แนวโน้มการส่งออกข้าวครึ่งหลังปี’51 ต่อเนื่องถึงปี’52 : แข่งขันรุนแรง…ตลาดเป็นของประเทศผู้ซื้อ

การส่งออกข้าวในช่วงปี 2550 ถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าการส่งออก เนื่องจากประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดโลก โดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียชะลอการส่งออกข้าว จากที่ต้องการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนข้าว และเกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างแย่งซื้อข้าวจากไทย ผลักดันให้ปริมาณและราคาส่งออกข้าวของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังปี 2551 สถานการณ์เริ่มพลิกกลับ โดยเวียดนามเริ่มกลับเข้าตลาดส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสที่ 3 และคาดว่าอินเดียจะกลับเข้าตลาดในช่วงปลายไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 รวมทั้ง การคาดการณ์ถึงปริมาณการผลิตข้าวในฤดูการผลิต 2551/52 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คาดหมายได้ว่าการแข่งขันในตลาดข้าวโลกจะมีความรุนแรงมากขึ้น และราคาข้าวในตลาดโลกจะมีแนวโน้มลดลง ในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ต่อเนื่องไปสู่ปี 2552 แม้ว่าไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งในตลาดโลกจะประกาศดำเนินมาตรการรับจำนำข้าว โดยคาดว่าจะช่วยพยุงให้ราคาข้าวทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลกไม่ลดลงอย่างรุนแรงก็ตาม

แนวโน้มส่งออกข้าวครึ่งหลังปี 2551ชะลอตัว…เวียดนามกลับเข้าตลาด ผู้ซื้อชะลอการซื้อ
ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 6.97 ล้านตัน มูลค่า 4,102.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.2 และร้อยละ145.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 2551 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวของไทยกลับเข้าสู่ตลาด ผู้ซื้อบางประเทศเริ่มหันไปซื้อจากเวียดนามแทน เพราะราคาต่ำกว่าไทยมากถึงตันละเกือบ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ และความวุ่นวายทางการเมืองของไทย ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าวไม่มั่นใจว่าผู้ส่งออกข้าวจะส่งมอบข้าวได้ตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ส่งออกข้าวคาดว่าแนวโน้มการส่งออกข้าวเดือนกันยายนยังเป็นขาลง และมีโอกาสอย่างมากที่ในเดือนกันยายนยอดการส่งออกอยู่ในระดับเพียง 600,000 ตันเท่านั้น ซึ่งน่าจะต่ำที่สุดในรอบปี จากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาส่งออกได้เพียง 700,000 ตัน ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 ส่งออกได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการส่งออกข้าวทั้งปี 2551 ยังคงถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับปี 2550 โดยคาดว่าจะสูงเกือบ 10 ล้านตัน และราคาส่งออกเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในเกณฑ์สูง นับว่าเป็นปีทองของธุรกิจข้าวของไทย แม้จะคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มเผชิญปัญหาในการส่งออก โดยเมื่อแยกพิจารณาเป็นประเภทข้าวแล้วจะพบว่าข้าวที่อยู่ในเกณฑ์ดีตลอดทั้งปีมีเพียงข้าวนึ่งเท่านั้น ซึ่งพอจะสรุปสถานการณ์ได้ ดังนี้

-ข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งนับว่าเป็นข้าวประเภทเดียวที่การส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องไปเกือบตลอดทั้งปี เนื่องจากอินเดียยังไม่ส่งออก คำสั่งซื้อข้าวนึ่งจึงยังมาที่ไทย และส่งออกได้ราคาเฉลี่ยตันละ 750-780 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกข้าวนึ่งสูงถึง 1,005.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 246.6 อย่างไรก็ตาม คาดว่าในเดือนตุลาคมนี้ เมื่ออินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าวนึ่ง ก็จะเป็นปัญหาสำหรับการส่งออกข้าวนึ่งไทย แต่จากการคาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกข้าวของอินเดียในปีนี้มีแนวโน้มลดลง ดังนั้นการแข่งขันในการส่งออกข้าวนึ่งจากอินเดียไม่น่าจะรุนแรงมากนัก

-ข้าวหอมมะลิ ในช่วง 7 เดือนแรกการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีมูลค่าการส่งออก 904.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.4 อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังลูกค้ารายใหญ่คือ จีนจะลดปริมาณการสั่งซื้อ เพราะจีนได้ซื้อเก็บเข้าสต็อกไว้ค่อนข้างมากในช่วงต้นปี ปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิที่จำหน่ายในจีนต่ำกว่าไทย กล่าวคือ ราคาข้าวหอมมะลิไทยส่งออกอยู่ที่ตันละประมาณ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในจีนขายอยู่ประมาณตันละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น จีนจึงให้ชะลอส่งมอบออร์เดอร์ที่ซื้อจากไทยตันละ 900-1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯออกไปก่อน ในส่วนของไทยเองทั้งโรงสีและผู้ส่งออกมีสต็อกข้าวหอมมะลิจำนวนมากเช่นเดียวกัน เพราะต่างคาดการณ์ว่าราคาข้าวหอมมะลิปีนี้จะต้องอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะผลผลิตน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกข้าวเหนียว อันเป็นผลจากที่ปีก่อนข้าวเหนียวราคาดี แต่ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิที่เคยสูงถึงตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันก็ลดลงมาอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ

-ข้าวขาว ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 ประเทศคู่แข่งขันสำคัญของไทยต่างชะลอการส่งออกข้าวขาว ประเทศผู้นำเข้าจึงหันมานำเข้าจากไทย ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าการส่งออกข้าวขาวของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1,754.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 242.7 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังปี 2551 การส่งออกข้าวขาวเผชิญปัญหาการแข่งขันกับข้าวเวียดนามที่ราคาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามมีนโยบายที่จะไม่ส่งออกข้าวในราคาต่ำและไม่เร่งรีบในการส่งออก โดยมีการปรับราคาขั้นต่ำข้าวขาว5% ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีจากตันละ 720 ดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นเป็นตันละ 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำของข้าวขาว10% และ15% ตันละ 630 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 580 ดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ แต่โดยเฉลี่ยข้าวขาวส่งออกของเวียดนามเฉลี่ยตันละ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ประเทศผู้ซื้อข้าวหันไปซื้อข้าวขาวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น รวมทั้งคาดว่าประเทศผู้ซื้อชะลอการซื้อ เนื่องจากรอดูปริมาณการผลิตข้าวปี 2551/52 ที่จะทยอยออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ รวมทั้งมาตรการรับจำนำข้าวของไทยและนโยบายการระบายสต็อกข้าวเก่าของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อรอดูว่าแนวโน้มทิศทางของราคาข้าวก่อนที่จะตัดสินใจสั่งซื้อข้าว

ส่งออกข้าวปี’52…การแข่งขันรุนแรง อำนาจต่อรองกลับไปเป็นของประเทศผู้ซื้อ
สถานการณ์ข้าวในตลาดโลกในปี 2552 พลิกผันจากในปี 2551 ในประเด็นสำคัญต่อไปนี้
ปริมาณผลผลิต
กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวของโลกในปี 2551/52 เพิ่มขึ้นเป็น 431.98 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 0.6 โดยคาดว่าประเทศผู้ผลิตข้าวต่างเร่งขยายปริมาณการผลิต เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งการขยายการผลิตเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าข้าว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามคือ ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม และการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวลดลงกว่าการคาดการณ์

ปริมาณการบริโภค คาดการณ์ว่าในปี 2552 ปริมาณการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 428.88 ล้านตันข้าวสาร เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เนื่องจากการคาดการณ์ว่าราคาข้าวสาลีในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง จากการขยายปริมาณการผลิต ดังนั้น ความต้องการบริโภคข้าวทดแทนข้าวสาลีมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในตลาดอินเดีย

ปริมาณการค้า
คาดการณ์ว่าในปี 2552 ตลาดการค้าข้าวลดลงจากในปี 2551 โดยมีมูลค่าเพียง 28.25 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 2.8 เนื่องจากการคาดการณ์ทั้งประเทศผู้ส่งออกข้าวและประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างเร่งขยายปริมาณการผลิตเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร นอกจากนี้ ประเทศผู้ส่งออกข้าวต่างก็ไม่เร่งที่จะระบายข้าวออกสู่ตลาด เนื่องจากต้องการดึงราคาข้าวให้อยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแข่งขันในการส่งออกข้าวในปี 2552 จะรุนแรง การเจาะขยายตลาดข้าวนั้นต้องอาศัยทั้งกลยุทธ์ทางด้านราคาและคุณภาพข้าว ซึ่งหมายถึงว่าตลาดข้าวกลับไปเป็นตลาดของผู้ซื้อ หลังจากที่ในปี 2551 นั้นตลาดข้าวเป็นของผู้ผลิตข้าว

