“รักษ์เต่า ทะเลไทย” โครงการปลุกหัวใจคนรักเต่าทะเล

เต่าทะเลไทยวันนี้ กับไข่หลายหมื่นฟอง อาจเป็นตัวเลขที่ใครหลายคนคิดว่ามากมาย แต่จริงๆ แล้ว ในจำนวนไข่มากมายนั้น กลับมีลูกเต่าที่มีชีวิตเหลือรอดที่จะสามารถฟักออกมาเป็นตัว และสามารถดำรงชีวิตในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ได้ไม่ถึง 0.1-0.2% ของจำนวนไข่ทั้งหมด นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก และเสี่ยงต่อการที่อนาคตอันใกล้ เยาวชนไทย… อาจไม่รู้จักสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “เต่าทะเล” เลยก็ได้

จากข้อมูลของ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันจำนวนของเต่าทะเลไทยได้มีการลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากปัจจัยทั้งโดยธรรมชาติและด้วยน้ำมือมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากเต่าทะเล เช่น เนื้อ ไข่ หนัง กระดอง ไขมัน, การบุกรุกแหล่งวางไข่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว การทำการประมง มีเต่าทะเลติดเครื่องมือประมงโดยไม่ตั้งใจ ส่วนโดยธรรมชาตินั้น เกิดจาก ถูกสัตว์ใหญ่กินเป็นอาหาร ขณะเป็นไข่หรือตัวอ่อน เช่น สุนัข นก หนู ปลา ปู หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมในทะเลที่เปลี่ยนไป ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการลดจำนวนลงของเต่าทะเลไทยในปัจจุบันทั้งสิ้น และกว่าเต่าทะเลจะเอาชีวิตรอดและเติบโตได้นั้นต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี ที่สำคัญจำนวนเต่าทะเลที่สามารถมีชีวิตรอด จากการดำรงชีวิตแบบธรรมชาติมีเพียง 1-2 ตัว จนถึงวัยเจริญพันธุ์จาก 1,000 ตัว เท่านั้น

ในอดีตประเทศไทยเคยมีเต่าทะเลชุกชุม ทั้งทางอ่าวไทยและทะเลอันดามัน บริเวณที่เคยพบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ทางฝั่งอ่าวไทยได้แก่ ชายหาดตามเกาะต่างๆ ของจังหวัดชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนทางฝั่งอันดามันพบเต่าทะเลขึ้นวางไข่บริเวณชายหาดฝั่งตะวันตก ของจังหวัดภูเก็ต พังงา และหมู่เกาะใกล้เคียง

ปัจจุบันเต่าทะเลในพื้นที่อ่าวไทยเหลือน้อยมาก ชายหาดและเกาะที่ยังพบเป็นแหล่ง วางไข่ตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอทุกปี เหลือเพียง เกาะบริเวณอ่าวสัตหีบ ซึ่งอยู่ในเขตรักษาความปลอดภัยทางทหารเรือ ที่สำคัญได้แก่ เกาะคราม เกาะอีร้า และ เกาะจาน จังหวัดชลบุรี โดย ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493

เต่าทะเลในน่านน้ำไทยที่เคยพบและรายงานไว้มีทั้งหมด 5 ชนิด จัดเป็น 2 วงศ์ (Family) คือ
1. วงศ์ CHELONIIDAE ได้แก่
? เต่ากระ Hawksbill Turtle ( Eretmochelys imbricate )
? เต่าหญ้า Olive Ridley Turtle ( Lepodochelys olivacea )
? เต่าหัวค้อน Loggerhead Sea Turtle ( Caretta caretta )
? เต่าตนุ Green Sea Turtle ( Chelonia mydas )

2. วงศ์ DERMOCHELYIDE ได้แก่
? เต่ามะเฟือง Leatherback Sea Turtle ( Dermochelys coriacea )

และจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจำนวนของเต่าทะเลไทยนี้ ทำให้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ให้ความสนใจและร่วมมือกันในการอนุรักษ์เต่าทะเลไทยไม่ให้สูญพันธ์ไปจากน่านน้ำทะเลไทย ดังที่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล โดย กองทัพเรือ ร่วมกับ สยาม โอเชี่ยน เวิล์ด ที่ประสานความร่วมมือกันในการจัด โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ปีที่ 2 ในชื่อโครงการว่า “รักษ์เต่า ทะเลไทย” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ในการช่วยปกป้องชีวิตอันล้ำค่าของเต่าทะเลเหล่านี้ไว้ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์เต่าทะเล เพื่อการดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเลต่อไป

