ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

ราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของเดือนกรกฎาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2551 สูงขึ้นมาที่ 177.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จาก 175.3ในเดือนก่อน และถ้าเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 29.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากราคาผลิตภัณฑ์เหล็กทะยานสูงขึ้นร้อยละ 75.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน วัสดุก่อสร้างหลักอื่นๆ ก็มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และซีเมนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาวัสดุก่อสร้างในระยะที่เหลือของปีมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลงเล็กน้อย โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันภายในประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนในการขนส่งวัสดุก่อสร้างปรับตัวลดลงอย่างมาก ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก และการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง ขณะที่ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบเหล็ก มีโอกาสที่จะชะลอความร้อนแรงลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 อาจยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในไตรมาสที่ 4 อาจชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 25 ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 สูงขึ้นอย่างมากจากปี 2550 ที่เพิ่มขึ้นในอัตราเพียงร้อยละ 4.9 และคาดว่าจะเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับในยุควิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ครั้งที่ 1 ในช่วงปี 2516-2517

 การที่ต้นทุนวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงการก่อสร้างในด้านต่างๆ เนื่องจากต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งนั้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าโครงการก่อสร้างโดยเฉลี่ย นอกจากนี้ ต้นทุนค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และต้นทุนแรงงาน ก็ปรับเพิ่มขึ้น ปัจจัยลบดังกล่าวได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อต้นทุนของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ หรือ เมกะโปรเจคต์ ด้วยเช่นกัน

ผลกระทบต่อธุรกิจก่อสร้าง จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและยากที่จะประเมินต้นทุนในอนาคต ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการที่ทำสัญญาไว้แล้วประสบปัญหาขาดทุน หากไม่สามารถเจรจาขอปรับราคากับผู้ว่าจ้างตามการผันแปรของราคาวัสดุก่อสร้างได้เต็มจำนวน ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้รับเหมารายย่อยบางส่วนละทิ้งงาน ส่งผลกระทบต่องานโครงการของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้งานมีความล่าช้า ไม่สามารถแล้วเสร็จตามกำหนด หรือในกรณีผู้ประกอบการที่ยังสามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ ก็เผชิญกับสภาวะที่อัตรากำไรลดลง โดยอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) ของธุรกิจลดลงมาต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งหมายถึงอัตรากำไรสุทธิ (Net Margin) ที่เหลืออยู่มีน้อยมาก จากปัจจัยลบต่างๆที่รุมเร้า ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจก่อสร้างได้ออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การปรับราคากลางในการประมูลโครงการของรัฐ การยืดอายุสัญญา และการผ่อนผันวิธีการคำนวณค่า K เป็นต้น

ผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมา ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเริ่มปรับราคาขายที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ขึ้นกว่าร้อยละ 10 จากราคาต้นทุนเดิม แต่การปรับราคาท่ามกลางสภาวะตลาดที่ยังไม่ดีนัก ย่อมอาจส่งผลต่อยอดขายได้ เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อำนาจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง นอกเหนือจากที่ถูกกระทบจากภาวะค่าครองชีพ ที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนที่ผ่านมาพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี และอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวในหลายด้าน เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวอาคารเพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุตกแต่งบางประเภท การลดขนาดพื้นที่ใช้สอยให้เล็กลง การใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังมีการปรับกลยุทธ์จากการเปิดจองขายโครงการล่วงหน้า เปลี่ยนมาเน้นการสร้างเสร็จก่อนขาย เพื่อที่จะสามารถกำหนดราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนการก่อสร้างที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์สร้างเสร็จก่อนขายนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีฐานเงินทุนที่เข้มแข็ง

ผลต่อโครงการลงทุนของภาครัฐ สำหรับโครงการเมกะโปรเจคต์ งบประมาณในการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระยะที่ 1 ซึ่งเดิมรัฐบาลกำหนดวงเงินลงทุนไว้ประมาณ 300,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขงบลงทุนใหม่อยู่นั้น ถ้าคำนวณจากสมมติฐานต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จะส่งผลให้วงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นมาเป็น 350,000-370,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นในการจัดหางบประมาณเพิ่มเติมเพื่อมาสนับสนุนโครงการ ซึ่งหากมองในภาพรวมโครงการลงทุนของรัฐทั้งหมด จะกลายเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับรัฐบาลในการบริหารโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งหากดำเนินการตามแผนเดิมก็อาจจะทำให้รัฐบาลต้องมีภาระขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด (รัฐบาลกำหนดวงเงินขาดดุลงบประมาณในปี 2551 ไว้ที่ร้อยละ 1.8 ของจีดีพี และในปีงบประมาณ 2552 ที่ร้อยละ 2.5 ของจีดีพี) ขณะที่ถ้าต้องการควบคุมการใช้งบประมาณให้อยู่ภายใต้กรอบเดิม ก็ต้องมีการปรับรูปแบบและคุณสมบัติของโครงการ

โดยสรุป การปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากของราคาวัสดุก่อสร้าง นอกจากจะส่งผลกดดันการดำเนินงานของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว การที่โครงการต่างๆ มีความล่าช้าจากปัญหา เช่น งบประมาณในการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สภาพคล่องของเจ้าของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาผู้รับเหมาละทิ้งงาน ซึ่งอุปสรรคต่อความคืบหน้าของโครงการต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของการลงทุนโดยรวมของประเทศที่อาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจมีผลลดทอนตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี