โรงพยาบาลเอกชนไทย : จับกระแสโอลิมปิก…ดึงคนไข้ต่างประเทศเข้าใช้บริการ

ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 จะมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมแข่งขันถึงกว่า 1 หมื่นคนจาก 204 ประเทศ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเพื่อชมการแข่งขันอีกประมาณ 4.5 แสนคน

รวมทั้งยังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งที่วางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวจีนเพื่อชมบรรยากาศสถานที่จัดการแข่งขันหลังจากงานโอลิมปิกสิ้นสุดลง ทำให้คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนจะเพิ่มขึ้นจาก 132 ล้านคนในปี 2550 เป็น 140 ล้านคนในปี 2551 ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว น่าจะทำให้โรงพยาบาลเอกชนของไทยฉวยจังหวะดังกล่าว จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆอาทิ บริษัทโฆษณา รวมทั้งเคเบิ้ลท้องถิ่นในจีน และสื่ออินเทอร์เน็ตที่เป็นที่นิยม เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศวางแผนเดินทางต่อมายังไทย เพื่อใช้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วไป อาทิ สปา และนวดแผนไทย รวมทั้งกลุ่มที่ต้องการเข้ามารับบริการรักษาและบำบัดโรคโดยตรงยังโรงพยาบาลเอกชนของไทย

โดยในเบื้องต้นกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจดึงเข้ามา ได้แก่ เจ้าหน้าที่และนักกีฬาต่างประเทศเพื่อเข้ามาตรวจสุขภาพและรักษาอาการบาดเจ็บภายหลังจากเสร็จสิ้นการแข่งขัน และท่องเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทยพร้อมกัน ส่วนในระยะต่อไปก็ควรดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไปท่องเที่ยวในจีนให้เดินทางมาตรวจสุขภาพหรือรักษาพยาบาลต่อในไทย โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สูงมากนัก ในขณะที่คุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาลเทียบเท่าระดับสากล ในขณะที่การเข้ารับบริการโรงพยาบาลเอกชนในจีนเองยังคงมีอุปสรรค เนื่องจากต้องให้บริการผู้ป่วยชาวจีนที่เริ่มมีฐานะดีซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมไปถึงชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยและทำงานในจีน ที่มีเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ภาพรวมโรงพยาบาลเอกชนครึ่งปีแรก 2551

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงครึ่งปีแรก 2551 แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายทางด้านภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งถูกกดดันจากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน รวมทั้งปัจจัยด้านสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐที่ก่อตัวขึ้นจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ที่ลุกลามไปทั่วโลก จนส่งผลกระทบไปถึงกำลังซื้อของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในส่วนของคนไข้ในประเทศและคนไข้ต่างชาติ ประกอบกับการที่ภาครัฐมีการขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนในการตรึงหรือปรับลดราคาค่าบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาและช่วยเหลือประชาชนในภาวะค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของยารักษาโรค ทั้งนี้ในเบื้องต้นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยบางรายมีการตรึงอัตราค่ารักษาพยาบาลไม่ปรับขึ้นเหมือนเช่นที่ผ่านมาซึ่งมีการปรับค่าบริการประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ในขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ได้ปรับลดราคายาลง และบางแห่งใช้กลยุทธ์แจกคูปองส่วนลดสำหรับสมาชิก ในขณะเดียวกันก็มีการคิดค่ารักษาแบบเหมาจ่ายเพื่อลดภาระผู้ป่วย รวมทั้งการเพิ่มบริการผู้ป่วยในมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาครัฐโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคมมีการปรับเพิ่มเงินสบทบแบบเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการในปี 2551 ประกอบกับ การที่มีคนไข้ชาวต่างชาติสนใจเข้ามารักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลเอกชนไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงครึ่งปีแรก 2551 ยังคงมีการเติบโตโดยต่อเนื่อง พิจารณาได้จาก ผลการดำเนินงานช่วงไตรมาสแรกปี 2551 ของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 13 แห่งพบว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมกันมีทั้งสิ้น 12,724.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 ส่วนกำไรสุทธิมีทั้งสิ้น 1,523.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6