มิสเตอร์เจฟ ออลสัน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล กรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า “โครงการ ‘รักษ์เต่า ทะเลไทย’ ปีที่ 2 นี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่เราได้เข้ามามีบทบาทร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมปล่อยเต่าคืนสู่ทะเล ร่วมกับ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล โดย กองทัพเรือ ซึ่งในปีนี้เราได้สานต่อเจตนารมณ์ในเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในท้องทะเล โดยเน้นย้ำในเรื่องการปลูกจิตสำนึก และตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติให้มากขึ้น”

“โดยโครงการ “รักษ์เต่า ทะเลไทย” ได้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ที่สร้างทั้งความสนุกสนาน และส่งเสริมการเรียนรู้กันได้ทั้งครอบครัว อาทิ กิจกรรมอนุบาล ต.เต่า ซึ่งเป็นความร่วมมือกับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือสัตหีบจ.ชลบุรี โดยการนำลูกเต่าทะเลมาอนุบาล ในรูปแบบอะควาเรียม หรือ ทะเลธรรมชาติเสมือนจริงในระบบปิด เพื่อตรวจวัดและบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของลูกเต่าทะเล ซึ่งเชื่อว่าอัตราการรอดของลูกเต่าทะเลจะสูงกว่าในธรรมชาติ และนี่นับเป็นครั้งแรกของสยามโอเชี่ยน เวิล์ด ที่ได้มีการนำลูกเต่าทะเลมาอนุบาล ในรูปแบบอะควาเรียม” มิสเตอร์เจฟ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนุบสนุน คือ กิจกรรมผู้ปกครองน้องเต่า โดยทาง สยามโอเชี่ยน เวิล์ด ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน ได้มีส่วนร่วมดูแลลูกเต่าที่สยาม โอเชี่ยน เวิล์ด จนถึงวันที่ปล่อยลูกเต่าคืนสู่ท้องทะเล โดยเงินบริจาคจากผู้ปกครองน้องเต่าทั้งหมดจะมอบให้กับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่ออนุบาลลูกเต่าทั้งหลายและสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลต่อไป ปิดท้ายด้วยกิจกรรมต้วมเตี้ยมแตะน้ำ ที่ผู้ปกครองน้องเต่าและผู้สนใจทั่วไปสามารถช่วยกันเพิ่มจำนวนเต่าทะเลกลับคืนสู่ธรรมชาติ ในกิจกรรมวันปล่อยเต่าทะเล ในเดือนกันยายน ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ผู้ที่สนใจร่วมโครงการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เคาน์เตอร์บริการสยาม โอเชี่ยน เวิร์ล ชั้น บี1 – บี2 ศูนย์การค้า สยาม พารากอน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 22.00 น. หรือ โทร. 0-2687-2000

เกร็ดความรู้กับน้องเต่าทะเล
ชีวิตของเต่าทะเลเริ่มจากพ่อและแม่ผสมพันธุ์กันจากนั้นแม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ ในช่วงเดือน ตุลาคม-มีนาคม ในเวลากลางคืน ระหว่างน้ำขึ้นสูง โดยเต่าจะกลับมาวางไข่ในหาดที่เขาเกิดทุกครั้ง ไข่มีจำนวน 75-100 ฟอง แม่เต่าแต่ละตัวจะขึ้นมาวางไข่ปีละ 2-3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 15-20 วัน

ไข่เต่ามะเฟืองจะใช้เวลาฟัก 55-65 วัน ส่วนเต่าชนิดอื่นใช้เวลา 45-55 วัน ลูกเต่าเมื่อเกิด จะรีบลงสู่น้ำให้เร็วที่สุด จากนั้นว่ายออกสู่ทะเลลึก ในช่วงอาทิตย์แรก ลูกเต่าไม่ต้องการอาหารเพราะอาศัยไข่แดงไข่ที่ติดอยู่ใต้ท้อง จากนั้นจะใช้ชีวิตในทะเลลึกระยะหนึ่ง ก่อนกลับเข้ามาหากินและสืบพันธุ์ตามชายฝั่ง เท่าที่มีการศึกษาพบว่า อัตรารอดเต่าทะเลเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 1,000 หากเต่าทะเลรอดชีวิตไปได้ พวกเขาจะเติบใหญ่จนบางครั้งมีขนาดยาวถึง 2.5 เมตร (เต่ามะเฟือง)

ปัจจุบันประเทศไทย มีการรณรงค์อนุรักษ์เต่าทะเล โดยประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมี กฏหมาย ห้ามล่า ห้ามครอบครอง ห้ามค้า หรือห้ามนำเข้า – ส่งออก