คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบให้จัดตั้งอิควิตี้ อีทีเอฟกองที่ 2 โดยอ้างอิงกับดัชนีหมวดธุรกิจพลังงาน วางแผนจัดตั้งได้ภายในกรกฎาคม 2551 เพื่อเพิ่มสินค้าที่มีสภาพคล่องและเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ลงทุน
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนี้ (23 ม.ค.) มีมติอนุมัติสนับสนุนให้มีการออกอิควิตี้ อีทีเอฟที่อ้างอิงดัชนีหมวดธุรกิจพลังงาน (Equity ETF on SET Energy Sector Index) เป็นครั้งแรกในไทย เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ดึงดูดผู้ลงทุนใหม่ ช่วยกระตุ้นการซื้อขายในตลาด รวมถึง เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์ด้วย
“จากการหารือกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศเพื่อออกอิควิตี้ อีทีเอฟเพิ่มเติม พบว่าผู้ลงทุนสถาบันให้ความสนใจหมวดธุรกิจพลังงานมากที่สุด เนื่องจากหุ้นมีสภาพคล่องสูง ดังนั้น การเพิ่มสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยออกอิควิตี้ อีทีเอฟ ที่อ้างอิงดัชนีหมวดธุรกิจพลังงาน จะเป็นทางเลือกที่ดีต่อทั้งผู้ลงทุนและตลาดทุนโดยรวม โดยหมวดธุรกิจพลังงาน เป็นหมวดที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization)ใหญ่ที่สุด โดย ณ 28 ธันวาคม 2550 มีมูลค่าประมาณร้อยละ 35 ของ Market Capt. ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบในหลักการที่จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งอิควิตี้ อีทีเอฟ ที่อ้างอิงดัชนีหมวดธุรกิจพลังงาน โดยมีมูลค่าเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะร่วมลงทุนในวงเงิน 30 ล้านบาท” นายสุทธิชัยกล่าว
หลังจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้จัดการกองทุนและ/หรือทีมงาน ซึ่งจะเป็นแนวทางเดียวกับการพิจารณาคัดเลือกผู้จัดการกองทุน อิควิตี้ อีทีเอฟ ที่อ้างอิง SET50 โดยผู้เสนอจัดตั้งกองทุนจะต้องมีผู้ดูแลสภาพคล่องหรือมาร์เก็ตเมคเกอร์อย่างน้อย 1 ราย มีแผนการตลาดและให้ความรู้ที่ชัดเจน รวมถึงการมีความพร้อมที่จะพัฒนาระบบให้รองรับอิควิตี้ อีทีเอฟกองใหม่นี้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2551 ด้วย ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และระบบที่เกี่ยวข้องจะเหมือนกับอิควิตี้ อีทีเอฟ ตัวแรกของไทย คือ ThaiDEX Equity ETF (TDEX)
อิควิตี้ อีทีเอฟ เป็นตราสารที่มีลักษณะเหมือนการลงทุนในหุ้น แต่เป็นการลงทุนในกลุ่มหุ้นตามดัชนีที่ใช้อ้างอิง แต่ต่างจากกองทุนทั่วไป ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนโดยอ้างอิงราคาเรียลไทม์ได้ และมีผู้ดูแลสภาพคล่องในการซื้อขาย โดยเมื่อเดือนกันยายน 2550 อิควิตี้ อีทีเอฟ แรก คือ TDEX มีขนาดของมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มจากประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นกว่า 2,400 ล้านบาท (ณ 28 ธันวาคม 2550) หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 140 และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึงประมาณ 85 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับ อีทีเอฟ ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศในเอเชีย