ดีแทคร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งโครงการความร่วมมือด้านเทคโนโลยีมุ่งผลักดันนักศึกษาต่อยอดความรู้นอกห้องเรียนผ่าน “โมบายล์ อินเทอร์เน็ต” มอบซิม 30,000 ซิมสำหรับใช้งาน EDGE/GPRS ฟรี 1 ปีเต็มในพื้นที่มหาวิทยาลัย พร้อมจัดแข่งขันโมบายล์ แอพพลิเคชั่น คอนเทสต์ ชิงทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่า 800,000 บาท หวังปูทางรองรับบริการ 3G ในอนาคตอันใกล้
นายอมฤต ศุขะวณิช ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มเน็กซ์ ดีแทค บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดีแทค และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง sp@ce Project ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีโมบายล์อินเทอร์เน็ตในระยะเวลา 1 ปีขึ้น โดยภายใต้โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่ 1) โครงการ sp@ce Mobile Free Internet Access และ 2) โครงการ sp@ce Mobile Internet Application Contest
ในโครงการ sp@ce Mobile Free Internet Access บริษัทเตรียมมอบซิมจำนวน 30,000 ซิมทั้งในระบบโพสต์เพด และพรีเพด ให้กับนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และดาวน์โหลดข้อมูลโดยใช้มือถือ และแอร์ การ์ด (Air card) ผ่านเครือข่าย EDGE/GPRS ของดีแทคได้ฟรีเป็นเวลา 1 ปีเมื่ออยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพื้นที่ในวิทยาเขตสวนดอก ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ขณะเดียวกัน บริษัทยังเปิดกว้างให้นักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีเบอร์ของดีแทคอยู่แล้ว นำเบอร์โทรศัพท์เข้ามาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ และรับสิทธิ์ในการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่าย EDGE/GPRS ของดีแทคได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“นอกจากเป็นการให้การสนับสนุนให้นักศึกษา และบุคคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถเชื่อมต่อ และใช้งานโมบายล์ อินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการผ่านเครือข่าย EDGE/GPRS ของดีแทคแล้ว โครงการยังมุ่งเน้นไปที่การศึกษารูปแบบ และพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่มเป้าหมายที่มีช่วงอายุต่างๆ กัน เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการให้บริการโมบายล์ อินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ของดีแทคในอนาคตอันใกล้นี้” นายอมฤต กล่าวทั้งนี้ ดีแทคได้ดำเนินการขยาย capacity ของ cell sites ทั้งหมด 17 sites ในบริเวณมหาวิทยาลัย และวิทยาเขตสวนดอก เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น
นายอมฤต กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ดีแทคได้จัดโครงการ sp@ce Mobile Internet Application Contest เพื่อเป็นเวทีประลองความสามารถของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการแข่งขันพัฒนาโมบายล์ แอพพลิเคชั่น โดยทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องประกอบไปด้วยสมาชิก 2-4 คน ซึ่งดีแทคคาดว่าน่าจะมีทีมที่ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 150 ทีม
การแข่งขันแบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ 1. Mobile Social Networking ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่เน้นการสร้าง community บนโทรศัพท์มือถือ 2. On Device Internet Portal การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้มือถือสามารถสร้างเมนูส่วนตัว (Personalized Menu) ให้ตรงตามรูปแบบการใช้งาน และ 3. Free Style ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้ประกวดใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นตามต้องการ อาทิ แอพพลิเคชั่นที่เหมาะกับภูมิภาค หรือจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะ (localized application) หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ Flash on mobile เป็นเครื่องมือในการพัฒนา
“แม้เราสามารถนำเข้าแอพลิเคชั่นรูปแบบต่างๆ ได้จากต่างประเทศ แต่การพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนไทยได้อย่างตรงประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอพพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละท้องถิ่น (localization) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การจัดการประกวดแข่งขันยังเป็นการเตรียมรองรับการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ของดีแทคในอนาคตอันใกล้นี้ แอพพลิเคชั่นที่ชนะเลิศการแข่งขัน มีสิทธิ์ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การให้บริการในเชิงพาณิชย์ ส่วนทีมที่เป็นเจ้าของผลงานมีสิทธิ์เป็น content partners ของดีแทคในการให้บริการอีกด้วย” นายอมฤต กล่าว
ทั้งนี้ ดีแทคได้จัดตั้ง sp@ce Zone ขึ้นที่ชั้น 1 อาคาร วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และ เทคโนโลยี ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นจุดลงทะเบียน และแจกซิมมือถือให้กับนักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ยังเป็นที่รับสมัครผู้เข้าร่วมการแข่งขันพัฒนาโมบายล์ แอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ sp@ce Zone ยังทำหน้าที่เป็น Lab Test ให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมการประกวด โดยทีมที่เข้าประกวดสามารถนำผลงานเข้ามาทดสอบกับเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีระบบปฏิบัติการต่างๆ กันทั้ง Symbian, Java และ Windows ได้ตลอดเวลา
นายอมฤตกล่าวว่า ดีแทคและมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการตัดสินซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งสองฝ่ายจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 6 คน เพื่อพิจารณาผลงานร่วมกัน คณะกรรมการจะคัดเลือกทีมที่ผ่านรอบแรก 30 ทีม แต่ละทีมจะได้รับทุนการศึกษา 5,000 บาท โดยเกณฑ์การพิจารณาจะดูจากความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการประยุกต์เพื่อใช้งานในเชิงธุรกิจได้จริง ในการคัดเลือกรอบที่ 2 คณะกรรมการจะคัดเลือกทีมที่ผ่านการพิจารณา 15 ทีม แต่ละทีมจะได้รับทุนการศึกษาอีก 25,000 บาท สำหรับรอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศ คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้ชนะเลิศของทั้ง 3 หัวข้อการประกวด แต่ละทีมจะได้รับรางวัลทุนการศึกษาอีกทีมละ 50,000 บาท และมีรางวัลพิเศษ Popular Vote เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับสมาชิกในทีมที่ได้รับการโหวตสูงสุดอีกด้วย การโหวตสามารถทำได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) โหวตผ่านมือถือมายังหมายเลขที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ และ 2) โหวตผ่านเวบไซต์ได้ที่ www.gooodspace.com
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสามารถสมัครและส่งแนวคิดการพัฒนาได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคมนี้ โดยดีแทคจะจัดอบรม (training) เพื่อเพิ่มความรู้ด้านการพัฒนา และเสริมมุมมองด้านธุรกิจให้กับผู้แข่งขัน คณะกรรมการจะประกาศชื่อทีมที่ผ่านรอบแรกในวันที่ 8 สิงหาคม จัดแคมป์ติวเข้มในวันที่ 23-24 สิงหาคม ประกาศผลทีมที่ผ่านรอบสองในวันที่ 25 พฤศจิกายน และประกาศผลทีมชนะเลิศในวันที่ 7 มีนาคมปีหน้า
รองศาสตราจารย์ ธีระ วิสิทธิ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าที่ตลอดเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มุ่งเน้นการวิจัย มีการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และจัดหาทรัพยากรเพื่อการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการสนับสนุนการพัฒนาพื้นฐานในการเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ และการสืบค้นแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ และในปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทจัดการการศึกษาเป็นอย่างสูง จึงเชื่อว่าโครงการความร่วมมือกับดีแทคในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน การพัฒนาสื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“คณะทำงานจะนำผลจากการติดตามการใช้งานมาวิเคราะห์ สำรวจสภาพการใช้งานผ่านเทคโนโลยีโมบายล์อินเตอร์เน็ต และรวบรวมข้อมูลจากการค้นคว้าหาความรู้มาพัฒนาเป็นแนวทางการเรียนการสอนต่อไป สมกับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม” รองศาสตราจารย์ ธีระ กล่าว.