ประเด็นที่น่าสนใจคือ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯคาดการณ์การค้าข้าวในปี 2552 ว่า เวียดนามเป็นประเทศเดียวที่ปริมาณการส่งออกข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญรายอื่นๆ รวมทั้งไทยนั้นปริมาณการส่งออกข้าวในปี 2552 มีแนวโน้มลดลง กล่าวคือ คาดการณ์ว่าในปี 2552 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 5.2 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในขณะที่ไทยจะส่งออกได้เพียง 9.5 ล้านตันข้าวสารหรือลดลงร้อยละ 5.0 ส่วนปริมาณการส่งออกข้าวของทั้งสหรัฐฯและอินเดียก็ลดลงเหลือ 3.3 ล้านตันข้าวสาร และ 2.3 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 5.7 และร้อยละ 17.9 ตามลำดับ

สต็อกปลายปี คาดว่าปริมาณสต็อกข้าวปลายปี 2552 จะเพิ่มต่อเนื่องจากปี 2551 หลังจากที่ในปี 2550 ปริมาณสต็อกข้าวปลายปีนั้นลดลง โดยคาดการณ์ว่าปริมาณสต็อกข้าวปลายปีในปี 2551/52 เท่ากับ 80.36 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ซึ่งปริมาณสต็อกข้าวปลายปีที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวหลายประเทศเริ่มมีนโยบายไม่เร่งระบายข้าว โดยต้องการดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น โดยไทยกำหนดมาตรการรับจำนำข้าว ส่วนเวียดนามและอินเดียกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ สำหรับประเทศผู้นำเข้าข้าวก็เริ่มที่จะเพิ่มปริมาณสต็อก ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ และรักษาเสถียรภาพราคาอาหารในประเทศไม่ให้เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น จากราคาสินค้าหมวดอาหารเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณสต็อกข้าวที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว คงจะเป็นปัจจัยที่มีผลกดดันต่อราคาข้าวในตลาดโลก รวมถึงราคส่งออกของข้าวไทย เนื่องจากผู้ซื้อจะทราบว่าหลายประเทศมีสต็อกข้าวที่เพิ่มขึ้น

จากการพิจารณาแนวโน้มสถานการณ์ข้าวในตลาดโลก ทำให้คาดการณ์ได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวของไทยต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากสถานการณ์ข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 2551 ถึงปี 2552 พลิกกลับไปเป็นตลาดของผู้ซื้อ การแข่งขันในการค้าข้าวในตลาดโลกรุนแรงขึ้น และเปลี่ยนไปจากการที่ใช้กลยุทธ์ราคาต่ำเพียงอย่างเดียว ในการชิงสัดส่วนตลาดไปเป็นการใช้ทั้งราคาและคุณภาพข้าว รวมทั้งการชิงจังหวะที่เหมาะสม และกลยุทธ์การเจรจากับประเทศผู้รับซื้อข้าว ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าวของไทยคงต้องเร่งปรับตัวเตรียมรับมือเพื่อรักษาสถานะการส่งออกข้าวอันดับหนึ่งเอาไว้

บทสรุป
สถานการณ์ข้าวตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2551 เริ่มพลิกกลับไปเป็นตลาดของผู้ซื้อ หลังจากในปี 2550 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ตลาดข้าวเป็นของประเทศผู้ส่งออกข้าว โดยเฉพาะไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ยังคงส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก ทั้งเวียดนาม อินเดีย และสหรัฐฯต่างชะลอหรือจำกัดการส่งออก นับเป็นอานิสงส์ต่อการส่งออกข้าวของไทยในปี 2550 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกปี 2551 โดยทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวไทยในช่วงดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2551 การส่งออกข้าวของไทยจะเริ่มชะลอลง ทั้งในด้านปริมาณ และราคาส่งออกที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเวียดนามเริ่มกลับเข้ามาส่งออกแข่งขันกับไทยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายอินเดียก็จะกลับมาส่งออกข้าวเช่นกัน ดังนั้น ประเทศผู้ซื้อข้าวจึงเริ่มมีทางเลือกในการนำเข้าข้าว และเริ่มมีอำนาจในการต่อรองราคา อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าโดยรวมทั้งปี 2551 ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวยังอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับปี 2550

สำหรับในปี 2552 เมื่อพิจารณาถึงการคาดการณ์สถานการณ์ข้าวของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯแล้ว จะเห็นได้ว่าการค้าข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป โดยที่บรรดาประเทศผู้ส่งออกข้าวเริ่มมีนโยบายที่จะไม่เร่งระบายข้าว ทั้งนี้ เพื่อจะดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ในขณะที่ประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่เริ่มหันมาขยายการปลูกข้าวในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้า และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ตลอดจนรักษาเสถียรภาพราคาอาหารในประเทศ ผลกระทบก็คือ ความต้องการข้าวในตลาดโลกลดลง ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้าข้าวของไทยต้องเร่งปรับตัวเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย