คนไทยเที่ยวไทยช่วงสงกรานต์ปี’52 : เม็ดเงินสะพัด 1 หมื่นล้านบาท

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2551 ซึ่งมีวันหยุดราชการติดต่อกัน 5 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 12 -16 เมษายน 2551 ส่งผลให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้มีโอกาสร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์และพักผ่อน หรือเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุดสงกรานต์กับครอบครัวกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศงานเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไม่คึกคักเท่าทุกปี เนื่องจากยังอยู่ในช่วงการแสดงความไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หน่วยงานต่างๆทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนจึงงดงานเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงต่างๆ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ประมาณการแนวโน้มตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ และรายได้ด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2551 จากข้อมูลการสำรวจสถิติการท่องเที่ยวภายในประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยททท.ให้คำจำกัดความ “การเดินทางของนักท่องที่ยว” คือ การเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ปกติ และไม่นับรวมการเดินทางไปยังที่อยู่ในภูมิลำเนาของบุคคลนั้นๆ ดังนั้น นักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ที่กล่าวถึงในรายงานฉบับนี้จึงไม่รวมคนไทยที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม

หลากปัจจัยลบ : กระทบคนไทยเที่ยวไทยช่วงสงกรานต์….ลด 1.7%
บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่ซบเซาลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบบั่นทอนตลาดคนไทยเที่ยวไทย ทำให้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปีนี้ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศจะมีแนวโน้มถดถอยลงจากปีก่อนหน้าช่วงเดียวกันเล็กน้อย โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทย (ไม่รวมผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม) เดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.28 ล้านคนลดลงร้อยละ 1.7

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลบั่นทอนตลาดท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่คลายความคึกคักลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 เป็นต้นมา เนื่องจากหน่วยงานต่างๆทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนงดจัดงานเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงต่างๆเพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ภาครัฐโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ใน 13 จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ (ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สุพรรณบุรี เชียงใหม่ สุโขทัย ขอนแก่น หนองคาย นครพนม หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช และภูเก็ต) โดยจัดงานในรูปแบบใหม่ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าวัดทำบุญ ปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพราะอยู่ในช่วงครบ 100 วันที่ทรงสิ้นพระชนม์

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆที่บั่นทอนตลาดไทยเที่ยวไทยช่วงสงกรานต์ ได้แก่
– ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากช่วงสงกรานต์ปี 2550 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นตาม

– ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าบริการต่างๆปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนโดยรวม ทำให้ส่วนใหญ่ต่างใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อเดินทางท่องเที่ยวอย่างประหยัด

– นักท่องเที่ยวคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการเดินทางที่แออัดในช่วงวันหยุดยาวซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มักเล่นสาดน้ำกันอย่างรุนแรงและไม่สุภาพ สร้างความเดือนร้อนแก่ผู้ที่ไม่ได้ร่วมเล่นด้วย

– ช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดติดกันหลายวันเอื้ออำนวยต่อการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และการแข่งขันของหลายประเทศที่มุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยเข้าประเทศ จูงใจคนไทยให้เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงสงกรานต์

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มลดลงดังกล่าว แต่จากค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆของนักท่องเที่ยว อาทิ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งค่าบริการต่างๆที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงสงกรานต์ปีนี้ก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3

เที่ยวค้างคืน..ลดลง : เที่ยวระยะใกล้แบบเช้าไปเย็นกลับ..เพิ่มขึ้น
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกันถึง 5 วัน คาดว่ายังคงมีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมจำนวนมากเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์กับครอบครัวและญาติพี่น้องเช่นทุกปี ส่งผลให้การจราจรตามเส้นทางสำคัญสู่ภาคต่างๆติดขัดโดยเฉพาะเส้นทางสายหลักสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวคนไทย (ไม่รวมการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มซบเซาลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 เมื่อประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านต่างๆโดยเฉพาะค่าที่พัก และค่าอาหาร ตามแหล่งท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลที่สูงขึ้นกว่าช่วงปกติ ทำให้มีนักท่องเที่ยวคนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้น และหันมาเที่ยวระยะใกล้ในลักษณะเช้าไปเย็นกลับที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแทน ส่งผลให้สัดส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะค้างคืนช่วงเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้แบบเช้าไปเย็นกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ

จากการสำรวจการท่องเที่ยวในประเทศของททท.พบว่า ปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ กรุงเทพมหานคร โดยมีคนไทยในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสามารถชดเชยผู้ที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯทั้งผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม และผู้ที่เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดและต่างประเทศในช่วงสงกรานต์ได้ระดับหนึ่ง

บรรดาสถานบริการต่างๆในกรุงเทพฯ (อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า และสวนสนุก) ต่างจัดกิจกรรมกันอย่างคึกคักเพื่อกระตุ้นยอดขายที่ซบเซาลงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งธุรกิจสายการบินที่จัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น การบินไทยที่จัดแคมเปญค่าโดยสารราคาพิเศษเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคนไทยในต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน 2551 และเดินทางออกจากกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน 2551 เหล่านี้ล้วนกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯให้คึกคักขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวคนไทยจากต่างจังหวัดให้เดินทางเข้ามาเที่ยวเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ และกิจกรรมต่างๆในกรุงเทพฯช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วช่วงเดียวกัน

คนต่างจังหวัดเที่ยวกรุงเทพฯ…เพิ่มขึ้น : สร้างรายได้สะพัด 4,800 ล้านบาท
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้การสนับสนุนการจัดงานประเพณีสงกรานต์ใน 13 พื้นที่ในภาคต่างๆทั่วประเทศ สำหรับในกรุงเทพฯจัดงานมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร จัดระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2551 บริเวณ 9 อารามหลวง และพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การไหว้พระขอพร 9 พระอารามหลวง และกิจกรรมรณรงค์ “แต่งไทยเล่นน้ำสงกรานต์แบบวิถีไทย” ที่ถนนข้าวสาร ในช่วง 17.00-18.00 น.สำหรับกรุงเทพมหานครจัดงานที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกทม.

ในส่วนของภาคเอกชนต่างจัดกิจกรรมร่วมงานเทศกาลสงกรานต์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบรรดาศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าต่างจัดกิจกรรมร่วมสืบสานประเพณีไทยในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมตามประเพณี คือ การสักการะและสรงน้ำพระพุทธรูป และกิจกรรมความบันเทิงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าในช่วงหน้าร้อนและเทศกาลสงกรานต์กันอย่างคึกคัก อาทิ สินค้าประเภทเครื่องดื่ม แป้งเย็น กล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ รวมทั้งธุรกิจบริการต่างๆ ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ และสวนสนุกกลางแจ้ง เป็นต้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาเที่ยวกรุงเทพฯประมาณร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวคนไทยทั้งหมดในช่วงสงกรานต์หรือประมาณเกือบ 7 แสนคนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1.5 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 60 เดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯในลักษณะค้างคืน ที่เหลืออีกร้อยละ 40 เดินทางมาเที่ยวในลักษณะเช้าไปเย็นกลับ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือ ประมาณกว่าร้อยละ 30 เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆในภาคกลาง

การใช้จ่ายในด้านต่างๆของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน เม็ดเงินดังกล่าวสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากโครงสร้างการใช้จ่ายในด้านต่างๆของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯที่ททท.สำรวจได้ดังนี้

การใช้จ่ายส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 27 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านบาทเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมด้านบันเทิง ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โรงละคร สวนสนุกกลางแจ้ง และสถานบันเทิงเริงรมย์ตามย่านต่างๆ อาทิ ถนนข้าวสาร เป็นต้น

รองลงมา คือ ประมาณร้อยละ 21 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องแต่งกายสไตล์แฟชั่นทั้งหลาย สินค้าประเภทของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในบ้าน สินค้าประเภทหนังสือ อุปกรณ์การเรียนและเครื่องใช้สำนักงานทั้งหลาย ซึ่งมีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่ง รวมทั้งสินค้าที่จำหน่ายตามงานแสดงสินค้าตามศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าทั้งหลาย ที่จัดงานหมุนเวียนกันอยู่ตลอดทั้งปี เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายในด้านที่พัก ประมาณร้อยละ 17 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวคนไทยประมาณเกือบ 1 แสนคนเข้าพักตามโรงแรมในกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ ส่งผลดีต่อโรงแรมในกรุงเทพฯที่มีอยู่ประมาณ 300 แห่งซึ่งมีห้องพักรวมทั้งสิ้นประมาณ 58,000 กว่าห้อง

