อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนเมษายน … สูงเกินคาด

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2551 ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดอย่างมาก

? โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีที่ร้อยละ 6.2 (ตลาดคาดที่ร้อยละ 5.3) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 5.3 ในเดือนมี.ค. ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนเม.ย. ขยับขึ้นร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2549 เป็นต้นมา (ตลาดคาดที่ร้อยละ 1.8) และสูงขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นอย่างมากของราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือนเม.ย. เป็นผลมาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.8 (YoY) โดยเฉพาะราคาข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (เพิ่มร้อยละ 19.6) และผักและผลไม้ (เพิ่มร้อยละ 11.1) ตลอดจนราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 นำโดยน้ำมันเชื้อเพลิง (เพิ่มร้อยละ 24.8)

? แนวโน้มราคาสินค้าและพลังงานที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยมีความเป็นไปได้ที่จะขยับขึ้นอีกในบางรายการในระยะถัดไป (น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ค่าขนส่ง และสินค้าอื่นๆ ที่อาจขยับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ) ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ขึ้นสู่กรอบร้อยละ 5.0-5.8 (โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 5.4) รวมทั้งคาดว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะยังคงมีน้ำหนักต่อการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ในการประชุมรอบถัด ๆ ไป

สำหรับผลการประชุมวันที่ 29-30 เม.ย. 2551 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 อีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.00 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด

? อย่างไรก็ตาม มติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ไม่เป็นเอกฉันท์ โดยมีกรรมการ 2 ท่าน ลงความเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จุดสนใจของการประชุมเฟดในรอบนี้อยู่ที่แถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนข้อความออกไป โดยเฟดได้ทำการตัดข้อความที่ระบุถึงความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออก นอกจากนี้ เฟดยังระบุถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้ง 7 ครั้งที่ผ่านมา (รวมทั้งสิ้น ร้อยละ 3.25) ว่า เป็นนโยบายการเงินที่มีการผ่อนคลายอย่างมาก โดยเฟดเชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวประกอบกับมาตรการดูแลปัญหาสภาพคล่อง จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และบรรเทาความเสี่ยงที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

? แถลงการณ์ของเฟดหลังการประชุมยังคงบ่งถึงความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฟดได้ระบุถึงความอ่อนแอของการใช้จ่ายภาคเอกชน ปัญหาในตลาดการเงิน การหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่รอจะกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะถัดไป ซึ่งทำคาดว่า เฟดอาจจะยังคงรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะส่งสัญญาณ (ยุติการปรับลดดอกเบี้ย) ที่ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของสหรัฐฯจะขยายตัวร้อยละ 0.6 (QoQ Annualized) ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 0.2 ก็ตาม แต่หลายฝ่ายยังคาดว่า อัตราการขยายตัวในไตรมาส 2 น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ ในขณะเดียวกันตลาดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (ณ วันที่ 30 เม.ย.) สะท้อนมุมมองว่า มีความเป็นไปได้เกือบร้อยละ 80 ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมถัดไปในเดือนมิ.ย. ในขณะที่ในช่วงก่อนการประชุมของเฟด ตลาดได้ให้น้ำหนักการคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.เกือบจะร้อยละ 100 ซึ่งสะท้อนว่าหลังการประชุมเฟดในครั้งนี้ ตลาดมีความมั่นใจในการคงอัตราดอกเบี้ยลดลง ?