ตลาดเบียร์ปี’51 : ระดมกลยุทธ์สู้ศึกเศรษฐกิจ…ศึกแข่งขัน

ตลาดเบียร์ในปี 2551 เป็นอีกปีหนึ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนยังมีความวิตกกังวลต่อกำลังซื้อของตนเอง ภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะถูกปัจจัยกดดันทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายรายการ จนส่งผลกระทบต่อรายได้และค่าครองชีพ ทำให้ภาคประชาชนมีการประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลทำให้ตลาดเบียร์ในปี 2551 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่ภาพรวมการแข่งขันก็มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากผู้ประกอบการเบียร์ในประเทศซึ่งนำกลยุทธ์ทางด้านราคามาใช้แข่งขันในตลาดเบียร์ระดับล่าง ในขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันกับเบียร์จากต่างประเทศซึ่งเข้ามาขยายตลาดทั้งในรูปแบบของการนำเข้าสินค้า ในขณะที่บางรายเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยที่เข้ามาแล้วได้แก่เบียร์จากประเทศฟิลิปปินส์ ในขณะที่เบียร์จากประเทศจีนได้ตัดสินใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ประกอบการเบียร์ที่จะประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายในปี 2551 จึงต้องระดมกลยุทธ์ต่างๆ ทั้งการเพิ่มงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การเน้นกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของประชาชน การให้ความสำคัญกับตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังคงมีกำลังซื้อสูง และการขยายตลาดเบียร์ไปต่างประเทศ เป็นต้น

ตลาดเบียร์ ในปี 2550 จบลงด้วยสถานการณ์ที่ไม่แจ่มใสนัก อันเป็นผลพวงจากปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจทางด้านรายได้และรายจ่ายในอนาคต และส่งผลให้อารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ประการสำคัญ ในขณะที่กำลังซื้อของภาคประชาชนชะลอตัวลง ทางด้านของผู้ประกอบการเบียร์กลับประสบอุปสรรคไม่สามารถผลักดันกลยุทธ์กระตุ้นตลาดได้อย่างเต็มที่นัก โดยผู้ประกอบการมีการชะลอหรือลดการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อต่างๆลง เพื่อรอดูความชัดเจนทางด้านนโยบายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ภาครัฐจะผลักดันออกมา ส่งผลให้ตลาดเบียร์ขาดปัจจัยที่จะมากระตุ้นในช่วงกำลังซื้อชะลอตัว ทั้งนี้ จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ายอดจำหน่ายเบียร์ในปี 2550 มีทั้งสิ้น 2,079.2 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 6 ซึ่งต่ำกว่าช่วงปี 2549 ที่ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.5 สำหรับในด้านของมูลค่าตลาดนั้นผู้ประกอบการเบียร์ได้ประเมินว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.05 แสนล้านบาทขยายตัวประมาณร้อยละ 5-6 ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 10 เนื่องจากการเติบโตของตลาดเบียร์จะอยู่ในกลุ่มเบียร์ราคาถูก ในขณะที่ตลาดเบียร์ราคาปานกลางถึงสูงยอดจำหน่ายอยู่ในภาวะทรงตัว

สำหรับในปี 2551 ผู้ประกอบการคาดหมายว่า ตลาดเบียร์จะมีการเติบโตในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยเติบโตประมาณร้อยละ 5 คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยตลาดเบียร์ราคาถูกจะเติบโตประมาณร้อยละ 10 ส่วนตลาดเบียร์ระดับราคาปานกลางกลุ่มสแตนดาร์ดและตลาดเบียร์ราคาสูงกลุ่มพรีเมียมมูลค่าตลาดน่าจะทรงตัวหรือขยายตัวเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ การที่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมีนโยบายผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ และแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวรุนแรงในปีที่ผ่านมา ประกอบกับข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับมาตรการห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อต่างๆตลอด 24 ชั่วโมงคลี่คลายลง เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบผ่านพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งสาระสำคัญยังคงอนุญาตให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าได้ตามปกติ เป็นผลให้ผู้ประกอบการสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายได้คล่องตัวมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดเบียร์ในปี 2551 จะยังคงถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อตลาดและผู้ประกอบการ ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัว กำลังซื้อของภาคประชาชน ถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายรายการ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเบียร์มีแนวโน้มที่จะปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิต รวมทั้งภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากภาครัฐได้มีการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกร้อยละ 1.5 ของมูลค่าภาษีเดิม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ทีวี-สาธารณะ) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมกำลังซื้อของภาคประชาชนให้อ่อนแอลง เพราะผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีแนวโน้มที่จะผลักภาระภาษีทั้งหมดไปสู่ผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน จากความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจจะปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สูงขึ้นตามเพดานภาษีที่ขอปรับปรุงใหม่ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อควบคุมและชะลอการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณใช้จ่ายตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อกำลังซื้อของภาคประชาชนอีกส่วนหนึ่ง

ตลาดเบียร์ราคาถูกแข่งเดือด ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ากำลังซื้อของภาคประชาชนในปี 2551 จะอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้ปัจจัยทางด้านราคาเป็นตัวตัดสินใจเลือกซื้อเบียร์มากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการเบียร์จึงมุ่งเจาะจงขยายตลาดไปยังตลาดเบียร์ราคาถูก ซึ่งมีฐานผู้บริโภคเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงมากนักและมีสัดส่วนตลาดสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าตลาดเบียร์ทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ประกอบการเบียร์ หันมาใช้กลยุทธ์การตลาดรูปแบบต่างๆเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเบียร์ที่มีมูลค่ามหาศาลให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้านราคา ซึ่งคาดว่าจะถูกนำมาใช้กระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง

เบียร์ต่างประเทศรุกตลาดหนัก การรุกเข้ามาของเบียร์จากต่างประเทศ มีปัจจัยจากตลาดเบียร์ต่างประเทศมีการแข่งขันรุนแรงในประเทศของตนเอง หรือตลาดมีการอิ่มตัวทางด้านการเติบโต ผู้ประกอบการจึงเริ่มขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ ประกอบกับตลาดเบียร์ของไทยมีการเติบโตเป็นลำดับจนมีมูลค่าสูงถึงปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติสนใจเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้บริโภคเบียร์ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง และจากปัจจัยดังกล่าว จูงใจให้เบียร์จากต่างประเทศสนใจเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเบียร์จากประเทศที่ไทยมีข้อตกลงทางการค้า ซึ่งการรุกเข้าสู่ตลาดของเบียร์จากต่างประเทศมีรูปแบบเริ่มตั้งแต่การส่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย จนถึงการรุกเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

-การนำเข้าเบียร์มาจำหน่ายในไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เบียร์จากต่างประเทศมีการส่งออกมาจำหน่ายยังไทยเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นเป็นลำดับจากปริมาณนำเข้า 3.9 ล้านลิตรคิดเป็นมูลค่า 74.2 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 10.6 ล้านลิตรคิดเป็นมูลค่า 269.6 ล้านบาทในปี 2547 และ25.5 ล้านลิตรคิดเป็นมูลค่า 664.8 ล้านบาทในปี 2549 สำหรับในปี 2550 ที่ผ่านพ้นไปปริมาณและมูลค่านำเข้าเบียร์มีทั้งสิ้น 24.5ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 635.8 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเบียร์จากจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62.3 ของมูลค่าการนำเข้าเบียร์ทั้งหมดของไทย รองลงมาได้แก่มาเลเซีย(สัดส่วนร้อยละ 20.3) เยอรมนี(สัดส่วนร้อยละ 3.2) สิงคโปร์(สัดส่วนร้อยละ 2.9) เม็กซิโก(สัดส่วนร้อยละ 2.6) เป็นต้น โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้าเบียร์จากจีนมีการเติบโตสูง กล่าวคือจาก 0.3 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มขึ้นมาเป็น 156.3 ในปี 2549 และ 396.7 ล้านบาทในปี 2550
-การเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ โดยปกติ เบียร์ที่ผลิตจากต่างประเทศ มักจะเข้ามาทำตลาดในไทยโดยเริ่มจากการนำเข้าสินค้ามาทดสอบตลาด ต่อเมื่อเห็นช่องทางที่จะขยายตลาดมากขึ้น จึงมีนโยบายที่จะเข้ามาตั้งโรงงานเพื่อลดต้นทุน ทั้งด้านภาษีและต้นทุนค่าขนส่ง เพราะเบีย์เป็นสินค้ามีราคาจำหน่ายต่อหน่วยในระดับที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับสุราหรือไวน์ ทำให้การส่งเบียร์จากประเทศที่มีระยะทางขนส่งไกลมีต้นทุนที่สูง ดังนั้นการเข้ามาตั้งโรงงานในไทยจะทำให้เบียร์จากต่างประเทศมีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันมีเบียร์จากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยแล้วได้แก่ บริษัท ซานมิเกล เบียร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเบียร์จากประเทศฟิลิปปินส์ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเบียร์ โดยใช้โรงงานเดิมของ ไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์ซานมิเกลเพื่อจำหน่ายในไทยและใช้เป็นฐานส่งออก นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ผู้ผลิตเบียร์จากต่างประเทศอีกหลายแห่งจะเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเพิ่มขึ้นอาทิ เบียร์จากประเทศลาว และล่าสุดคือจีนที่เตรียมจะตั้งโรงงานในไทยภายหลังจาก คณะกรรมการบริษัทเบียร์ชิงเต่า (Tsingtao) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่จากประเทศจีนได้อนุมัติให้มีการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นโรงงานเบียร์ในต่างประเทศแห่งแรก ทั้งนี้เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและเป็นฐานส่งออกไปยังประเทศในแถบอาเซียนรวมทั้งประเทศใกล้เคียงอื่นๆ หลังจากที่ได้มีการส่งออกเบียร์เข้ามาจำหน่ายในไทยระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันในตลาดเบียร์ของไทยรุนแรงยิ่งขึ้น

ช่องทางจำหน่าย ณ จุดขายซบเซา (ON PREMISE) ในภาวะที่กำลังซื้อของภาคประชาชนชะลอตัว เกิดความไม่มั่นใจเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ส่งผลให้ประชาชนมีการประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะมีการงดหรือลดความถี่ของกิจกรรมสังสรรค์นอกบ้านที่ต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายสูงอาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ และให้น้ำหนักกับกิจกรรมในบ้านมากขึ้น ดังนั้นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จำหน่ายผ่านสถานบันเทิงและร้านอาหารต่างๆหรือช่องทางการจำหน่าย ณ จุดขาย (ON PREMISE) จึงค่อนข้างได้รับผลกระทบมากกว่าช่องทางค้าปลีก(OFF PREMISE) ซึ่งหมายถึงตลาดที่ผู้บริโภคซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และมินิมาร์ต เพื่อนำไปดื่มที่บ้าน ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสถานบันเทิงต่างๆมีค่อนข้างสูงไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องดื่ม ค่าอาหาร รวมทั้งค่าบริการอื่นๆ ในขณะที่การซื้อกลับไปดื่มที่บ้านสามารถตัดค่าใช้จ่ายด้านนี้ลงได้ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ได้แก่ เบียร์ที่จับตลาดกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป โดยเฉพาะเบียร์กลุ่มสแตนดาร์ดและเบียร์กลุ่มพรีเมี่ยม

จากปัจจัยกดดันต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น นับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจเท่าที่ควร ดังนั้น ผู้ประกอบการเบียร์ควรพิจารณาหาแนวทางรับมือสถานการณ์ตลาดที่ไม่ค่อยแจ่มใสดังกล่าว ซึ่งสรุปได้ดังนี้
เพิ่มงบประมาณและความถี่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา ประชาชนมีการประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์ทางด้านราคา รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณทั้งในส่วนกลยุทธ์การตลาดที่ผ่านสื่อโฆษณาหลักต่างๆในลักษณะที่เรียกว่าอะโบฟเดอะไลน์ (Above the line) เช่น วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความภักดีต่อตัวสินค้า รวมทั้งงบประมาณที่ไม่ผ่านสื่อหรือบีโลว์เดอะไลน์ (Below the line) อันได้แก่การจัดกิจกรรม ณ จุดขาย ในช่องทางจำหน่ายผ่านภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ ซึ่งในปีนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคลดความถี่ในการสังสรรค์นอกบ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยช่วงเวลาเหมาะสมที่ผู้ประกอบการน่าจะจัดกิจกรรม ณ จุดขายได้แก่ช่วงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปที่ประเทศออสเตรียกับสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนมิถุนายน 2551 และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นกีฬาที่คนไทยให้ความสนใจ

การรุกทำตลาดเบียร์ราคาถูก เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2551 เกษตรกรของไทยน่าจะยังคงสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรสำคัญทั้ง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันได้ราคาดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เบียร์ที่จับตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่สูงมากนัก ยอดจำหน่ายมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงมากกว่าเบียร์ที่มีราคาจำหน่ายสูง ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคบางส่วนที่มีรายได้ปานกลางจะเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดการดื่มเบียร์ที่มีราคาสูงหรือหันไปหาเบียร์ที่มีราคาต่ำทดแทน โดยคาดว่าตลาดเบียร์ราคาถูกในปี 2551 จะเติบโตประมาณร้อยละ10 ในขณะที่เบียร์ราคาสูงมีแนวโน้มที่ยอดจำหน่ายจะอยู่ในภาวะทรงตัวเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น ในช่วงที่ กำลังซื้อของภาคประชาชนมีแนวโน้มชะลอตัวลง ผู้ประกอบการเบียร์จึงควรให้ความสนใจกับการส่งเสริมการขายในส่วนของตลาดเบียร์ราคาถูกเพิ่มขึ้น

การเสริมตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของภาคประชาชนไม่เอื้ออำนวยต่อการทำตลาด ผู้ประกอบการเบียร์ควรให้ความสำคัญต่อตลาดผู้บริโภคกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้คาดว่า ผลจากการเมืองของไทยที่เข้าสู่ภาวะปกติ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ จะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดข้อกังวลด้านความรุนแรงทางการเมืองลง ส่งผลให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2551 มีความคึกคักมากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการเบียร์ของไทยจะได้มีการส่งเสริมการตลาดในช่วงนี้ โดยควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามสถานที่ต่างๆอาทิ ตามต่างจังหวัดที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งก็จะเข้ามาช่วยเพิ่มปริมาณการจำหน่ายเบียร์ได้ในภาวะตลาดซบเซาได้ส่วนหนึ่ง
การขยายตลาดส่งออก ในขณะที่เบียร์จากต่างประเทศรุกเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างหนัก ผู้ประกอบการเบียร์ของไทยเองก็ควรให้ความสนใจกับตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดเบียร์ในประเทศ ปัจจุบันเริ่มมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงมากนัก จึงจำเป็นต้องออกไปแสวงหาตลาดใหม่ๆเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ทั้งนี้ที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกเบียร์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าที่สูง โดยจากมูลค่าส่งออก 1,372.0 ล้านบาทในปี 2545 เป็น 2,040.9 ล้านบาทในปี 2549 สำหรับในปี 2550 ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเบียร์มีทั้งสิ้น 2,295.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 สำหรับตลาดส่งออกเบียร์ที่สำคัญของไทยได้แก่ตลาดกลุ่มประเทศอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.3 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยหากแยกเป็นรายประเทศแล้วกัมพูชาเป็นตลาดส่งออกสำคัญคิดเป็นมูลค่า 874.9 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 38.1 รองลงมาได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ สัดส่วนร้อยละ 9.4 พม่าสัดส่วนร้อยละ 8.6 สหรัฐอเมริกาสัดส่วนร้อยละ 6.3 สำหรับตลาดส่งออกที่ไทยมีโอกาสขยายมูลค่าส่งออกเบียร์ได้แก่ประเทศที่ไทยมีข้อตกลงทางการค้าอาทิ ประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน ทั้งลาว และเวียดนาม รวมทั้งประเทศ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย รวมทั้งจีน ซึ่งแม้ว่ามูลค่าการส่งออกเบียร์ของไทยไปจีนจะยังไม่สูงมากนักเพียงประมาณ 2.7 ล้านบาทต่อปี แต่จากการที่ประชากรของจีนมีฐานะและรายได้เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำระหว่างไทยกับจีนที่สะดวกมากขึ้น ประการสำคัญการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกันจะช่วยเปิดโอกาสให้ไทยขยายตลาดส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดเบียร์ในปี 2551 ยังเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการนัก เนื่องจากประชาชนขาดกำลังซื้อ รวมกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตเบียร์จำเป็นต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มจะหันมาใช้ปัจจัยทางด้านราคาเป็นตัวตัดสินใจเลือกซื้อเบียร์มากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคในกลุ่มที่มีกำลังซื้อน้อย ในขณะเดียวกัน การเพิ่มงบประมาณจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นให้ภาคประชาชนเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด การพึ่งพาตลาดในประเทศอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับภาวการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากการขยายตัวที่มีจำกัดรวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรง ฉะนั้น การมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศจึงนับเป็นทิศทางหนึ่งที่เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการตลาดโดยเฉพาะทางด้านมูลค่าจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการเบียร์ ได้เพิ่มขึ้น