ค่าใช้จ่ายด้านพาหนะเดินทางในกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 16 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 750 ล้านบาท เป็นค่าพาหนะในการเดินทางภายในกรุงเทพฯ ได้แก่ ค่าน้ำมันรถยนต์ส่วนตัว และค่าโดยสารรถแท็กซี่ รถประจำทาง รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน

ค่าใช้จ่ายในด้านอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณร้อยละ 15 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มตามร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทำบุญไหว้พระตามวัดสำคัญๆในกรุงเทพฯที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามกระแสความนิยมไหว้พระ 9 วัดเพื่อความเป็นสิริมงคล และการทำบุญสะเดาะเคราะห์ในหมู่คนไทย

คนไทยเที่ยวต่างจังหวัด….ลดลง : สร้างรายได้สะพัด 5,200 ล้านบาท
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัด (ไม่รวมผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด) ร้อยละ 70 ของนักท่องเที่ยวคนไทยทั้งหมดในช่วงสงกรานต์ โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,585,000 คนลดลงร้อยละ 3.1 จากปีที่แล้วช่วงเดียวกัน และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดในต่างจังหวัดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0

ปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยม (พิจารณาเป็นรายภาค) ของนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์รองลงมาจากกรุงเทพฯตามลำดับ มีดังนี้

1.แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมืองท่องเที่ยวหลักที่ได้รับความนิยม คือ นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี รวมทั้งหนองคาย และมุกดาหารซึ่งมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่อำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามไปเที่ยวฝั่งลาว

2.แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออก เมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือ พัทยา ระยอง และเกาะช้าง นอกจากนี้ ยังมี วัดโสธรวรารามวรวิหาร ที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก

3.แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันตก เมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือ ชะอำ และหัวหิน รวมทั้งกาญจนบุรี ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งน้ำตกและแควน้อยใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีสมุทรสงคราม ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปพักโฮมสเตย์และนั่งเรือชมหิ่งห้อย

4.แหล่งท่องเที่ยวในภาคกลาง มีเมืองท่องเที่ยวหลัก คือ ลพบุรี และสระบุรี ซึ่งมีทุ่งทานตะวัน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีวัดและโบราณสถานต่างๆ และนครปฐม ซึ่งมีวัดที่มีชื่อเสียง และตลาดน้ำวัดดอนหวาย

5.แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ มีเมืองท่องเที่ยวหลัก คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก และเชียงราย ซึ่งมีวัดและโบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาทิ ดอย น้ำตก ลำน้ำสายต่างๆ วิถีชีวิตชุมชนชาวเขา และหมู่บ้านโอทอป

6.แหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ มีเมืองท่องเที่ยวหลัก คือ หาดใหญ่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สมุย กระบี่ สตูล พังงา และตรัง ส่วนใหญ่จะมีชายทะเล และเกาะต่างๆเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว

สรุป
การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีแนวโน้มถดถอยลงจากปี 2550 เล็กน้อย โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.28 ล้านคนลดลงร้อยละ 1.7 จากช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยที่คลายความคึกคักลงในช่วงครึ่งปีแรก เพราะอยู่ในช่วงการแสดงความไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง และการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศที่มุ่งเน้นรูปแบบของการทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางฯ และการอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ของแต่ละท้องถิ่น

การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวคนไทย (ไม่รวมการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม) คือ ร้อยละ 30 หรือประมาณเกือบ 7 แสนคนเป็นการเดินทางไปเที่ยวกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ที่เหลืออีกร้อยละ 70 หรือประมาณ1,585,000 คนเป็นการเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในภาคต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 3.1

แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงสงกรานต์ลดลง แต่จากค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงสงกรานต์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ในจำนวนนี้ประมาณ 4,800 ล้านบาทสะพัดอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เหลือ 5,200 ล้านบาทกระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวในทั่วทุกภูมิภาค ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว บริการด้านคมนาคมขนส่ง ร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกต่างๆ