แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2551 : ปรับตัวรับมือปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

ในปี 2550 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 แต่ถึงกระนั้น ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีการเติบโตในระดับสูง โดยเป็นผลมาจากการส่งออกซึ่งขยายตัวสูงตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

แต่สำหรับปี 2551 มีแนวโน้มที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ก่อตัวขึ้นจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ซึ่งจะนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ตลาดเงินตลาดทุนของโลกอยู่ในภาวะที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาราคาน้ำมัน ที่ราคาน้ำมันดิบซื้อขายในตลาดล่วงหน้าในสหรัฐเริ่มต้นปี 2551 ด้วยการทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะระดับเหนือ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ท่ามกลางสภาวการณ์ภายนอกประเทศดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยเป็นธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออก ขณะที่ไทยมีอัตราการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูงเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาค ทั้งนี้ ในปี 2551 การส่งออกอาจไม่สามารถรักษาบทบาทในการเป็นเครื่องยนต์หลักเพียงหนึ่งเดียวในการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมได้ดังเช่นในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงต่างฝากความคาดหวังไว้ที่รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่จะมีผลต่อภาคอุตสาหกรรม และแนวโน้มอุตสาหกรรมของไทยในปี 2551 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ภาวะอุตสาหกรรมในปี 2550 … ขยายตัวได้ดีจากแรงหนุนของการส่งออก
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2550 มีทิศทางที่ชะลอตัว แต่ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการเติบโตสูง โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกเป็นหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลอดทั้งปี 2550 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.0 อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ในภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีระดับเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 76.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 73.9 ในปี 2549

จากการวิเคราะห์เครื่องชี้กิจกรรมเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีการเร่งตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 อาจมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นมาที่ประมาณร้อยละ 7.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่ 3 และร้อยละ 4.6 ในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้งในปี 2550 มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 5.6 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.9 ในปี 2549 โดยแรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า และขยายตัวสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมที่คาดว่าอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.6 ในปี 2551 (ชะลอลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2549)

แนวโน้มปี 2551 … คาดหวังตลาดในประเทศฟื้น ชดเชยส่งออกชะลอตัว
ในด้านปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภายหลังจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ถ้าหากรัฐบาลดำเนินนโยบายดังที่ได้มีการประกาศไว้ในการรณรงค์หาเสียง ที่พรรคการเมืองหลักส่วนใหญ่จะมีนโยบายในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ และแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากขึ้น แนวทางดังกล่าวน่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวในทิศทางดีขึ้น และสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวรุนแรงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ทั้งผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ก่อตัวขึ้นจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Mortgages หรือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง) ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินตลาดทุนโลก และนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะมีผลกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนและทิศทางการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ในด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก ทั้งจากข้อจำกัดในด้านอุปทาน ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองในตะวันออกกลาง (Geopolitical Risks) และการอ่อนค่าของดอลลาร์ฯที่จะยิ่งหนุนให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงรวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนของกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ของโลกไปยังตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งรวมถึงน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ราคาน้ำมันจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงเชิงลบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะมีผลโดยตรงต่อภาระรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของภาคธุรกิจ ตลอดจนกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยลบจากภายนอกประเทศนี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศได้

จากการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในด้านผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐ หากเศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราการเติบโตลดลงทุก 1% (Percentage Point) จะทำให้การเติบโตของจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมไทยลดลงประมาณ 1.6% สำหรับในด้านราคาน้ำมัน หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทุก 10 ดอลลาร์ฯ จะตัดลดการเติบโตของจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมลง 0.4%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2551 โดยประเมินผลกระทบราคาน้ำมันแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้

