ผลิตภัณฑ์กุ้งปี’51 : ราคาตกต่ำ…ส่งออกเผชิญหลากปัญหา

ในปี 2551 ผู้เลี้ยงกุ้งและผู้ประกอบการในธุรกิจต่อเนื่องต้องเผชิญปัญหาทั้งในด้านการผลิตและการตลาด กล่าวคือ ราคากุ้งในประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งค่าขนส่งก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในด้านตลาดส่งออกก็ต้องเผชิญปัญหานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย และยังต้องเผชิญมาตรการต่างๆของประเทศคู่ค้าที่ส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบ/เสียเปรียบในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังประเทศคู่ค้า ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2551 จะมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบกลับมายังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกุ้งทั้งระบบ เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งนั้นมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70.0 ของปริมาณการผลิตกุ้งทั้งหมด ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกุ้งต้องเร่งปรับตัวรับมือกับปัญหาทั้งการผลิตและการตลาดในปี 2551 นี้

การผลิต : ตลาดโลกเพิ่ม…ไทยสวนทางผลผลิตลด
ปี 2551 คาดว่าผลผลิตกุ้งทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยที่ในปี 2550 ทั่วโลกมีผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงประมาณ 1.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 7.1 เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตกุ้งสำคัญ ได้แก่ จีนมีผลผลิตที่ประมาณ 480,000 ตัน อินโดนีเซีย 285,000 ตัน เวียดนาม 145,000 ตัน อินเดีย 110,000 ตัน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งทุกประเทศสูงขึ้นเป็นผลมาจากการหันมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตจำนวนมากนั่นเอง
ในขณะที่ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตกุ้งอื่นๆมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ไทยกลับมีผลผลิตกุ้งประมาณ 450,000 ตัน ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ11.3 ทั้งนี้จากการคาดการณ์ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องเผชิญวิกฤตราคากุ้งเช่นเดียวกับในปี 2550 ดังนั้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2550 กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง อันประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ตลอดจนชมรมผู้เลี้ยงกุ้งทุกจังหวัด มีมติร่วมกันว่าเพื่อความอยู่รอดของผู้เลี้ยงกุ้งไทยจะร่วมกันตั้งเป้าลดผลิตกุ้งปี 2551 ลงร้อยละ 20.0 โดยมีมาตรการต่างๆดังนี้ ลดความหนาแน่นของจำนวนลูกกุ้งที่ลงเลี้ยง และลดจำนวนรอบของการเลี้ยงกุ้ง โดยพักบ่อเลี้ยงกุ้งให้นานขึ้น ลดจำนวนบ่อที่เลี้ยงให้น้อยลง ไม่มีการขยายหรือเพิ่มจำนวนฟาร์มหรือบ่อ และพยายามไม่เลี้ยงกุ้งให้มีผลผลิตออกมาพร้อมกัน แนวโน้มจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยก็ลดลง บางฟาร์มที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็ต้องทยอยหยุดการเลี้ยงกุ้ง ดังนั้น แนวทางความอยู่รอดของผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยในปี 2551 คือการปรับประสิทธิภาพการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์
ปัญหาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกุ้งของไทยต้องหันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตกุ้ง เนื่องจากราคากุ้งของไทยต้องเผชิญกับวิกฤตราคาตกต่ำจนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อยกระดับราคากุ้งโดยการรับจำนำกุ้ง อันเป็นผลจากกุ้งที่ออกสู่ตลาดของไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นกุ้งขาวขนาดกลางถึงเล็ก(มากกว่า 40 ตัว/กิโลกรัม) และเป็นกุ้งขาว ซึ่งมีตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อตลาดสหรัฐฯชะลอการนำเข้าทำให้เกิดปัญหากุ้งล้นตลาดและเกิดวิกฤตราคาตกต่ำ
ผู้เลี้ยงกุ้งในไทยหันมาขยายการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวอย่างมากตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา เนื่องจากเมื่อเทียบกับกุ้งกุลาดำแล้วการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวมีต้นทุนต่ำกว่า เลี้ยงง่าย โตเร็ว ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องโรคระบาด และมีผลผลิตผลิตต่อไร่มากกว่า ทำให้ในปัจจุบันสัดส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้งนั้นเป็นกุ้งขาวถึงร้อยละ 98 และมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้วทั้งอินเดียและเวียดนามนั้น สัดส่วนการเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งกุลาดำ ซึ่งในเวียดนามนั้นรัฐบาลเน้นการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ(ซึ่งราคาดีกว่ากุ้งขาว) โดยเวียดนามจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกกุ้งขนาดกลางและเล็กในตลาดสหรัฐฯ ส่วนอินเดียนั้นแม้ว่าจะมีการเลี้ยงทั้งกุ้งกุลาดำและกุ้งขาว แต่อินเดียเน้นการเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ ส่วนอินโดนีเซียและจีน แม้จะเลี้ยงกุ้งขาวเป็นส่วนใหญ่ แต่การส่งออกไปสหรัฐฯนั้นได้เปรียบไทย เนื่องจากอินโดนีเซียไม่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ส่วนจีนนั้นอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าไทย

ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง…เติบโตเฉพาะกุ้งแปรรูป
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งมีมูลค่า 645.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกกุ้งปี 2551 จะใกล้เคียงกับในปี 2550 โดยมีมูลค่า 2,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 เนื่องจากการส่งออกกุ้งแปรรูปยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งกระป๋องชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเหล่านี้ของไทยเสียเปรียบคู่แข่งหลายด้าน โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก กล่าวคือ เสียเปรียบประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะจีนและเวียดนามในเรื่องภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีที่ในปัจจุบันไทยถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่า กล่าวคือ เวียดนาม จีน และอินเดียถูกเก็บภาษีร้อยละ 0-1.0 และอินโดนีเซียไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเอดี ในขณะที่ไทยเสียภาษีเอดีร้อยละ 6.0 รวมทั้งยังเสียเปรียบในเรื่องค่าเงินบาทแข็ง ทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งในสายตาของประเทศผู้นำเข้า นอกจากนี้ เมื่อสหรัฐฯประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของคนอเมริกันลดลง ความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยจึงมีแนวโน้มลดลงด้วย

แนวทางการอยู่รอดของธุรกิจกุ้งของไทยคือ ต้องเร่งเจาะขยายตลาดส่งออกใหม่ ทดแทนตลาดสหรัฐฯที่ไทยกำลังถูกเบียดแย่งส่วนแบ่งการตลาด รวมทั้งเร่งพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปโดยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น ปัจจัยบวกจากสถานการณ์ในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะการแข่งขันที่ลดความรุนแรงลง จากการที่คู่แข่งถูกตรวจพบสารต้องห้ามปนเปื้อน และการได้รับคืนจีเอสพีจากสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

ประเด็นที่น่าสนใจของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ในปี 2551 มีดังนี้
– การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ประเทศคู่แข่งขันสำคัญโดยเฉพาะจีน เวียดนาม และเอกวาดอร์ มีแนวโน้มจะเพิ่มการผลิตกุ้งขาว ทำให้คาดว่าในอนาคตประเทศเหล่านี้จะเข้ามาแข่งขันในการส่งออกกุ้งขาว ซึ่งไทยครองตลาดอยู่ และจะส่งผลทำให้ราคากุ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคากุ้งขาวนั้นต่ำกว่าราคากุ้งกุลาดำ

– กุ้งกุลาดำยังเป็นที่ต้องการในตลาดระดับบน เนื่องจากรสชาติดีและสีสวยเมื่อนำไปประกอบอาหาร โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำมากกว่ากุ้งขาว รวมทั้งราคานำเข้าก็อยู่ในเกณฑ์ดี หากไทยหันมาขยายการผลิตกุ้งกุลาดำเพื่อส่งออกมากขึ้น ก็จะเป็นการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากกุ้งที่ตกต่ำตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมานั้นคือ กุ้งขาวที่มีขนาดกลางและเล็ก

– ประเทศคู่ค้ามีการกำหนดมาตรฐานนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งสูงขึ้น และนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทางด้านความปลอดภัยอาหารมาใช้มากขึ้น ดังนั้น การที่ไทยจะรักษาความเป็นผู้นำทางด้านการผลิตและส่งออกสินค้ากุ้งอันดับ 1 ของโลก โดยสินค้ากุ้งของไทยต้องมีภาพลักษณ์เหนือกว่าประเทศคู่แข่งขัน ทั้งทางด้านมาตรฐาน และคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าแปรรูป

สหรัฐฯยังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง…เร่งเจาะขยายตลาดญี่ปุ่นและอียู
แนวโน้มการส่งออกกุ้งไปยังตลาดสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้
 ตลาดสหรัฐฯ
สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 47.0 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด ในปี 2551 ตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งในสหรัฐฯมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม เอกวาดอร์ และอินเดีย โดยไทยมีข้อเสียเปรียบในเรื่องอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้อำนาจการซื้อของคนอเมริกันลดลง และคนอเมริกันลดค่าใช้จ่ายลง อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกในตลาดสหรัฐฯคือ สหรัฐฯยังคงนิยมบริโภคกุ้งขาว ซึ่งไทยสามารถผลิตกุ้งขาวได้ในปริมาณมากกว่าประเทศคู่แข่งขัน นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะจีนมีการจัดงานกีฬาโอลิมปิก ทำให้ความต้องการบริโภคกุ้งภายในประเทศของจีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของจีนมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งมาตรฐานการผลิตสินค้าของไทยยังสูงกว่าจีนมาก โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานด้านสุขอนามัย ซึ่งผู้ส่งออกของไทยต้องใช้จุดแข็งในการเจาะขยายตลาด

ตลาดญี่ปุ่น ตลาดญี่ปุ่นมีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากตลาดสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.0 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมดของไทย การเจาะขยายตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต้องพิจารณาแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ ตลาดญี่ปุ่นเริ่มมีความต้องการกุ้งขนาดกลางเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ต้องการเพียงกุ้งขนาดใหญ่ อันเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในญี่ปุ่นต้องการกุ้งขนาดกลางเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำซูชิและเทมปุระ รวมทั้งผู้บริโภคในญี่ปุ่นเริ่มนิยมบริโภคกุ้งขนาดกลางมากขึ้นด้วย นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าตลาดญี่ปุ่นเริ่มนำเข้ากุ้งแปรรูปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกุ้งคลุกขนมปังป่น ซูชิ และผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปประเภทอื่นๆ และสัดส่วนการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปัจจุบันไม่นิยมทำกับข้าว เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้คนญี่ปุ่นมีกำลังซื้อที่ลดลง และอัตราการเกิดที่ลดลง เป็นต้น

ปัจจัยหนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่น มีดังนี้
-ญี่ปุ่นตรวจพบสารตกค้างในผลิตภัณฑ์กุ้งจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและจีน
แต่ไม่พบในประเทศไทย ซึ่งทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งเตรียมเสนอให้ญี่ปุ่นปลดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ต้องตรวจสอบสารตกค้างเพื่อการส่งออกสะดวกขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

-อานิสงส์จากความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นหรือเจเทปป้า(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) ผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยเสียภาษีนำเข้าลดลง กล่าวคือ สินค้าประเภทกุ้งแช่เย็นแช่แข็งเดิมอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 1 ส่วนกุ้งปรุงแต่งอยู่ที่ร้อยละ 5.30 โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ที่เจเทปป้ามีผลบังคับใช้ อัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งสองประเภทลดลงเหลือ 0 ทันที ทำให้ไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น

ตลาดสหภาพยุโรป ตลาดสหภาพยุโรปนับว่าเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่น่าจับตามอง เนื่องจากนับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ตลาดสหภาพยุโรปถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุ้งแช่แข็งที่มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ เอกวาดอร์ และบราซิล ซึ่งเป็นคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าของไทย ปัจจัยหนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในตลาดสหภาพยุโรป คือการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี แม้ว่าจะมีการกำหนดปริมาณการส่งออกต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด แต่ก็ส่งผลทำให้การส่งออกกุ้งไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

แนวโน้มตลาดสหภาพยุโรปที่น่าจับตามอง มีดังนี้
-ตลาดสหภาพยุโรปนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำ เนื่องจากมีรสชาติดีและสีสวย อันเป็นผลมาจากผู้บริโภคในสหภาพยุโรปนิยมย่างบาร์บีคิว และใช้กุ้งเป็นวัตถุดิบสำคัญ

-ตลาดกุ้งอินทรีย์ในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัว ดังนั้นการทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในเทคโนโลยีด้านนี้

-ตลาดสหภาพยุโรปเป็นตลาดที่ยอมรับกับสินค้าแปรรูป และให้ความสำคัญทางด้านคุณภาพมากกว่าราคา ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยต้องอาศัยจุดแข็งที่ไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะจุดแข็งในด้านมาตรฐานการเลี้ยง และการรักษาสุขอนามัยในขั้นตอนการผลิต รวมทั้งความชำนาญในการผลิตกุ้งแปรรูปหลากหลายผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า

แนวโน้มครึ่งหลังปี’51…ฝากความหวังไว้กับการปรับตัวของผู้ประกอบการ
แม้ว่าในภาพรวมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมดยังคงมีแนวโน้มขยายตัว แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์แล้วจะเห็นได้ว่ามีเพียงการส่งออกกุ้งแปรรูปเท่านั้นที่ยังมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งกระป๋องนั้นชะลอตัวลงอย่างมาก ดังนั้น การกระตุ้นการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ต่อเนื่องถึงปี 2552 จึงต้องฝากความหวังไว้กับการปรับตัวของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจกุ้ง ประเด็นการปรับตัวที่คาดหวัง ได้แก่

ด้านการผลิต
-เพิ่มการเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่และขยายการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
ปัจจุบันผลผลิตกุ้งส่วนใหญ่เป็นกุ้งขาวแวนาไมที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐฯ แต่เมื่อตลาดสหรัฐฯมีปัญหาผู้เลี้ยงกุ้งของไทยต้องปรับตัวหันมาเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งการขยายการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ หลีกเลี่ยงการแข่งขันในกุ้งขนาดเล็กจากคู่แข่งขันอย่างจีน และเวียดนาม ไทยมีศักยภาพในการผลิตกุ้งขนาดใหญ่(ขนาดต่ำกว่า 40 ตัว/กิโลกรัม)และกุ้งเหล่านี้เป็นที่ต้องการของญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง ดังนั้น เพื่อสร้างความสมดุลในภาคการผลิตกุ้งไทย และขยายตลาดใหม่ๆ โดยลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯจึงมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มปริมาณการผลิตกุ้งขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงกุ้งหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อแย่งตลาดกุ้งกุลาดำกลับคืนมาจากอินเดียและเวียดนาม

ปรับการบริหารจัดการรับมือกับปัญหาต้นทุนพุ่ง ปัญหาต้นทุนในการเลี้ยงกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันและค่าอาหารกุ้งที่มีสัดส่วนรวมร้อยละ 60 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ส่งผลให้เกษตรกรชะลอการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง และผู้ประกอบการที่เป็นเกษตรกรรายย่อยตลอดจนฟาร์มที่ไม่ได้มาตรฐานต่างประสบปัญหาขาดทุน ทำให้ขณะนี้จำนวนฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งได้ลดลงจาก 38,654 ฟาร์มในปีที่ผ่านมาเหลือ 21,672 ฟาร์มเท่านั้น เกษตรกรที่ยังคงเลี้ยงกุ้งต้องปรับระบบการบริหารจัดการภายในฟาร์ม เนื่องจากต้นทุนทั้งราคาน้ำมันและค่าอาหารกุ้งนั้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การบริหารจัดการฟาร์มที่ดีนี้สามารถทั้งลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ โดยการเลี้ยงกุ้งให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งประเภทและขนาดของกุ้ง

ด้านการตลาด
-ขยายตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง…เน้นเจาะตลาดระดับบน
ในด้านการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง แม้ว่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งในตลาดส่งออกหลักเริ่มชะลอตัว เนื่องจากประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง และไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบในการแข่งขัน แต่โอกาสของการผลักดันการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งยังมีอยู่ โดยผู้ประกอบการต้องปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตลาด โดยเน้นการขยายการเลี้ยงกุ้งกุลาดำและเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ รวมทั้งบริหารจัดการในด้านการเลี้ยงเพื่อให้ต้นทุนการเลี้ยงต่ำลง ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การเร่งเจาะขยายตลาดใหม่ๆ รวมทั้งตลาดสหภาพยุโรปที่ผลิตภัณฑ์กุ้งยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมาก เมื่อเทียบกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของสหภาพยุโรปทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อลดการพึ่งพิงเฉพาะตลาดหลัก ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ

-ขยายตลาดกุ้งแปรรูป…เจาะตลาดค้าปลีกระดับกลาง นอกจากการส่งออกสินค้ากุ้งแบบ Commodity product แล้ว เกษตรกรผู้ผลิตกุ้ง และผู้ประกอบการส่งออกกุ้งควรจะต้องหันมาสร้างความหลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้ากุ้งไทยให้มากขึ้น เช่น กุ้งปรุงสุกที่เหมาะแก่การประกอบอาหารของชาวต่างชาติ เช่น กุ้งใส่สลัด กุ้งที่เป็นส่วนประกอบสำหรับการประกอบอาหารไทย อาหารไทยสำเร็จรูปแบบแช่แข็งที่มีส่วนประกอบที่ทำมาจากกุ้ง เช่น ข้าวกระเพรากุ้ง ผัดไทยกุ้ง ผัดสปาเก็ตตี้กุ้งฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเหล่านี้ราคาจะต่ำกว่าการผลิตกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งป้อนตลาดบน แต่ฐานการตลาดกว้างกว่าและมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากกว่า

บทสรุป
ในปี 2551 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมกุ้งของไทย เนื่องจากต้องเผชิญกับหลากปัญหาทั้งด้านการผลิตและการตลาด โดยในด้านการผลิตประสบปัญหาราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ในขณะที่การส่งออกซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตกุ้งในแต่ละปีก็ประสบปัญหา เนื่องจากตลาดสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยชะลอการนำเข้า อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย และยังมีความได้เปรียบในเรื่องอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าไทย แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของกุ้งแปรรูป และการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป แต่การขยายการส่งออกในภาพรวมตลอดทั้งปี 2551 เพิ่มขึ้นไม่ได้มากนัก เนื่องจากทั้งตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปนิยมบริโภคกุ้งกุลาดำ และกุ้งขนาดใหญ่ ดังนั้น ความหวังของอุตสาหกรรมกุ้งจึงต้องฝากไว้กับการปรับตัวของผู้ประกอบการทั้งในการปรับการผลิตให้ได้สินค้าสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการบริหารจัดการภายในฟาร์มเลี้ยงกุ้งเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่วนในด้านการตลาดก็ต้องมุ่งเน้นการขยายการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์กุ้ง ทั้งในตลาดหลักโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป รวมทั้งการเจาะขยายตลาดในตลาดใหม่ๆด้วย