คาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/2551 ขยายตัว 5.8%

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสที่ 2/2551 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.0 ในไตรมาสที่ 1/2551 ขณะเดียวกัน ถ้าหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Q-o-Q) คาดว่ามีทิศทางชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 1/2551

 การชะลอตัวดังกล่าว ที่สำคัญเป็นผลมาจากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมามีฐานะขาดดุลในไตรมาสที่ 2/2551 จากที่มีมูลค่าเกินดุลค่อนข้างสูงในไตรมาสที่ 1/2551 นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากภาวะการลงทุนที่อ่อนตัวลง โดยคาดว่าการลงทุนโดยรวมของประเทศ (ในสินทรัพย์ถาวร) ในไตรมาสที่ 2/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่ 1/2551 ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชน อาจชะลอตัวเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 2.4 จากอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่ 1/2551 เนื่องจากผลกระทบของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลอาจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ตามการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2551 หลังจากในไตรมาสที่ 1/2551 หดตัวลงร้อยละ 0.1

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/2551 นี้ แม้ว่าชะลอตัวลง แต่นับว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ และสูงกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนให้ขยายตัว มาจากราคาสินค้าเกษตรหลายรายการเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ตามความต้องการที่สูงของตลาดโลกขณะที่อุปทานค่อนข้างตึงตัว ปัจจัยดังกล่าวจูงใจให้เกษตรกรขยายผลผลิต และการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 64.2 ในไตรมาสที่ 2/2551 เร่งตัวขึ้นจากที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 45.9 ในไตรมาสที่ 1/2551 และขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15.7 ในปี 2550 ส่งผลดีต่อเกษตรกรและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้มีรายได้ที่ดีขึ้น

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 … แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง แต่เศรษฐกิจโดยรวมอาจยังชะลอตัว
 เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2551 คาดว่าจะมีปัจจัยบวกจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่บรรเทาลง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการบริโภคของภาคเอกชน แต่การลงทุนและการส่งออกอาจชะลอตัว
โดยในด้านเงินเฟ้อ สถานการณ์ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2551 ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าที่นิวยอร์ค ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 147 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นไปสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน” เพื่อช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพแก่ประชาชน ซึ่งมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับลดลงได้มาก ขณะเดียวกัน หลังจากกลางเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว หลังจากตลาดมีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงกว่าที่คาด โดยราคาน้ำมันดิบในขณะนี้ลดลงมากกว่าร้อยละ 20 จากช่วงที่ราคาสูงสุด ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงตาม โดยราคาดีเซลปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 33.04 บาท/ลิตร ลดลงประมาณ 11 บาท หรือร้อยละ 25 จากช่วงสูงสุด ผลรวมจากทั้งสองปัจจัยจึงทำให้คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม ไปจนตลอดครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมจะต่ำลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4แต่ผลของเงินเฟ้อของเดือนกรกฎาคมที่ขึ้นไปเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ร้อยละ 9.2 จะทำให้ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3/2551 อยู่ที่ร้อยละ 7.8 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 2/2551

 ทิศทางเงินเฟ้อที่คลายตัวลงน่าจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าในระดับปัจจุบันยังนับว่าเป็นระดับสูง ผู้บริโภคจึงอาจยังคงใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงของปีก่อนหน้า ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การบริโภคของภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3/2551 อาจมีอัตราการขยายตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 2 ได้เล็กน้อย ขณะเดียวกัน ในด้านการลงทุนและการส่งออกมีแนวโน้มที่อัตราการขยายตัวจะชะลอลง โดยการลงทุนอาจได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงของปีก่อนหน้า ส่วนการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคหลัก อันได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ซึ่งอาจประสบปัญหามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากในไตรมาสที่ 2/2551 เศรษฐกิจยูโรและญี่ปุ่นเริ่มหดตัวลง ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่ายูโรและญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงจะขยายตัวต่ำลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก หลังจากผลของมาตรการคืนภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มหมดไป อีกทั้งวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินสหรัฐฯ ยังไม่สามารถผ่านพ้นจุดที่เลวร้ายที่สุด

ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2551 … ปรับขึ้นเป็นร้อยละ 5.3
 สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2551 นั้น สืบเนื่องจากตัวเลขเลขเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ออกมาดีกว่าที่คาด โดยมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีสูงเกือบร้อยละ 6 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงเกินความคาดหมาย ส่งผลดีต่อรายได้ในภาคเกษตร และเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนยังมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์ดี แม้ว่าเงินเฟ้อจะทะยานขึ้นไปเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าคาดในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ขึ้นเป็นร้อยละ 5.3 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นกว่าในปีก่อนหน้า ที่เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.8

