เคาน์เตส อัลบีน่า ดู บัวส์รูเวรย์ ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิ เอฟ เอ็กซ์ บี นานาชาติ จะเดินทางมาเยือนไทยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเปิดอีกสองโครงการหมู่บ้านต้นแบบที่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าผลกระทบเอดส์ เด็กด้อยโอกาสกลุ่มเสี่ยงสูงที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก พร้อมทั้งเดินทางไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าของโครงการ ในจังหวัดบุรีรัมย์และมหาสารคาม ก่อนที่จะเดินทางไปเยี่ยมโครงการในประเทศพม่าต่อไป
เคาน์เตส อัลบีน่า ดู บัวส์รูเวรย์ เป็นพระญาติในราชวงศ์โมนาโค เธอใช้ชีวิตวัยเด็กที่มีความสุขในนิวยอร์ก ก่อนจะย้ายมาใช้ชีวิตครอบครัวในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เธอเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวก่อนที่จะผันตัวมาตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ แต่หลังจากลูกชายคนเดียวของเธอที่ชื่อ ฟรังซัว ซาเวียร์ บองนัวต์ เสียชีวิตขณะที่มีอายุเพียง 24 ปี ระหว่างปฏิบัติภารกิจกู้ภัยทางอากาศในแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกา เธอจึงตัดสินใจขายบริษัทผลิตภาพยนตร์ และก่อตั้งมูลนิธิ เอฟ เอ็กซ์ บี นานาชาติ ขึ้น ในปี พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บุตรชายผู้ล่วงลับ และสืบทอดเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเด็กกำพร้าผลกระทบเอดส์ และเด็กด้อยโอกาสในสังคมทั่วโลกโดยได้ก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้นในประเทศไทยเป็นพื้นที่แรกในภูมิภาคเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2533 ซึ่งมีดร. สายสุรี จุติกุล เป็นประธานมูลนิธิฯ ร่วมก่อตั้ง
จุดประสงค์หลักในการมาเยือนไทยของ เคาน์เตส อัลบีน่า ดู บัวส์รูเวรย์ ในปีนี้ คือ การมาพบปะกับผู้บริหารมูลนิธิ เอฟ เอ็กซ์ บี (ประเทศไทย) และเยี่ยมชมโครงการใหม่ๆ รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้เปิดไปแล้วที่จังหวัดบุรีรัมย์เมื่อปี พ.ศ. 2549 และที่จังหวัดมหาสารคามเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นโครงการหมู่บ้านต้นแบบที่คอยช่วยเหลือเด็กกำพร้าหรือเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบเอดส์ และภัยพิบัติสึนามิ ให้มีโอกาสทางสังคม ทางการศึกษา และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ์ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ จนอาจตกเป็นเหยื่อของของวงจรค้ามนุษย์ ธุรกิจบริการทางเพศ หรือวงจรอาชญกรรมรูปแบบต่างๆ
จากความมุ่งมั่นในการปฎิบัติงานโครงการช่วยเหลือต่างๆ ใน18 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งรณรงค์เพื่อสิทธิเด็กและสตรี ทำให้ เคาน์เตส อัลบีน่า ดู บัวส์รูเวรย์ ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Times ให้เป็นหนึ่งใน “Heroes”เมื่อปี พ.ศ. 2546 ในฐานะที่เธอเป็นเหมือนวีรสตรีที่คอยให้ทั้งความรักและความห่วงใยกับเด็กกำพร้าผลกระทบเอดส์และเด็กด้อยโอกาสหลายล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจากหลากหลายสถาบัน รวมถึงรางวัลผู้ทำงานด้านมนุษยธรรม ซีกโลกเหนือ และใต้ ร่วมกับ ประธานาธิบดี ซานานา กุสเมา แห่งติมอร์ตะวันออก และ ที่สำคัญคือ รางวัลจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี พ.ศ. 2547 ในฐานะผู้ที่ช่วยเหลือเรื่องการปกป้องสิทธิเด็กและผู้หญิงในประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน