ธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2550 ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังต้องทำธุรกิจแข่งกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบการต่างผลักดันแคมเปญออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถือบัตรของตนใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการ นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแล้ว ในปี 2550 ที่ผ่านมา ผู้ใช้บัตรเครดิตยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การชำระบัตรเครดิตจากขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดสินเชื่อคงค้าง เป็นขั้นต่ำร้อยละ 10 ของยอดสินเชื่อคงค้าง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิมที่ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 ต่อปี ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มียอดคงค้างสินเชื่อที่สูง ทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตบางกลุ่มชะลอการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญของธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2550 และแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2551 ดังต่อไปนี้
สรุปภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตปี 2550
ทั้งนี้ จากการพิจารณาตัวเลขบัตรเครดิต ณ สิ้นปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า:
ปริมาณบัตรเครดิตปี 2550: กลุ่ม Non-Bank ขยายตัวเพิ่มขึ้น…หนีคู่แข่ง ภาพรวมปริมาณบัตรเครดิตทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 11,2003,369 บัตร มีการเติบโตร้อยละ 10.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ในปี 2549 โดยปริมาณบัตรเครดิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจากสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ Non-Bank มีอัตราการขยายตัวของบัตรเครดิตใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 5,966,462 บัตร ขยายตัวร้อยละ 12.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2549 ทั้งนี้ปริมาณบัตรเครดิตในกลุ่ม Non-Bank ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นและค่อนข้างโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น สาเหตุน่าจะมาจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มนี้ได้ทำแคมเปญกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 2550 ชะลอตัว ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีผู้ประกอบได้เร่งทำแคมเปญการตลาดเพื่อการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลและผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายมากเป็นพิเศษ แต่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงชะลอตัว โดยในปี 2550 มีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งสิ้น 719,344 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 13 ชะลอลงจากที่มีการเติบโตร้อยละ 17.3 ในปี 2549 สาเหตุของการชะลอตัวของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากผู้บริโภคประสบกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคมีความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ในอนาคต ทำให้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
สินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต ปี 2550 ชะลอตัวลง ทั้งนี้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 179,276 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.8 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 ในปี 2549 ทั้งนี้สาเหตุของการชะลอตัวของยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตที่ชะลอตัวลงอย่างมากน่าจะมาจาก
– ผู้ประกอบการบัตรเครดิตมีการตัดบัญชีหนี้สูญออกจากระบบเร็วขึ้น อีกทั้งการยกเลิกบัตรล่วงหน้า ก่อนเวลาต่ออายุบัตรจริง เมื่อเห็นว่าผู้ถือบัตรไม่สามารถชำระยอดสินเชื่อได้ตามเวลาที่กำหนด
– ผู้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตที่ไม่สามารถผ่อนชำระบัตรเครดิตได้ตามเวลาที่กำหนด ทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตกลุ่มนี้จำเป็นต้องหาแหล่งสินเชื่ออื่น เพื่อนำไปชำระบัตรเครดิต เช่น สินเชื่อเงินสด หรือมีการปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ซึ่งเหตุนี้อาจจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
– ผู้ถือบัตรเครดิตมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระยอดคงค้างบัตรเครดิต โดยมีการหันมาผ่อนชำระยอดคงค้างบัตรเครดิตต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิมที่ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 ต่อปี ทำให้ผู้ถือบัตรที่ไม่ต้องการเสียดอกเบี้ยที่สูงหันมาชำระยอดคงค้างบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งน่าจะส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างมีปริมาณลดลง
ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป…ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงแม้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตจะชะลอตัวลง แต่ภาพรวมยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป ทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 5,850 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.5 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 29.5 ในปี 2549 ทั้งนี้สาเหตุของการขยายตัวของยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป ในปี 2550 น่าจะมาจากการปรับขึ้นอัตราการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิมที่ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 ต่อปี ประกอบกับภาวะที่ผู้บริโภคเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ถือบัตรเครดิตบางรายประสบกับปัญหาสภาพคล่อง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระบัตรเครดิต
การเบิกเงินสดล่วงหน้าบัตรเครดิต ปี 2550 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งนี้ปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าบัตรเครดิตทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2550 มีจำนวน 204,001 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.8 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.5 ในปี 2549 ทั้งนี้การชะลอตัวดังกล่าวสาเหตุน่าจะมาจากผู้ประกอบการมีการเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบบัตรเบิกเงินสด ซึ่งสินเชื่อประเภทนี้จะไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติวงเงินแล้ว ผู้ขอสินเชื่อสามารถใช้บัตรเบิกเงินสดจากเครื่อง ATM และจะคิดดอกเบี้ยเมื่อมีการเบิกถอน อัตราดอกเบี้ยจะคิดเฉพาะเงินส่วนที่ถูกถอนออกไปจากบัญชีนับจากวันที่มีการถอนออกไปจนถึงวันที่ชำระคืน
แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตปี 2551 : หลากกระบวนยุทธ์…กระตุ้นธุรกิจบัตรเครดิต
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2551 จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการยังคงเดินหน้าทำการตลาดขยายฐานบัตรเครดิต เร่งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังจะเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของคุณภาพของสินเชื่อ ถึงแม้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างโดยรวมของระบบในปี 2550 ที่ผ่านมา จะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.8 ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 ในปี 2549 แต่รายงานตัวเลขยอดค้างชำระที่เกิน 3 เดือนขึ้นไปของบัตรเครดิตทั้งระบบของธนาคารแห่งประเทศ พบว่า ยอดค้างชำระที่เกิน 3 เดือนขึ้นไปของบัตรเครดิตทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ประมาณ 5,850 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.5 ซึ่งเร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 29.5 ในปี 2549
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2551 ดังนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปริมาณบัตรเครดิตในระบบ ณ สิ้นปี 2551 น่าจะมีปริมาณบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 12,915 ล้านบัตร ขยายตัวร้อยละ 7.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 10.1 ในปี 2550 โดยการขยายฐานบัตรเครดิตในปี 2551 คาดว่า กลยุธท์การตลาดที่ออกมาเพื่อช่วยจูงใจให้สมัครบัตรเครดิต เช่น การแจกของสมนาคุณเมื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการตามที่กำหนด และการใช้ตัวแทนในการทำตลาด (โดยตัวแทนเหล่านี้จะใช้กลยุทธ์ในการแจกของรางวัลเมื่อผู้สมัครได้รับอนุมัติบัตรจากผู้ประกอบการ) โดยจะเป็นการทำตลาดในรูปแบบการทำตลาดรวม (Mass Marketing) และการทำตลาดในรูปแบบเจาะกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมความชอบ วิถีชีวิต ในการใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการ (Segment Marketing)
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การที่ผู้ประกอบการมีการออกบัตรเครดิตในรูปแบบเจาะกลุ่มตลาดมากขึ้น (Segment Marketing) การสร้างบัตรเครดิตเฉพาะประเภทหรือเฉพาะบางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรประเภทนั้นเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากความต้องการของคนทั่วไปไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งเดียว ทำให้แนวโน้มผู้ถือบัตรเครดิต1 คน จะมีการถือบัตรเครดิตมากกว่า 1 บัตรเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้องการสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม ตัวอย่างเช่น บัตรเครดิตท่องเที่ยว เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งผู้สมัครบัตรประเภทนี้จะได้รับส่วนลดสิทธิพิเศษด้านที่พักโรงแรม รับส่วนลดในการซื้อตั๋วโดยสาร ที่เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการ แต่ในขณะเดียวกันลูกค้ากลุ่มนี้อาจมีความต้องการสิทธิประโยชน์ส่วนลดพิเศษด้านอื่น อาทิ บัตรเครดิตสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ บัตรเครดิตที่ได้รับส่วนลดพิเศษจากห้างสรรพสินค้า หรือบัตรเครดิตสำหรับผู้ที่รักกีฬา ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้หันไปสมัครบัตรเครดิตที่ให้ส่วนลดสิทธิพิเศษด้านนี้เพิ่มกับผู้ประกอบการรายอื่น หรือแม้กระทั่งการใช้กลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตที่มอบสิทธิประโยชน์แตกต่างกันในแต่ละตัวบัตร ทำให้ลูกค้าบางรายถือบัตรเครดิตจากผู้ประกอบการเดียวกันมากกว่า 1 บัตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนบัตรส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าที่มีบัตรเครดิตอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงเผชิญกับความท้าทายในการขยายฐานบัตรเครดิตไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่คิดจะมีบัตรเครดิต เนื่องมาจากผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจะยังคงมีมุมมองที่ไม่ดีต่อสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการที่ผู้ประกอบการจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของบัตรเครดิต เพื่อจูงใจให้ผู้ริโภคกลุ่มนี้หันมาใช้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต นอกจากนี้การขยายฐานสินเชื่อบัตรเครดิตไปยังต่างจังหวัดยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากลักษณะการใช้ชีวิตของคนในกรุงเทพฯและคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก รวมทั้งแหล่งร้านค้า สถานที่รับบัตรเครดิตไม่เป็นที่แพร่หลาย ทำให้สินเชื่อบัตรเครดิตยังไม่เป็นที่นิยมในต่างจังหวัด
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งระบบในปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 816,500 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 13.5 ซึ่งใกล้เคียงกับที่ขยายตัวร้อยละ 13 (มีมูลค่า 719,344 ล้านบาท) ในปี 2550
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีส่วนทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตใน 2551 เพิ่มขึ้นมาจากการที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์การส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยผู้ประกอบการพยายามเน้นความแปลกใหม่ในความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนเอง ด้วยการพยายามจับกลุ่มตลาดใหม่ๆ สำหรับกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตผู้ประกอบการยังคงเน้นการเพิ่มพันธมิตรร้านค้ามากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการมีเครือข่ายร้านค้าที่ร่วมกิจกรรมการตลาดมากมายและทั่วถึง ทำให้ผู้บริโภคต้องการที่จะสมัครบัตรเครดิตจากผู้ประกอบการรายนั้น เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการซื้อสินค้า และทำให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น การสร้างรอยัลตี้โปรแกรม การจูงใจให้ชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตอีกวิธีหนึ่ง คือ โปรโมชั่นรับเงินคืนเข้าบัญชี (Cash Back) หรือ การคืนเงินให้ในรูปแบบของบัตรกำนัล (Gift Voucher) การเพิ่มคะแนนสะสม เช่น รับคะแนนทันที 3 เท่า เพื่อนำมาใช้แลกของรางวัล การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการใช้จ่ายผ่านบัตรอื่นๆ เช่น การรับประกันอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง หากชำระค่าโดยสารเครื่องบินด้วยบัตรเครดิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการยังคงต้องทำงานหนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเผชิญกับปัจจัยลบ เช่น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ที่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและบริการ ทำให้ราคาสินค้าในหลายประเภทมีการปรับตัวสูงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคบางกลุ่ม นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 20 และจากการปรับขึ้นการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 10 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มียอดสินเชื่อคงค้างที่สูง ที่ต้องมีภาระการผ่อนชำระมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
สำหรับสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต ณ ปี 2551 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 190.780 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2550 สาเหตุน่าจะมาจากแคมเปญการกระตุ้นการใช้บัตรของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในปี 2551 ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวัง ถึงแม้ว่ายอดสินเชื่อคงค้างในปี 2550 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่สาเหตุหนึ่งมาจากผู้ประกอบการบัตรเครดิต มีการตัดบัญชีหนี้สูญทันที หรือการที่ผู้ประกอบการบางรายมีการเสนอสินเชื่อเงินสด (รีไฟแนนซ์) ให้แก่ลูกค้าที่ประสบปัญหาไม่สามารถชำระสินเชื่อบัตรเครดิตได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิต ณ ปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 224,001 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 9.8 ชะลอลงจาก ร้อยละ 10.8 ในปี 2550 ซึ่งการขยายตัวของการเบิกเงินสดล่วงหน้าในอัตราที่ชะลอลงนั้น สาเหตุน่าจะมาจากผู้บริโภคมีทางเลือกทางการเงินมากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งต่างแข่งขันกันออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินสดประเภทต่างๆ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในการจูงใจ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2.99 เป็นระยะเวลา 2 เดือน การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระคืนให้นานขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายมีการเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทบัตรเบิกเงินสด หรือสินเชื่อหมุนเวียน
บทสรุปและข้อคิดเห็น
เป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาธุรกิจบัตรเครดิตมีการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ประกอบการพยายามโหมแคมเปญการตลาด เพื่อขยายฐานบัตรและกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตแทนการชำระด้วยเงินสดมากขึ้น แต่ภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2550 ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เนื่องจากผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายไปตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2551 เป็นปีที่ผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิต ขณะเดียวกันยังคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในภาวะที่ผู้บริโภคยังคงเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องมาจากราคาสินค้าที่ทยอยปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจบัตรเครดิตในปีนี้จะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการบัตรเครดิตรายใหญ่ทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ และกลุ่ม Non-Bank ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการบัตรเครดิตขนาดกลางได้ชะลอแคมเปญการตลาดออกไป เนื่องจากต้นทุนการทำตลาดบัตรเครดิตที่สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการบัตรเครดิตขนาดกลางน่าจะหันไปเน้นการปล่อยผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทอื่นแทน
สำหรับผู้บริโภคบางกลุ่มการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะมาจากบัตรเครดิตสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้ การได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนลดเมื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตมากกว่าการชำระด้วยเงินสด และยังสามารถนำคะแนนสะสมที่ได้จากการใช้บัตรเครดิตมาแลกเป็นของรางวัลได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในภาวะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีการแข่งขันที่สูง ผู้ประกอบการต่างยังคงใช้กลยุทธ์เพิ่มสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิตแทนเงินสดมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้บัตรเครดิตจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่สูง ก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่ควรเกินกำลังความสามารถของตนเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป เช่น การกำหนดวงเงินในการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน เป็นต้น และไม่ควรปล่อยให้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตสะสมเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่ารายได้ต่อเดือน เนื่องจากการชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี