ผู้ชนะเลิศการประกวดออกแบบแก้วดีไซน์เนอร์ บอมเบย์ แซฟไฟร์ 2008

ในที่สุดการประกวดออกแบบแก้วดีไซน์เนอร์บอมเบย์ แซฟไฟร์ ประจำปี 2008 (Bombay Sapphire Designer Glass Competition Thailand 2008) ได้ผ่านมาถึงรอบสุดท้ายซึ่งผู้ชนะเลิศได้แก่ผลงาน ‘RAMIFY’ ออกแบบโดยนายอมร ทองสะอาด เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนกันยายน 2551

บอมเบย์ แซฟไฟร์ ยิน ร่วมกับ กรมส่งเสริมการส่งออก โดยสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า เปิดเวทีดีไซน์เนอร์แก้วครั้งที่ 3 หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการจัดการประกวด 2 ปีที่ผ่านมา โดยเชิญดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิสิต นักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดออกแบบแก้วดีไซน์เนอร์ บอมเบย์ แซฟไฟร์ ประจำปี 2008 ในหัวข้อ “Martini Glass inspired by Bombay Sapphire” วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมนักออกแบบ และวงการออกแบบไทยให้ก้าวสู่เวทีการประกวดระดับสากลมากขึ้น ผู้ชนะเลิศได้แก่ นายอมร ทองสอาด ในผลงานชื่อ ‘RAMIFY’ ได้รับประกาศเกียรติบัตรและเงินรางวัล 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ นายปิติทัศน์ ไววิริยะ ผลงานชื่อ ‘BLUE MOON’ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือนายรัฐ เปลี่ยนสุข จากผลงาน‘DRY PARADISE’ เงินรางวัล 20,000 บาท ทั้งนี้ผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดรอบชิงชนะเลิศระดับโลกในงาน Bombay Sapphire Designer Glass Competition Global Final ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเดือนกันยายน 2551 โดยผู้ชนะเลิศในระดับโลกจะได้รับรางวัลเงินสดกว่า 10,000 ปอนด์ หรือกว่า 650,000 บาท

ผลงานชิ้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ‘RAMIFY’ ออกแบบโดยนายอมร ทองสอาด อายุ 26 ปี ได้รับพลังสร้างสรรค์จากการตีโจทย์ว่าอารมณ์ของ Bombay Sapphire มีความหลากหลายเช่น ความแข็งแกร่ง ความสุภาพซึ่งแสดงออกมาให้เห็นผ่านความใสของแก้วคริสตัล แรงบันดาลใจคือการแตกแขนงไปเรื่อยๆ การออกแบบจึงเน้นเรื่องของเส้นสายที่เริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งจนสร้างรูปทรงขึ้นมาได้ด้วยโครงสร้างของมันเอง

ผลงานรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ชื่อว่า ‘BLUE MOON’ ผลงานโดยนายปิติทัศน์ ไววิริยะ ด้วยมุมมองที่ชัดเจนว่า Bombay Sapphire เป็นเรื่องของความสุนทรีย์ มีเสน่ห์ รูปทรงดึงดูดใจและมีรสนิยมทำให้นึกถึงพระจันทร์ที่ให้ทั้งความรู้สึก รูปธรรมและนามธรรมรวมทั้งความสวยงาม ฟอร์มพระจันทร์จะเปลี่ยนไปตามกาลเหมือนความรู้สึกของคน จุดเด่นของชิ้นงานจึงอยู่ที่การปรับเปลี่ยนฟอร์มได้ขึ้นอยู่กับคนที่หยิบแก้วขึ้นมาแตกต่างกัน และผลงานรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ‘DRY PARADISE’ ออกแบบโดยนายรัฐ เปลี่ยนสุข อายุ 28 ปี สร้างเนื้อหางานดีไซน์ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นจากแรงบันดาลใจของดอกไม้เขตร้อนชื้นที่มีความเซ็กซี่ เย้ายวน นั่นคือดอก Bird of Paradise มาประยุกต์เป็นตัวแก้ว จุดเด่นของชิ้นงานอยู่ที่ความบอบบาง จะเห็นว่าปากของแก้วบางมาก และก้นแก้วตื้น การดีไซน์แบบนี้จะรักษาความเย็นของเครื่องดื่มไว้ด้านล่างขณะที่ฐานแก้วค่อนข้างหนาทำให้ความร้อนจากพื้นโต๊ะก็จะไม่เข้ามาถึงตัวแก้วได้ ผลคือเครื่องดื่ม martini ในแก้วรูปทรงนี้เย็นได้นานกว่าแก้วทั่วไป

การตัดสินในรอบชิงชนะเลิศเพื่อหาสุดยอดผลงานการออกแบบแก้วดีไซน์เนอร์ บอมเบย์ แซฟไฟร์ในครั้งนี้ มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากหน่วยงานราชการ นักออกแบบอาชีพที่มีชื่อเสียง และสื่อมวลชนด้านการออกแบบร่วมกันคัดเลือกผลงาน ทั้งนี้ ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าสินค้า กรมส่งเสริมการส่งออก ระบุว่า ปีนี้คณะกรรมการตัดสินต้องทำงานงานกันหนักมากเพราะผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต่างมีพัฒนาการดีขึ้นมากในทุกๆ เรื่อง การคัดเลือกผลงานสุดยอดให้เหลือเพียงชิ้นเดียวจึงเป็นการตัดสินที่ยาก ต้องอาศัยการพิจารณารายละเอียดอย่างลึกซึ้ง “ปีนี้ผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 5 ชิ้นล้วนมีความโดดเด่นทั้งในส่วนของเนื้อหาสาระในการออกแบบ อารมณ์ รวมทั้งรูปทรงดีไซน์ที่สอดคล้องกับฟังก์ชั่นการใช้งาน ” คุณสุพัตรา ศรีสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาสินค้า กล่าวเสริม

“ผมเห็นแบบวันนี้รู้สึกภูมิใจครับ เพราะแบบแต่ละชิ้น ผมว่าสู้ดีไซน์เนอร์ดังๆจากต่างประเทศได้ไม่แพ้ใคร ผลงานที่ผ่านเข้ารอบมาในวันนี้เรียกได้ว่าระดับสูงมาก ผมดีใจที่ภาคเอกชนสนับสนุนนักออกแบบฝีมือใหม่ๆ ซึ่งไม่ค่อยจะมีที่ไหนทำได้” คุณนพปฎล พหลโยธิน นักออกแบบกล่าว

นอกจากนี้ ผลงานทั้ง 5 ชิ้นได้นำไปผลิตเป็นแก้วจริงโดย บริษัท โลตัส คริสตัล จำกัด จังหวัดระยอง และนำมาจัดแสดงนิทรรศการ ร่วมกับงานศิลปะแก้วดีไซน์เนอร์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดนิทรรศการงานศิลปะการออกแบบแก้วบอมเบย์ แซฟไฟร์ที่หาชมได้ยากมากเนื่องจากเป็นการรวบรวมผลงานการออกแบบแก้วของดีไซน์เนอร์จากต่างประเทศที่ได้รับรางวัลระดับโลกของบอมเบย์ แซฟไฟร์ตั้งแต่ปี 2002 ถึง 2007 มาแสดงผลงานร่วมด้วย ได้แก่ ‘Goobly’ โดย Sandra In?s Mesquita da Concei?ao ประเทศโปรตุเกส (2007), ผลงาน ‘Inverted’ โดย Tomek Rygalik & Jorre van Ast ประเทศอังกฤษ (2006), ผลงาน ‘Flowing Down Drops’ โดย Victoria Trenina & Alexei Sabirulov ประเทศรัสเซีย (2005) , ผลงาน ‘Sapphires & Pearls’ โดย Manon Navarro ประเทศเนเธอร์แลนด์ (2004) , ผลงานโดย Ken Takeyama จากญี่ปุ่น (2003) และ ผลงาน โดย Carlos Reyes จากเปอร์โตริโก (2002) รวมทั้งยังมีผลงานจากดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่มอบผลงานมาร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย อาทิ ผลงานของ Jonathan Adler , Eva Zeisel, Dakota Jackson, Marcel Wanders และ Karim Rashid กับผลงาน ‘Fine Form’ รวมทั้งผลงาน ‘Perfectly Balanced’ ซึ่งออกแบบโดย Tom Dixon glass

การประกวดออกแบบแก้วบอมเบย์ แซฟไฟร์ ถือเป็นหนึ่งในการประกวดที่ใหญ่ที่สุดในโลกของนักออกแบบรุ่นใหม่ หลังจากประสบความสำเร็จจากปีที่แล้วที่จัดขึ้นในประเทศอิตาลี มีนักออกแบบเข้าร่วมประกวดมากกว่า 10,000 คนจาก 25 ประเทศทั่วโลก โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงเกียรติล้วนแต่เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการดีไซน์และสมาชิกของบอมเบย์ แซฟไฟร์ ฟาวน์เดชั่น มาเป็นผู้ตัดสินในรอบสุดท้าย ได้แก่ รอน อาราด ดีไซน์เนอร์เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ, ดีรอร์ เบนเชอทริท เจ้าของสตูดิโอ Dror ในนิวยอร์ก, ลีนา เบิร์กสตรอม, นาดจา สวารอฟสกี้ และ แพทริเซีย อูคิวโอลา โดยในปีนี้รอบชิงชนะเลิศจะตัดสินในระหว่างงาน“ลอนดอน ดีไซน์เฟสติวัล” ทั้งนี้ กรุงลอนดอนถือเป็นถิ่นกำเนิดของบอมเบย์ แซฟไฟร์ ยิน และยังเป็นจุดหมายปลายทางของบรรดานักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีพรสวรรค์ จากทั่วทุกมุมโลก