คำแนะนำจากจิตแพทย์ ฝากถึงพ่อแม่ ก่อนซื้อของขวัญให้ลูกในวันเด็ก

การซื้อของขวัญที่ผู้คนทั่วไปมักนึกถึงคือของทางวัตถุซึ่งของขวัญทางวัตถุนั้นเลือกหาได้ง่ายอาจจะเลือกโดยให้สิ่งที่เด็กมีความสนใจอยู่แล้วเพื่อเป็นการส่งเสริมให้สนใจอะไรจริงจัง ลึกซึ้ง เช่นลูกชอบสัตว์ก็หาซื้อหนังสือ VCD ด้านเกี่ยวกับสัตว์ ของเล่นเป็นต้น ส่วนเด็กที่ไม่สนใจอะไรเป็นพิเศษก็ดูตามพัฒนาการของแต่ละวัยว่าเหมาะที่จะส่งเสริมพัฒนาการด้านไหน ซึ่งมีคำแนะนำจาก แพทย์หญิงเพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ จิตแพทย์ ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ ในเรื่องนี้

วัย 0-3 ปี ด้วย พัฒนาการในวัยนี้เรื่องเด่นป็นเรื่องกล้ามเนื้อ จึงควรจะให้พวกลูกบอล อ่างเล่นน้ำ รถจักรยาน เป็นต้น

วัยเรียน ควรเลือกของเล่นพวกพัฒนาความคิด สมาธิ การทำกฎกติกา การเข้าสังคม การคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น เกมส์ที่เริ่มมีกติกาได้ผลัดวันเล่นเช่น เกมส์เศรษฐี โดมิโน บิงโก

วัยรุ่น ควรเลือกของเล่นที่เสริมสัมพันธ์ภาพกับผู้ใหญ่ในบ้าน เช่น Crossword ใบ้คำศัพท์

แพทย์หญิงเพียงทิพย์กล่าวว่า วัยเรียนและวัยรุ่นผู้ใหญ่สามารถสอนให้ เก็บออมได้โดยให้วงเงินเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับฐานะครอบครัวแล้วพาไปเลือกดูของที่อยากได้แล้วฝากเงินส่วนที่เหลือจากการซื้อของให้เด็กเก็บสะสมในบัญชีเงินออมของเด็กเองไม่ควรซื้อเกมส์ที่คนเดียวนานๆ เช่นเกมส์คอมพิวเตอร์ เกมส์บอย เพราะจะทำให้เด็กขาดความเคลื่อนไหว ขาดการเข้าสังคมและติดเกมส์ได้

อย่างไรก็ตามแพทย์หญิงเพียงทิพย์ ได้ชี้แนะกับพ่อแม่เพิ่มเติมว่า ของขวัญที่ประทับใจกว่าวัตถุสิ่งของคือกิจกรรมที่ผู้ปกครองทำกับเด็กในวันเด็กซึ่งจะไม่ทำให้เด็กติดคุณค่าของวัตถุด้วยและประทับใจในความทรงจำเช่นช่วยกันตกแต่งห้องนอน มุมของเล่นของเด็กให้สวยงาม ไปปิคนิคในสวนสาธารณะหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับเด็ก พาไปดูนิทรรศการที่เด็กสนใจเลือกเองโดยเราหาข้อมูลที่เหมาะสมเตรียมไว้ก่อนมาให้

และของขวัญอย่างสุดท้ายที่สำคัญที่สุดซึ่งพ่อแม่ควรหาทางให้ลูก แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกับเด็กก็ได้คือ ของขวัญทางใจซึ่งในวันเด็กนี้อยากให้พ่อแม่นึกดูว่าลูกเปลี่ยนแปลงไปทุกปีนั้นปีนี้มีอะไรที่เราควรปรับเปลี่ยนการดูแลลูกให้แตกต่างไปจากเดิม เพื่อผลที่ดีขึ้นบ้าง เช่นเดิมในกิจวัตรประจำวันเราทำทุกอย่างให้ลูกทำให้ลูกไม่มีโอกาสช่วยเหลือตนเองไม่ได้หัดรับผิดชอบ พ่อแม่ก็ควรให้ของขวัญลูกเป็นการให้มีโอกาสทำอะไรต่างๆเองในสิ่งที่ทำได้แล้ว ลูกก็จะภูมิใจในความสามารถของตนเองด้วย ในเด็กวัยรุ่นที่เดิมให้เงินเป็นรายวันและอยากซื้ออะไรก็ขอเพิ่มได้เสมอก็หัดให้ใช้เงินเป็นของตัวเองโดยเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์เป็นต้น ซึ่งลูกก็จะรู้สึกว่ามีอิสรภาพและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย พ่อแม่ต้องพูดให้เด็กรู้สึกดีที่ได้รับสิ่งเหล่านี้ อย่าใช้คำสั่งสอนแบบที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นภาระเพื่อถูกตัดสิทธิ์ ตัวอย่างคำพูดที่แนะนำเช่น ตอนนี้ลูกรับผิดชอบอะไรได้ดีขึ้น หลายอย่างแล้วพ่อแม่จึงไว้ใจที่จะให้หนูรับค่าขนมเป็นรายสัปดาห์แทนที่จะต้องขอทุกวัน

“สำหรับเด็กแล้วของขวัญจะไม่มีคุณค่าถ้าพ่อแม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าของตัวเขา และถ้าเด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เห็นคุณค่าในตัวเขา เขาก็จะไม่เห็นว่าการที่จะได้ของขวัญหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญเลย วันเด็กปีนี้อย่าเผลอหลงกระแสวัตถุนิยมไปเครียดกับการซื้อหาของขวัญราคาแพงเลยค่ะ เพียงแต่มองเข้าไปในตัวลูกชื่นชมกับทุกอย่างในตัวเขาด้วยใจที่ยอมรับและเข้าใจลูกลูกก็จะเป็นเด็กที่มีความสุขที่สุดในโลก” แพทย์หญิงเพียงทิพย์กล่าว