ในวันที่ 19 กันยายน กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนสิงหาคม 2551 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2551 มีอัตราการขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาด โดยอยู่ที่ร้อยละ 14.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากที่ขยายตัวร้อยละ 43.9 ในเดือนกรกฎาคม) และมีมูลค่า 15,887.6 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากเดือนกรกฎาคมและเดือนมิถุนายน ซึ่งตามปัจจัยฤดูกาลปกติของทุกปี ส่วนใหญ่แล้วเดือนสิงหาคมจะเป็นช่วงที่การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 26.9 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 55.1 ในเดือนกรกฎาคม) โดยมีมูลค่า 16,669.1 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งแม้ว่าชะลอตัวลงเช่นกัน แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าการส่งออกค่อนข้างมาก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนนี้ขาดดุล 781.5 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 1,026.91 ล้านดอลลาร์ฯ และเป็นการขาดดุลรายเดือนครั้งที่ 5 ของปีนี้
ทั้งนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างมากเป็นผลมาจากการชะลอตัวของสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 20.8 ในเดือนก่อน) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 59.3 ในเดือนก่อน) เม็ดพลาสติก (ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากที่ขยายตัวร้อยละ 26.3 ในเดือนก่อน) และการหดตัวของการส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (หดตัวร้อยละ 3.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 ในเดือนก่อน) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (หดตัวร้อยละ 39.8 จากที่ขยายตัวร้อยละ 26.3 ในเดือนก่อน) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (หดตัวร้อยละ 10.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 ในเดือนก่อน) สำหรับสินค้าสำคัญที่ยังเติบโตในเกณฑ์ดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว ยางพารา เป็นต้น
สัญญาณการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างมากในเดือนสิงหาคม ทำให้แนวโน้มการส่งออกในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้มีความน่ากังวลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหลังจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีปัจจัยลบหลายด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยในด้านปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมีผลทำให้การส่งออกสินค้าบางส่วนมีความล่าช้า รวมทั้งคู่ค้าชาวต่างชาติที่มีแผนการเข้ามาติดต่อทางการค้าในประเทศไทยอาจเลื่อนแผนเจรจาธุรกิจออกไป แต่ผลกระทบของปัจจัยทางการเมืองอาจมีไม่มากเท่ากับปัจจัยในต่างประเทศ ทั้งปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯ และสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆทั่วโลก ปัจจัยดังกล่าวอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่การส่งออกมักจะมีระดับที่สูงขึ้นตามคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อที่จะวางขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แม้ว่าผู้ส่งออกส่วนหนึ่งจะส่งออกตามคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ได้รับมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่สภาวะตลาดภายในประเทศผู้นำเข้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรงอาจมีผลกระทบบางส่วนต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ ตัวเลขส่งออกในไตรมาสที่ 4 ยังต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ซึ่งการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24 ขณะเดียวกัน แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลงก็น่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกของสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม น้ำมัน และโลหะพื้นฐาน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้าเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ยังมีทิศทางชะลอตัวรุนแรงดังที่ปรากฏสัญญาณในปัจจุบัน อาจส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสที่ 4 มีอัตราการขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 10-15 ขณะที่ถ้าเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาลงอย่างหนัก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลง อาจเห็นตัวเลขส่งออกที่เป็นตัวเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี อย่างไรก็ตาม จากการขยายตัวสูงของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ น่าจะช่วยให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวของการส่งออกตลอดทั้งปี 2551 นี้ ยังมีระดับใกล้เคียงร้อยละ 20 ยังคงสูงกว่าในปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 17.3
แม้ในปี 2551 นี้ การส่งออกของไทยน่าจะยังรักษาระดับอัตราการเติบโตที่สูงได้ แต่ความท้าทายของการส่งออกของไทยจะอยู่ที่ปี 2552 ซึ่งการส่งออกมีโอกาสเผชิญกับการชะลอตัวจากทั้งด้านปริมาณและราคา เนื่องจากหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคหลักต่างๆ จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปีหน้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก็คงจะไม่ปรับเพิ่มมากเหมือนกับปี 2551 ที่ผ่านมา โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการอาจหดตัวลงได้ ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรหาแนวทางรับมือกับแนวโน้มการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงอย่างมากในปีข้างหน้า
—————————————
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น