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังแม้ว่ามีแนวโน้มชะลอตัว แต่ก็น่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในประมาณการครั้งก่อน จากการที่ปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายภายในประเทศได้ผ่อนคลายลง โดยมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ซึ่งถ้าราคาน้ำมันทรงตัวในระดับปัจจุบันไปจนถึงปลายปี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 2551 อาจมีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6.6 ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 7.8 (กรณีที่ไม่มี 6 มาตรการ 6 เดือน และราคาน้ำมันยังคงมีระดับสูง)

ทั้งนี้ คาดว่า การบริโภคของภาคเอกชนในปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2550 (เป็นระดับการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี) ส่วนการลงทุนคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3 สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2550 (เป็นระดับการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี) ขณะที่การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.9 ของจีดีพี ในด้านดุลบัญชีระหว่างประเทศ คาดว่ามูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ จะขยายตัวประมาณร้อยละ 17.0 ใกล้เคียงกับร้อยละ 17.3 ในปี 2550 ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัวประมาณร้อยละ 26.0 เร่งตัวขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 9.1 ในปี 2550 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.8 พันล้านดอลลาร์ฯ ลดลงมากจากระดับที่เกินดุล 15.8 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2550

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 5.8 ชะลอลงจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสที่ 1/2551 แต่ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจ และเป็นระดับที่สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยมีแรงหนุนสำคัญจากรายได้ของภาคการเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศยังมีแรงขับเคลื่อนให้สามารถต้านทานกับมรสุมเศรษฐกิจที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2551 ชะลอตัวลงมาจากฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล และการชะลอตัวในด้านการลงทุน

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 3/2551 แม้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว (Year-on-Year) ในอัตราที่ชะลอลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็เป็นทิศทางที่ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.8 นั้น ยังคงสูงกว่าร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 2 และการที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง คงเป็นปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด ขณะที่การลงทุนโดยรวมอาจยังคงชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง นอกจากนี้ การชะลอของอัตราการเติบโตของการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าด้วย ในด้านการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักๆ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุด ขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นกำลังอยู่บนความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยอาจลดลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกทั้งในด้านปริมาณและราคา หลังจากผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3/2551 และไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่คาดในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งได้รับแรงหนุนจากรายได้ภาคเกษตรและการส่งออกที่ขยายตัวสูงเกินความคาดหมาย ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรก ปี 2551 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.8 สูงใกล้เคียงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 6 แม้ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างรุนแรง ปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ขึ้นเป็นร้อยละ 5.3 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 4.9 และเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าในปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 นอกจากนี้ ในส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แม้คาดว่าจะชะลอตัว แต่ก็อาจมีทิศทางที่ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีระดับเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 6.6 การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 สูงขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2550 และการลงทุนโดยรวมขยายตัวร้อยละ 3.3 สูงขึ้นจากร้อยละ 1.4 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีฐานะเกินดุลลดลงมาเป็น 5.8 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 15.8 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2550

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ ในด้านปัจจัยในต่างประเทศความกังวลต่อปัญหาราคาน้ำมันเริ่มคลายตัวลง แต่ถึงกระนั้น ทิศทางราคาน้ำมันก็ยังมีโอกาสผันผวน ขณะที่ความเสี่ยงจากการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลกมีเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาทิศทางราคาและภาวะอุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การส่งออกโดยรวมชะลอตัวลงกว่าที่คาด

สำหรับประเด็นในด้านนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าการใช้นโยบายการเงินคงมีข้อจำกัด เนื่องจากเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับที่สูงอาจเป็นปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความกังวล และยังคงยืนระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน) ในปัจจุบันที่ร้อยละ 3.50 ไว้ต่อไป บทบาทในการดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะยังคงมาจากการใช้นโยบายการคลัง ซึ่งรัฐบาลมีแผนการที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาอีกภายในปีนี้ รวมทั้งมีความตั้งใจที่จะเร่งดำเนินโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ หรือ เมกะโปรเจคท์ ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายฝ่ายคาดหวังให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะจะส่งผลดีทั้งต่อการกระตุ้นการลงทุนในระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวของธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการเมกะโปรเจคท์นั้น ควรต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการอย่างเหมาะสม เพื่อให้การลงทุนก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว