ตลาดรถจักรยานยนต์ปี 50 ปิดตัวเลขยอดจดทะเบียนด้วยปริมาณทั้งสิ้นกว่า 1.59 ล้านคัน โดยมีอัตราการเติบโตลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 17% จากปัจจัยลบสำคัญคือ สภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวในการบริโภค อย่างไรก็ดีรถแบบ เอ.ที. มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น สาเหตุเพราะการโหมกระตุ้นเปิดตัวผลิตภัณฑ์และปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ในกลุ่มรถประเภทนี้ของค่ายผู้ผลิต โดยเฉพาะฮอนด้าเร่งเครื่องเน้นตลาดเซ็กเม้นต์นี้ต่อเนื่องตลอดปี ประกอบกับรณรงค์สื่อสารการตลาดยกระดับภาพลักษณ์ภายใต้แคมเปญ “+Freedom.” (พลัส ฟรีดอม) ซึ่งนอกจากส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้จนสามารถครองผู้นำติดต่อกันเป็นปีที่ 19 แล้ว ยังผลักดันให้ฮอนด้าเป็นแบรนด์รถจักรยานยนต์ที่ได้รับการยอมรับและมีศักยภาพสูงสุดเป็นสุดยอดแบรนด์อันดับสองที่มีพลังเติบโตแข็งแกร่งในความคิดของคนไทย
นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมของรถจักรยานยนต์ในปี 2550 ปรากฏว่ามีปริมาณทั้งสิ้น 1,598,876 คัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีปริมาณ 1,926,804 คันแล้ว มีปริมาณลดลง 327,928 คัน หรือมีอัตราการเติบโตลดลง 17% ทั้งนี้ประกอบด้วยรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 804,527 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 50% รถแบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือแบบเกียร์อัตโนมัติ 727,869 คัน สัดส่วนตลาด 46% รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต 51,501 คัน สัดส่วนตลาด 3% รถแบบสปอร์ต 10,947 คัน สัดส่วนตลาด 1% และรถประเภทอื่นๆ 4,032 คัน
สำหรับสาเหตุของการเติบโตลดลงนั้นมาจากปัจจัยลบหลายประการ โดยสาเหตุสำคัญคือ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มผู้บริโภคในระดับรากหญ้าอันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ นอกจากนั้นแล้วยังเกิดจากปัจจัยการขาดความเชื่อมั่นต่อสภาพเศรษฐกิจของผู้บริโภค ส่งผลให้มีการชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทำให้การบริโภคหดตัว
อย่างไรก็ตาม แม้สภาพตลาดโดยรวมจะมีการเติบโตลดลง แต่ในกลุ่มรถประเภท เอ.ที. กลับมีการเติบโตสวนทิศทางของตลาด โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 727,869 คัน สัดส่วนตลาด 46% จากปีก่อนหน้านี้ที่มีปริมาณ 648,537 คัน สัดส่วนตลาด 34% เท่านั้น ส่งผลให้รถแบบ เอ.ที. มีอัตราการขยายตัวถึง 12% ในขณะที่รถจักรยานยนต์กลุ่มอื่นๆ ที่เป็นประเภทหลักของตลาด อันได้แก่ รถแบบครอบครัว แบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต และแบบสปอร์ต มีอัตราการขยายตัวลดลงทั้งสิ้น คือ 31% 47% และ 9% ตามลำดับ
โดยสาเหตุของการขยายตัวในกลุ่มรถประเภท เอ.ที. นั้น เนื่องมาจากการมุ่งเน้นและโหมกระตุ้นตลาดรถประเภทนี้ของค่ายผู้ผลิตต่างๆ ทั้งในรูปแบบของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปโฉมและภาพลักษณ์ของรถรุ่นเดิมที่มีอยู่ในตลาดให้มีความสดใหม่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายรถประเภทนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แม้ว่าในช่วงระยะสามเดือนแรกของครึ่งปีหลังจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้มีปริมาณการจำหน่ายลดลง โดยกลุ่มผู้บริโภคหันไปนิยมรถแบบครอบครัวที่มีจุดเด่นด้านความประหยัดก็ตาม แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนั้น ตลาดรถแบบ เอ.ที. ก็กลับมาตื่นตัวและคึกคักขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะจากการที่ค่ายฮอนด้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มรถประเภทนี้ ได้แก่รุ่น ไอคอน พร้อมทั้งรุกจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายที่เข้าตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนับเป็นแรงผลักดันสำคัญในการกระตุ้นตลาด
จากการที่ค่ายฮอนด้าเร่งรุกตลาดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งในตลาดกลุ่มรถ เอ.ที. ด้วยการเปิดตัวรถรุ่น คลิก เพลย์ (Click Play) ในช่วงต้นปี การปรับเปลี่ยนโฉมใหม่รถรุ่น แอร์เบลด (Air Blade) ในช่วงกลางปี และเปิดตัวรถรุ่น ไอคอน (Icon) ในช่วงท้ายปี รวมไปถึงการปลุกเร้าและกระตุ้นตลาดโดยรวม จากการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และเข้าถึงพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้รถทั้งในกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตลอดจนกลุ่มผู้ใช้โดยทั่วไป ประกอบกับมีการรณรงค์สื่อสารทางการตลาดด้วยแคมเปญรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิด “+Freedom.” (พลัส ฟรีดอม) อันเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
รถจักรยานยนต์ฮอนด้าด้วยความอิสระที่ได้รับจากการขับขี่ ส่งผลให้ฮอนด้าได้รับความไว้วางใจและความนิยมจากผู้ใช้เป็นอย่างมาก ทำให้มีปริมาณยอดการจดทะเบียนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ 1,118,555 คัน เทียบเท่าอัตราส่วนครองตลาด 70% ซึ่งการเป็นผู้นำตลาดในปี 2550 นั้น เป็นผลผลักดันให้ฮอนด้าสามารถครองความเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ติดต่อกัน
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ฮอนด้าเป็นแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อมั่นอย่างกว้างขวาง รวมถึงได้รับการยอมรับโดยทั่วไป และที่สำคัญเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพสูงสุดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้จากผลการทำสำรวจวิจัยโดย บริษัท ยัง แอนด์ รูบิแคม จำกัด (วายแอนด์อาร์) ที่ได้จ้างบริษัทวิจัยตลาดมืออาชีพในระดับสากลคือ Ipsos ในการทำสำรวจวิจัยการประเมินคุณค่าของตราสินค้า (Brand) ในความรู้สึกคนไทยผ่านเครื่องมือ Brand Asset Valuation (BAV) ในปีที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าฮอนด้าครองตำแหน่งสุดยอดแบรนด์ในประเทศไทยเป็นอันดับที่สอง (อันดับหนึ่งคือ โนเกีย) โดยส่วนหนึ่งของความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่รถจักรยานยนต์ฮอนด้ารุ่นคลิก และ ไอคอน สามารถเอาชนะใจวัยรุ่นผ่านภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและสดใส
สำหรับแนวโน้มตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2551 นี้ คาดการณ์ว่าสภาพตลาดจะอยู่ในภาวะทรงตัวโดยมีปริมาณตลาดรวมทั้งหมดใกล้เคียงกับเมื่อปีที่ผ่านมา และจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันจะเป็นตัวกำหนดให้รถในประเภทครอบครัวยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ในขณะที่รถแบบ เอ.ที. หรือ เกียร์อัตโนมัติ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ใช้ และมีส่วนในการสร้างความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องให้กับตลาด