สำหรับภาพรวมของคนไข้ในประเทศและคนไข้ต่างประเทศในช่วงครึ่งปีแรก 2551 สรุปได้ ดังนี้

-คนไข้ในประเทศ
โดยปกติ คนไข้ในประเทศจะเป็นกลุ่มที่สามารถจ่ายค่าบริการได้ด้วยตนเองซึ่งเป็นผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง กับกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลกับต้นสังกัดได้ ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรก 2551 คนไทยต้องเผชิญปัญหาราคาสินค้าที่ทยอยปรับขึ้นตามปัจจัยด้านราคาน้ำมัน จนส่งผลกระทบกับปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะที่ ภาวะเศรษฐกิจก็กำลังเผชิญกับปัจจัยลบมากมายทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเพื่อยับยั้งปัญหาเงินเฟ้อ รวมทั้งปัญหาความผันผวนทางการเมืองที่ยังไม่ยุติ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบโดยตรงต่อภาวะการค้า การลงทุน รวมทั้งการบริโภคภาคประชาชน จนส่งผลให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายและเก็บออมมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มคนไข้คนไทย โดยผู้ป่วยในส่วนของโรคไม่ร้ายแรงและไม่จำเป็นเร่งด่วนก็อาจจะชะลอการเข้าใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนออกไป หรืออาจปรับเปลี่ยนมาใช้โรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าทดแทน อาทิ โรงพยาบาลของภาครัฐซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาเพื่อแข่งกับโรงพยาบาลเอกชน เช่น การให้บริการคลินิกพิเศษในช่วงหลังเวลาทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ โดยคิดค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป แต่ต่ำกว่าค่ารักษาในโรงพยาบาลของเอกชน อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคม จะได้รับผลดีจากการปรับเพิ่มเงินสบทบแบบเหมาจ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการ โดยในส่วนของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปรับเพิ่มขึ้นจาก 1,899.69 บาทต่อคนในปี 2550 มาเป็น 2,100 บาทต่อคนในปี 2551 และสำนักงานประกันสังคมกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายเพิ่มจาก 1,284 บาทต่อคนในปี 2550 เป็น 1,306 บาทต่อคนในปี 2551 ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนมีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น

-คนไข้ชาวต่างชาติ
ปัจจุบันคนไข้ต่างประเทศ ให้ความสนใจเข้ามารักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลเอกชนของไทยเป็นจำนวนมาก ตามโครงการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งเอเชีย (Medical Hub of Asia) และยิ่งภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาราคาน้ำมัน รวมทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สนับสนุนให้คนไข้ต่างประเทศสนใจเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยเพิ่มขึ้น เพราะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรักษาพยาบาลในประเทศของตนเอง และมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน อันเป็นผลจากการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงการปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีการนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งสิ้น 231.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 สถานการณ์ทางด้านการเมืองจะเริ่มทวีความขัดแย้งมากขึ้น แต่ก็ยังไม่รุนแรงจนส่งผลทำให้คนไข้ชาวต่างชาติชะลอหรือเลื่อนการเดินทางเข้ามารับบริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนของไทย ประการสำคัญ นับตั้งแต่ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของคนไข้ในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้บริษัทประกันหลายแห่งศึกษาหาแนวทางในการลดต้นทุนของตนเอง โดยการส่งผู้ป่วยที่ประกันตนกับบริษัทไปรักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศที่มีค่ารักษาต่ำ จนเกิดตลาด Medical Outsourcing หรือการส่งต่อบริการทางการแพทย์กันแพร่หลาย ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทประกันจากต่างประเทศได้ค่อนข้างมาก โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 เป็นต้นมา บริษัทประกันจากสหรัฐฯได้มีการทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนไทย รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนจากประเทศอื่นๆที่เป็นคู่แข่งไทยอาทิ สิงคโปร์ อินเดีย เพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่ทำประกันไว้กับบริษัท โดยบริษัทประกันจะให้แรงจูงใจแก่ผู้ป่วยทางด้านรายจ่ายค่าเดินทางของผู้ป่วยและญาติ การงดเว้นเก็บค่าความรับผิดชอบส่วนแรก(Deductible) รวมทั้งเงินอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลในไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2551 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมโรงพยาบาลเอกชนครึ่งปีหลัง 2551

ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรก โดยในส่วนของคนไข้ในประเทศจะได้รับปัจจัยสนับสนุนทางด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซล ที่ประกาศในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาจนส่งผลให้ราคาจำหน่ายน้ำมันปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลราคาน้ำมันของปตท. ราคาน้ำมันเบนซิน 91 จากราคาสูงสุด 42.79 บาท/ลิตรปรับลดลงมาเหลือ 36.29 บาทต่อลิตรและน้ำมันดีเซลจากราคาขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 44.24 บาทต่อลิตรปรับลดลงมาเหลือ 33.04 บาท/ลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม) ซึ่งคาดว่า จะเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อรวมทั้งหนุนกำลังซื้อของภาคประชาชนพอสมควร ประการสำคัญ การที่ภาครัฐจะมีการเร่งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จะมีส่วนช่วยให้เกิดการจ้างงานที่ดีขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยพอสมควรทีเดียว

สำหรับในส่วนของคนไข้ชาวต่างประเทศนั้น คาดว่าจะยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2551 จำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่จะเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย จะมีประมาณ 1.70-1.77 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 1.54 ล้านคนในปี 2550 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 46,000-48,000 ล้านบาท ทั้งนี้แม้ว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม 2551 จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนคนไข้ชาวจีนที่จะเข้ามาตรวจรักษาพยาบาลในช่วงการแข่งขันกีฬาที่อาจชะลอตัวลง เนื่องจากชาวจีนบางส่วนชะลอการเดินทางเพื่อเฝ้าชมการแข่งขันกีฬาที่ประเทศของตนเป็นเจ้าภาพ อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาคนไข้ชาวจีนที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทยยังมีไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับคนไข้จากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง ตรงกันข้าม ในอีกด้านหนึ่ง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้กับโรงพยาบาลเอกชนของไทยในการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปในจีนในช่วงนี้ให้เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยได้พอสมควร เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้ จะมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมแข่งขันถึงกว่า 1 หมื่นคนจาก 204 ประเทศ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเพื่อชมการแข่งขัน รวมทั้งยังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่วางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวจีนเพื่อชมบรรยากาศสถานที่จัดการแข่งขันหลังจากงานโอลิมปิกสิ้นสุดลง ซึ่งในจำนวนนี้บางส่วนสามารถดึงให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยในรูปของการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะนักกีฬาชาวต่างชาติ ซึ่งในส่วนของจีนเองนั้น แม้ว่าจะมีศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ให้กับชาวต่างชาติได้เช่นเดียวกับไทย แต่เนื่องจาก จีน เป็นประเทศใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกถึงประมาณ 1.3 พันล้านคน และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีการเติบโตสูงโดยต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อและการจับจ่ายภาคประชาชนปรับเพิ่มขึ้นมาก ในขณะเดียวกันจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยและทำงานอยู่ในจีนก็มีจำนวนมาก ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนของจีนเองต้องรองรับจำนวนคนไข้ค่อนข้างมาก จึงส่งผลต่อความสะดวกสบายของการให้บริการ ในขณะที่ไทยเองนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต่างมีการขยายอาคาร สถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน จุดเด่นทางด้านการใส่ใจดูแลให้บริการผู้ป่วยด้วยความอบอุ่นที่มีอยู่สูง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ของไทยก็เป็นที่ยอมรับในเรื่องความสามารถ ส่งผลให้ไทยมีความโดดเด่นทางด้านการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยชาวต่างชาติในภูมิภาคเอเชีย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามพฤติกรรมของประชาชนที่หันมาใส่ใจสุขภาพเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนไข้ที่มีกำลังซื้อพอสมควรก็มีความต้องการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีคุณภาพ รวมไปถึงการเติบโตของคนไข้ชาวต่างชาติที่หันมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายทางด้านภาวะเศรษฐกิจทั้งของไทยและเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนของประเทศคู่แข่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่เข้ามากระทบต่อธุรกิจ ซึ่งแต่ละรายก็มีรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพร้อมของแต่ละราย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ประกอบการโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก ในภาวะที่ภาคประชาชนกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง-เล็ก บางแห่งอาจจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพทั้งจากทางภาครัฐและเอกชน อาทิ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ได้รับสิทธิจากโครงการประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันช่วยสร้างรายได้ และเฉลี่ยต้นทุนดำเนินงานให้กับโรงพยาบาลเอกชน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการแพทย์ เตียงและห้องพัก รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในปี 2551 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคมกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณร้อยละ 10.5 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหัวดังกล่าวอาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับรายจ่าย แต่หากผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนมีการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพแล้ว รายได้ในส่วนนี้จะช่วยพยุงธุรกิจให้เติบโตท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้พอสมควร ดังนั้น การเพิ่มจำนวนกลุ่มผู้ประกันตนมากขึ้น จึงนับเป็นแนวทางที่โรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง-เล็ก ควรให้ความสำคัญมากขึ้น

ผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยปกติโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่จะสามารถปรับตัวรองรับสถานการณ์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และด้านการแข่งขันเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก โดยอาศัยศักยภาพด้านงบประมาณเพื่อการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย การปรับปรุงตกแต่งอาคารสถานที่ห้องพักผู้ป่วย รวมทั้งการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง ประการสำคัญกลุ่มคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่มีเป็นจำนวนมากที่เป็นผู้มีรายได้ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง จึงสามารถรองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันของธุรกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้บางรายจำเป็นต้องมีการควบรวมกิจการหรือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อช่วยลดต้นทุนดำเนินงาน และนำเอาค่าใช้จ่ายที่ปรับลดลงมาตรึงหรือลดค่ารักษาพยาบาล เพื่อดึงคนไข้มารักษาพยาบาลในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่หลายแห่งหันมาขยายเครือข่าย ด้วยการเปิดคลินิกตามแหล่งชุมชนต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดคลินิกตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การเปิดคลินิกดังกล่าว นอกจากจะมีต้นทุนต่ำกว่าการสร้างโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันค่ารักษาพยาบาลของคลินิกที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป จะจูงใจให้คนมาใช้บริการในช่วงกำลังซื้อชะลอตัวได้เป็นอย่างดี ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น

บทสรุป

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2551 ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปี 2550 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของคนไข้ในประเทศนั้น แม้ว่าภาคประชาชนจะมีการประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ผนวกกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อรายได้และค่าครองชีพ แต่ผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา รวมถึงการที่ภาครัฐจะมีการเร่งดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลช่วยชะลอภาวะเงินเฟ้อรวมทั้งหนุนกำลังซื้อของภาคประชาชนพอสมควร สำหรับในส่วนของคนไข้ชาวต่างประเทศนั้น คาดว่า จะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนึ่งที่หนุนส่งได้แก่ นักกีฬาและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาจีนในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งบางส่วน ไทยน่าจะสามารถดึงเข้ามาท่องเที่ยวและใช้บริการด้านสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนไข้ต่างประเทศนั้น มีปัจจัยเสี่ยงที่พึงระวัง นั่นคือความไม่สงบด้านการเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งหากไม่มีความรุนแรงขึ้นก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในส่วนของคนไข้ต่างชาติในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อออกไปและมีความรุนแรงขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทยมีจำนวนลดลงได้ เนื่องจากคนไข้ชาวต่างชาติจะขาดความเชื่อมั่นและอาจชะลอหรือเลื่อนการเดินทางมาไทยหรือไม่ก็อาจตัดสินใจเดินทางไปรักษาพยาบาลยังประเทศคู่แข่งแทน