่ในการสนับสนุนประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ และภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งต่อก้าวย่างต่อไปของประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์เศรษฐกิจที่กำลังรอคอยรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเร่งแก้ไขเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ในกรณีพื้นฐานที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่รุนแรงและเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อยู่ภายในช่วงกรอบร้อยละ 4.5-6.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2550 โดยเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นและนำมาสู่การใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึงช่วงกรอบบนของประมาณการ