กรณีพื้นฐาน (Base Case) ราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับเหนือ 100 ดอลลาร์ฯตั้งแต่ต้นปี 2551 ประกอบกับมุมมองของประธานโอเปคที่ระบุว่าราคาน้ำมันอาจจะยังมีระดับสูงตลอดช่วงไตรมาสแรก ปี 2551 สะท้อนความเป็นไปได้ที่ราคาอาจยังปรับสูงขึ้น และจากการที่เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูง ราคาน้ำมันที่กำลังเข้าใกล้จุดวิกฤตินี้ จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นที่จะบั่นทอนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ในกรณีพื้นฐานที่อยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ราคาน้ำมันเบรนท์ยังคงยืนตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องโดยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับระดับเฉลี่ยในปี 2550 ที่ 72.5 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล คาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 4.1-5.7 ซึ่งเป็นทิศทางที่ค่อนข้างชะลอลงจากปี 2550 ที่คาดว่ามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.6

กรณีมุมมองเชิงบวก (Optimistic Case) อยู่ภายใต้ข้อสมมติที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีทิศทางชะลอตัวแต่ไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าปีก่อนหน้าไม่มากนัก (ปี 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 85 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะมีระดับประมาณร้อยละ 3.0 ซึ่งยังเป็นระดับที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังสามารถรักษาระดับที่ต่ำต่อไปได้ ในกรณีนี้ คาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวได้ค่อนข้างดี คือประมาณร้อยละ 5.0-6.5

กรณีเลวร้าย (Worse Case) อยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ราคาน้ำมันยังพุ่งสูงขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์โดยเฉลี่ยในปี 2551 สูงขึ้นมาที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล คาดว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2-4.9 ซึ่งจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2545

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในปี 2551 คาดว่ามีโอกาสที่จะสูงขึ้นมาถึงระดับร้อยละ 79 ของกำลังการผลิตโดยรวม ซึ่งจะเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสนับสนุนให้ธุรกิจมีความต้องการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ธุรกิจที่คาดว่าจะมีการดำเนินโครงการลงทุนในปี 2551 ที่สำคัญ เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งในปี 2550 ที่ผ่านมามีโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ของค่ายรถยนต์รายสำคัญรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจสำคัญอื่นๆที่คาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ ฮาร์ดดิกส์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กขั้นต้น พลังงานและพลังงานทดแทน เป็นต้น

อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ดีในปี 2551 ถ้าหากเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไม่รุนแรงมากนัก ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจมียอดขายภายในประเทศดีขึ้น แต่ตลาดส่งออกซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอตัว สินค้าอาหารแปรรูป อาจได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA เป็นต้น อุตสาหกรรมส่งออกที่มีโอกาสได้รับผลกระทบ เช่น อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์หนัง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องวิดิโอ เครื่องเสียง อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวเรือน

อุตสาหกรรมที่มีโอกาสได้รับผลกระทบในด้านต้นทุนค่อนข้างมากจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ได้แก่ การผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการฟอก การพิมพ์ การย้อม และการแต่งเสร็จ สินค้าวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์แก้วและกระจก เป็นต้น ขณะเดียวกัน สินค้าที่จะได้รับผลกระทบในทางอ้อมจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการและราคาของพืชพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ น้ำมันพืช เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวพรรณ รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้วัตถุดิบจากพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน

โดยสรุป ในปี 2551 มีแนวโน้มที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ก่อตัวขึ้นจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ และปัญหาราคาน้ำมันที่ยังมีโอกาสปรับตัวสูงไปอีก ภาคอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยเป็นธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออก และยังคงมีการพึ่งพาตลาดส่งออกขั้นสุดท้ายไปยังสหรัฐสูง ขณะเดียวกันไทยก็มีอัตราการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูงเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาค

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2551 โดยประเมินผลกระทบราคาน้ำมันแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังยืนตัวในระดับสูง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับระดับเฉลี่ย 72.5 ดอลลาร์ฯในปี 2550 คาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4.1-5.7 ชะลอตัวลงกว่าในปี 2550 ที่คาดว่ามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.6

ในกรณีมุมมองเชิงบวก (Optimistic Case) ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่รุนแรงนัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 85 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 ซึ่งยังเป็นระดับที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน ตลอดจนการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น คาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวค่อนข้างดี คือประมาณร้อยละ 5.0-6.5

ในกรณีเลวร้าย (Worse Case) ที่ราคาน้ำมันมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล การเติบโตของจีดีพีภาคอุตสาหกรรมอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2-4.9

ทั้งนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมในปี 2551 ประกอบด้วย
• ปัจจัยต้นทุนด้านพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องหาแนวทางปรับตัวในการลดต้นทุนในองค์กรอย่างจริงจัง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์ ลดการสูญเสียพลังงานและวัตถุดิบโดยต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด วางแผนรับมือปัญหาราคาน้ำมันโดยพิจารณาแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบอื่นในกระบวนการผลิตและการขนส่ง นอกจากนี้ ธุรกิจควรพิจารณาแนวทางในการนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพ

ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดสหรัฐในสัดส่วนที่สูงอาจจำเป็นต้องเร่งแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดหลักประเทศอื่นและตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่มีการเติบโตสูง อย่างเช่น จีน อินเดีย เวียดนาม รัสเซีย รวมทั้งตลาดตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงจากการชะลอตัวของตลาดสหรัฐ

แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯเป็นกระแสทิศทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า โดยใช้แนวทางเช่น การทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การเจรจากับคู่ค้าในการกำหนดราคาเป็นสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ การวางแผนบริหารรายรับและรายจ่ายในรูปดอลลาร์ฯอย่างเหมาะสมเพื่อลดการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนหากต้องแลกเงินดอลลาร์ฯมาเป็นเงินบาท

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงานและปัญหาโลกร้อน อาจสร้างโอกาสให้แก่หลายธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบสินค้าที่ตอบรับกระแสประหยัดพลังงานและรักษาสภาพแวดล้อม เช่น รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผลิตพลังงานทดแทน อุปกรณ์สื่อสารและไอทีที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจในการลงทุนด้านระบบโลจิกติกส์และการใช้สื่อดิจิตอลเข้ามาช่วยในการลดต้นทุนองค์กร และพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการ เป็นต้น

สำหรับปัญหาในระยะปานกลางถึงระยะยาวสำหรับภาคอุตสาหกรรมของไทย ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีความเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนแรงงานต่ำ เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม ดังนั้น นอกจากแนวทางลดต้นทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาแล้ว อาจต้องมีการปรับตัวในด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทดแทนแรงงาน รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในด้านมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้านำมาใช้ควบคุมสินค้านำเข้า เช่น กฎระเบียบด้านสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยอาจต้องมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าสูง หรือตลาด Niche มากขึ้นเพื่อลดการแข่งขันในด้านราคา นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี ที่การแข่งขันขยายไปอย่างไร้พรมแดน ธุรกิจไทยอาจจำเป็นต้องหันมาพิจารณาโอกาสในการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเป้าหมายอาจมีทั้งการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานต่ำเพื่อลดผลกระทบจากค่าจ้างแรงงานในประเทศที่สูงขึ้นและค่าเงินบาทที่แข็งค่า หรือการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตของตลาดสูงเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาด และกระจายความเสี่ยงจากการเป็นเป้าหมายของมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีต่อสินค้านำเข้า หรือเพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกซึ่งปัจจุบันสินค้าที่ส่งออกจากไทยโดยตรงจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากประเทศพัฒนาแล้วน้อยลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหาการปรับตัวสู่โครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศจะต้องมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่การจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจะต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและกำลังคน ที่จะสนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยไปสู่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีและมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งในระดับประเทศ รัฐบาลควรจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายของอุตสาหกรรมไทยและยุทธศาสตร์รายสาขา โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์การแข่งขันในโลกและศักยภาพในการแข่งขันของไทยในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนต้องมีการปรับกระบวนทัศน์และกลยุทธในการแข่งขันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขณะเดียวกัน สำหรับภาครัฐเองก็ต้องมีมาตรการในการรองรับและช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมที่กำลังจะค่อยๆลดน้อยลง ให้สามารถปรับตัวไปสู่โครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมีเป้าหมายชัดเจนจะเป็นแนวทางสำคัญประการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ เพื่อให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น รวมทั้งรองรับการจ้างงานและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