GDP ไตรมาสที่ 2/2551 ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่ำกว่าคาด … แนวโน้มครึ่งหลังยังคงชะลอตัว

? สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2551 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสที่ 1/2551 และหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Q-o-Q) ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่ 1/2551 โดยอัตราการขยายตัว (Y-o-Y) ดังกล่าวต่ำกว่าคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 5.8 และค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ที่ร้อยละ 5.7 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง เป็นผลมาจากองค์ประกอบในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ ที่ชะลอตัวลงทุกรายการ โดยเฉพาะการลงทุนในทรัพย์สินถาวร ชะลอตัวลงรุนแรงกว่าที่คาด โดยมีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่ 1/2551 ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลยังคงหดตัวร้อยละ 2.4 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่ 1/2551 ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนชะลอตัวลงเล็กน้อย มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศรายการต่างๆ ดังกล่าว เป็นผลจากการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่ 1/2551 เป็นร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ 2/2551

? เมื่อพิจารณาจากสาขาการผลิตต่างๆ พบว่า นอกเหนือจากแรงผลักดันจากภาคเกษตร ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.5 (จากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสที่ 1/2551) แล้ว การผลิตในภาคอื่นๆ ส่วนใหญ่ล้วนชะลอตัวลง ทั้งภาคอุตสาหกรรม การค้าส่งค้าปลีก และการบริการด้านอื่นๆ ขณะที่ภาคประมงและก่อสร้างหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 3.0 และ 3.9 ตามลำดับ) ทั้งนี้ การผลิตในภาคเกษตรที่ขยายตัวสูงจากแรงหนุนในด้านราคาและความต้องการสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

? อย่างไรก็ตาม สศช. ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นร้อยละ 5.2-5.7 จากประมาณการเมื่อครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 4.5-5.5 เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังน่าจะได้รับผลบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งปริมาณการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้เดิม

? ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2551 ขยายตัวต่ำกว่าคาด อัตราการขยายตัว ในช่วงครึ่งหลังของปีก็ยังคงน่าที่จะชะลอตัวลง ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2/2551 โดยเป็นผลทั้งจากผลของการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก ตามภาวะเศรษฐกิจหลักของโลก รวมทั้งการอ่อนตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 อาจจะไม่เกินร้อยละ 5.0 แต่จากการที่จีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.7 ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของทั้งปี 2551 น่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 5.0-5.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 5.3 สูงขึ้นจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในปี 2550 ทั้งนี้ ประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้ข้อสมมติที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (เบรนท์) มีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 114.0 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.6 ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนในปี 2551 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.4-2.9 การลงทุนขยายตัวประมาณร้อยละ 2.3-3.8 ส่วนการส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ ขยายตัวประมาณร้อยละ 17.0-20.0 ส่วนการนำเข้าขยายตัวประมาณร้อยละ 26.0-30.0 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากปีก่อนหน้า ลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.0-7.0 พันล้านดอลลาร์ฯ

? ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งนับเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับภาคส่งออกของไทย ในการหาแนวทางรับมือกับภาวะความต้องการของประเทศคู้ค้าที่อาจอ่อนแรงลง นอกจากปัญหาในด้านตลาดแล้วการส่งออกอาจยังขึ้นอยู่กับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้ผู้ส่งออกค่อนข้างได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ แต่ค่าเงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่อาจประสบภาวะขาดทุนและขาดสภาพคล่องรุนแรงกว่าที่คาด ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ มีโอกาสที่จะผันผวนในระยะข้างหน้า สำหรับเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกเหนือจากความเสี่ยงในด้านปัจจัยทางการเมือง ที่ยังอาจกระทบความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไทยและนักลงทุนต่างชาติแล้ว ปัจจัยที่น่าจะถือได้ว่าดีขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ แนวโน้มการอ่อนตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ ตามภาวะราคาน้ำมัน และความเป็นไปได้ของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ที่น่าจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่คาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้