บอร์ดตลท. อนุมัติปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์เอื้อธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดทุนไทย

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบให้มีการปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าจดทะเบียนและกระตุ้นให้มีธุรกิจเข้าระดมทุนผ่านตลาดทุนมากขึ้น พร้อมเพิ่มความสามารถของตลาดทุนไทยในการแข่งขันด้านการเพิ่มสินค้า ให้สามารถเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย

นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 23 ม.ค.2551 มีมติอนุมัติปรับเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาของคณะทำงานศึกษาแนวทางปรับปรุงกฎเกณฑ์บริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้มีการหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ รวมถึงคณะอนุกรรมการสรรหาบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้หลักเกณฑ์รับหลักทรัพย์มีความยืดหยุ่น ลดอุปสรรคของผู้ปฏิบัติ เข้าใจง่าย ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเทียบเคียงได้กับตลาดหุ้นต่างประเทศ

“คณะทำงานศึกษาแนวทางปรับปรุงกฏเกณฑ์บริษัทจดทะเบียน ได้นำเสนอผลการศึกษาหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งพบว่า หลักเกณฑ์ส่วนใหญ่สามารถเทียบเคียงได้กับตลาดหุ้นต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และแข่งขันได้กับตลาดหุ้นต่างประเทศ จึงได้มีการเสนอปรับหลักเกณฑ์ด้านการรับหลักทรัพย์ใน 4 ประเด็นหลัก คือด้านฐานะการเงินและการดำเนินงาน ด้านการกระจายการถือหุ้น ด้านช่วงเวลาห้ามขายหลักทรัพย์ และด้านการพิจารณาผ่อนผันหลักเกณฑ์ในเชิงปริมาณได้หากเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน โดยให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการตลท.พิจารณาการผ่อนผันหลักเกณฑ์ในแต่ละกรณี และเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใสด้วย” นายสุทธิชัยกล่าว

หลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ที่มีการปรับปรุงมีดังนี้

1. ด้านฐานะการเงินและการดำเนินงาน
ปรับปรุงหลักเกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จากเดิม 1,500 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณากำไรสุทธิ ให้พิจารณากำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ

2. ด้านการกระจายการถือหุ้นของผุ้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float)
ปรับลดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยสำหรับบริษัทที่มีทุนชำระแล้วเกินกว่า 3,000 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 25 ของทุนชำระแล้วเป็นร้อยละ 20 และในส่วนความหมายของผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งหมายถึงผู้ถือหุ้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร (Strategic Shareholders) ให้ปรับปรุงโดยให้ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร หมายถึงเฉพาะผู้ถือห้นที่เป็นผู้บริหาร หรือผู้ถือห้นที่ถือหุ้นเกินกว่า 5%

3. ด้านการห้ามขายหลักทรัพย์ภายในกำหนดเวลา (Silent Period)
ปรับปรุงให้ผู้ที่ถูกห้ามขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลา Silent Period ซึ่งหมายถึง ผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในการบริหาร โดยให้ใช้ความหมายเดียวกันกับหลักเกณฑ์เดียวกับการกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยข้างต้น และปรับลดสัดส่วนการห้ามขายหลักทรัพย์ของผู้ถือหุ้นดังกล่าวลงจากร้อยละ 65 ของทุนชำระแล้วเป็นร้อยละ 55 รวมทั้งปรับช่วงเวลาการห้ามขายหลักทรัพย์ จากเดิม 1 ปี 6 เดือน เป็น 1 ปี

4. การใช้ดุลยพินิจของตลาดหลักทรัพย์ในการผ่อนผันเกณฑ์ ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถใช้ดุลยพินิจในการผ่อนผันเกณฑ์บางกรณีหากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนของประเทศไทย โดยหลักเกณฑ์ที่อาจผ่อนผันได้ เช่น ขนาดของบริษัท ทุนจดทะเบียน ฐานะการดำเนินงาน และการกระจายการถือหุ้นรายย่อย เป็นต้น ทั้งนี้ จะผ่านกระบวนการพิจารณาที่โปร่งใส โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการที่มีความเป็นอิสระจำนวน 5 ท่าน ประกอบด้วย ตัวแทนจากสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้พิจารณา และนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งให้เปิดเผยข้อมูลการผ่อนผันต่อสาธารณชนด้วย

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ต่อไป