ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค. … พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี กดดันการใช้จ่ายของครัวเรือน

ในวันนี้ (2 มิ.ย. 51) กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

– อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือน พ.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 จากร้อยละ 6.2 ในเดือน เม.ย และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดไว้ที่ร้อยละ 6.5 รวมทั้งยังเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่กำจัดอิทธิพลของราคาสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารสดแล้ว ก็ได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 2.1 ในเดือนเมษายน รวมทั้งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ร้อยละ 2.5 เช่นกัน

– สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงขยับตัวสูงขึ้นไปอีกในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าจะยืนเหนือระดับร้อยละ 8.0 ในช่วง ดังกล่าว อันเป็นผลจากราคาน้ำมัน และการทยอยปรับขึ้นของราคาสินค้าต่าง ๆ ตลอดจนการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี 2551 อาจอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 6.8-8.0 (ค่ากลางที่ร้อยละ 7.4) เทียบกับร้อยละ 2.3 ในปี 2550 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่า คงจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7-3.3 (ค่ากลางที่ร้อยละ 3.0) เทียบกับร้อยละ 1.1 ในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวคงจะส่งผลกดดันต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศ ซึ่งเมื่อผนวกกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทำให้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอตัวลงในไตรมาสถัด ๆ ไป หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยสำหรับทั้งปี 2551 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.9 ใกล้เคียงกับปี 2550 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงต่ำกว่ากรอบบนของประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังที่ล้วนคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.0

อนึ่ง แนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อแล้ว ยังจะส่งผลต่อฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยประเมินว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยอาจจะเผชิญกับภาวะขาดดุลการค้าในปี 2551 รวมไปถึงความเป็นไปได้ของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยการขาดดุลในลักษณะดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2548 อันเป็นผลจากปัญหาราคาน้ำมันเช่นกัน ทั้งนี้ แนวโน้มการขาดดุลการค้า ย่อมจะส่งผลกดดันต่อค่าเงินบาท รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือ ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและประเทศประสบกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น ธนาคารกลางจำต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยตึงตัว ทั้งเพื่อที่จะชะลอแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งเพื่อที่จะดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาช่วยชดเชยภาวะการขาดดุล

โดยสรุปแล้ว อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ได้ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปี 2551 นี้ อาจจะอยู่ในช่วงร้อยละ 6.8-8.0 เทียบกับร้อยละ 2.3 ในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศ และทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงในไตรมาสถัด ๆ ไป ในขณะเดียวกัน การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ยังคงมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้นไปอีกในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) น่าที่จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี ทำให้คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย คงจะมีทางเลือกที่จำกัดในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา ?